ถึงวันนี้ มวลมหาประชาชนหลายล้านคนทั่วประเทศ แม้จะมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าปฏิเสธการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เพราะไม่ต้องการเล่นในเกมของคนที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธกติกาของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เป็นคุณกับตัวเองอย่าง นช.ทักษิณ ชินวัตร แต่คงมีคำถาม ข้อสงสัยว่า ถ้าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์มีขึ้นจริง พวกเขาควรจะมีท่าทีอย่างไร ระหว่าง“โนโหวต” กับ “โหวตโน”
โน โหวต คือ ไม่ไปเลือกตั้ง
โหวตโน คือ ไปเลือกตั้ง แต่ไม่เลือกใคร โดยกาช่อง“ไม่ประสงค์ จะลงคะแนน”
ถ้าไม่ไปเลือกตั้งจะเสียสิทธิในสามเรื่องคือ เสียสิทธิการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว., เสียสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.และเสียสิทธิการสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
สิทธิทั้ง 3 ประการ จะได้กลับคืนมาเมื่อไปใช้สิทธิการเลือกตั้งอย่างใดอย่างหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ประชาชนส่วนใหญ่ คงไม่ได้ปรารถนาที่จะเล่นการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเวทีระดับชาติ หรือเวทีท้องถิ่น ดังนั้น การเสียสิทธิดังกล่าวนี้ เพราะไม่ไปเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จึงไม่มีความหมายอะไรเลย
การไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือ โน โหวต ไม่มีผลอย่างใดต่อผลการเลือกตั้ง ถึงแม้จะมีคนโนโหวตมากกว่าคนที่ไปลงคะแนน ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนที่ได้คะแนนสูงสุดก็ยังได้เป็น ส.ส.อยู่ดี ไม่ว่าเขตนั้นจะมีผู้สมัครหลายคนหรือคนเดียว
แต่ โนโหวตคือการปฏิเสธกติกาที่ระบอบทักษิณยัดเยียดให้ คือ การเลือกตั้ง ถ้ามีการโนโหวตมากๆ คือมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แม้จะไม่มีผลต่อการเลือกตั้งโดยตรง คือ ไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ต้องเลือกใหม่ แต่จะมีผลอย่างมากต่อความชอบธรรมของการเลือกตั้ง เพราะแสดงว่าคนส่วนใหญ่ปฏิเสธการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการยืนยัน ตอกย้ำจุดยืนของมวลมหาประชาชนว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
การโน โหวต หากว่ามีการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์จึงไม่ใช่เป็นการนอนหลับทับสิทธิเสียแล้ว แต่เป็นการใช้สิทธิของประชาชน ที่จะไม่ยอมรับการเลือกตั้งในครั้งนี้
ส่วนโหวตโน คือไปเลือกตั้ง แต่ไม่เลือกใคร โดยกาช่อง ไม่ประสงค์ จะลงคะแนน จะมีผลต่อการเลือกตั้งเฉพาะในเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว ซึ่ง ต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า 20 % ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นๆ และต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า“ โหวตโน” ถ้าน้อยกว่า ต้องเลือกตั้งใหม่ และถ้าผู้สมัครรายเดียวคนนั้นยังได้คะแนนน้อยกว่า โหวตโนอีก ต้องมีการเลือกตั้งรอบที่สาม เป็นรอบสุดท้า รอบนี้ถึงแม้จะแพ้โหวตโนอีกแล้ว ผู้สมัครรายนั้นก็จะได้เป็น ส.ส.อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
การเลือกตั้งครั้งนี้ มีเขตเลือกตั้ง 22 เขต ใน 12 จังหวัดที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว หากได้คะแนนน้อยกว่า โหวตโน หรือน้อยกว่า 20 % ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็จะต้องเลือกใหม่อีก 1-2 รอบเท่านั้นเอง
ในเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครมากกว่า 1 คน หากมีคะแนนโหวตโนมากกว่า คะแนนสูงสุดที่ผู้สมัครได้รับ ก็มีผลต่อความชอบธรรมของผู้ชนะได้เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ สมมติว่า คะแนนโหวตโนมีมากกว่าคะแนนที่พรรคเพื่อไทยได้รับ รัฐบาลใหม่คงจะไม่สามารถอ้างได้ว่ามาจากเสียงข้างมากได้อักแล้ว
แต่อย่าไปหวังอะไรกับพรรคเพื่อไทยว่าจะยอมรับเรื่องอะไรแบบนี้ เพราะได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่า อะไรก็ได้ที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง พรรคนี้ทำได้หมด แม้จะไม่ชอบธรรม กระทั่งเรื่องผิดกฎหมายก็ทำมาแล้ว ดังนั้น แม้จะมีโหวตโนมากกว่า แต่พรรคเพื่อไทยก็จะอ้างผลการนับคะแนนการเลือกตั้ง และอ้างความชอบธรรมของการเลือกตั้ง ว่า มีผู้ออกมาลงคะแนนเป็นจำนวนมาก โดยไม่สนใจว่าจะมีคนที่โหวตโน มากกว่าคนที่ลงคะแนนเลือกตนหรือไม่
หากมวลมหาประชาชนซึ่งมีจุดยืนแน่วแน่ชัดเจนว่าปฏิเสธการเลือกตั้งที่อาจจจะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ มีทั้งที่โนโหวต คือ ไม่ไปเลือกตั้ง และโหวตโน คือไปเลือกตั้ง แต่ไม่ลงคะแนนเลือกใคร สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเสียงแตก คือ จำนวนผู้ที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ ก็อาจจะไม่มากถึงขั้นที่ จะมีความชัดเจนว่าประชาชนปฏิเสธการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับคะแนนโหวตโน ก็อาจจะไม่สูงกว่าคะแนนที่ผู้ชนะการเลือกตั้งได้รับก็ได้ ระบอบทักษิณก็จะตีกิน อ้างความชอบธรรมได้ว่าประชาชนยอมรับการเลือกตั้ง
ดังนั้น ถึงแม้ว่ากำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.จะแสดงความมั่นใจว่าจะไม่มีการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ แต่ก็ต้องเตรียมความคิด กำหนดแนวทางที่ชัดเจนให้กับมวลชนทั่วประเทศที่ไม่เอาระบอบทักษิณว่า หากมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ มวลมหาประชาชน จะโนโหวต หรือ โหวตโน ดี