xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“สภาปฏิรูป”กระดาษเช็ดก้นม้วนใหม่“นช.แม้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ไม่ผิดจากความคาดหมาย เมื่อ นช.ทักษิณ ชินวัตร สั่งให้น้องสาวเปิดเกมรุกต่อ “มวลมหาประชาชน” ด้วยการแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่าจะใช้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีสั่งการให้มีการตั้ง “สภาปฏิรูปประเทศ” เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วมตัดสินใจทางการเมืองและกำหนดอนาคตประเทศด้วยกัน

นี่เป็นความพยายามที่จะชิงเอาความเป็นเจ้าภาพ “ปฏิรูปประเทศ”มาไว้กับตัวเอง หลังจากที่ฝ่ายมวลมหาประชาชน ภายใต้การนำของ กปปส.(คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ได้เรียกร้องมาเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว และได้รับการขานรับจากหลายภาคส่วนเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ นักวิชการ นักกฎหมาย องค์กรอิสระ

ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปที่รัฐบาลได้เริ่มต้นไว้เมื่อ 5 เดือนก่อนโดยมีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นหัวเรือใหญ่ แทบจะถูกประชาชนลืมไปเลย นั่นเพราะไม่ใช่กลไกการปฏิรูปที่แท้จริง แต่เป็นแค่ละครปาหี่ที่รัฐบาลจัดขึ้นเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไปจากการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสอดไส้ เมื่อ 5 เดือนก่อนเท่านั้น

ข้อเรียกร้องปฏิรูปประเทศของ กปปส.นั้น ถูกยกระดับขึ้นมาจากการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยล้างผิดให้นักโทษหนีคุก ซึ่งหลังจากที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กดปุ่มให้วุฒิสภาคว่ำร่างฯ ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่ไว้ใจของมวลมหาประชาชน เนื่องจากสภาผู้แทนฯ สามารถนำกลับมาปัดฝุ่นใหม่ได้หลังจากเวลาผ่านไป 180 วัน

นอกจากนี้รัฐบาลได้แสดงพฤติกรรมที่ฉ้อฉลออกมาหลายครั้ง นอกเหนือจากกรณีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยแล้ว ยังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.เพื่อให้วุฒิสภากลับสภาพไปเป็น “สภาผัวเมีย” และ “สภาทาส”เหมือนในยุคที่ นช.ทักษิณเป็นนายกฯ

มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพื่อตัดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการไปทำหนังสือสัญญาหรือข้อตกลงกับต่างประเทศ เปิดทางให้ นช.ทักษิณทำการค้าหรือข้อตกลงแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับต่างประเทศได้อย่างสะดวกโยธิน
การลักหลับผ่าน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เป็นต้น

พฤติกรรมเหล่านี้ของรัฐบาล ทำให้การชุมนุมถูกยกระดับขึ้นเป็นการขับไล่ระบอบทักษิณ และเรียกร้องให้มีการตั้ง “สภาประชาชน”ขึ้นมาทำการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ อาทิ การเพิ่มโทษให้นักการเมืองที่ทุจริตเลือกตั้ง กำหนดให้คดีทุจริตไม่หมดอายุความและให้ประชาชนเป็นผู้ยื่นฟ้องเองได้ ให้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เพื่อป้องกันการซื้อขายตำแหน่ง เป็นต้น

แม้ฝ่ายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้พยายามออกมาเบี่ยงเบนประเด็นว่า “สภาประชาชน”ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ พร้อมกับพยายามเกลี้ยกล่อมให้ทุกฝ่ายไปเข้าร่วมในคณะกรรมการปฏิรูปที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม การไร้ซึ่งความชอบธรรมของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำให้มวลมหาประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ จน น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.เพื่อหวังลดกระแสการชุมนุมใหญ่ในวันดังกล่าว โดยจะให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 2 ก.พ.2557 แต่กระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ก็ดังกระหึ่มไปทั่ว แม้ฝ่ายรัฐบาลจะพยายามสร้างกระแส “เอาเลือกตั้ง ไม่เอาเทือกตั้ง”ขึ้นมากลบก็ตาม

ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปก็ยังได้รับการขานรับจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน 7 องค์กร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นักกฎหมายอาวุโส หรือนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ที่เห็นว่า สภาประชาชนสามารถตั้งได้อย่างถูกกฎหมายโดยออกเป็นพระราชกำหนด

แม้กระทั่ง นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งไม่ได้แสดงท่าทีสนับสนุนการชุมนุม จน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้นำคำพูดบางส่วนไปห้อยโหนเพื่อเอาดีเข้าตัว แต่ นพ.ประเวศก็สนับสนุนให้มีการปฏิรูป โดยขอให้รัฐบาลนำข้อเสนอที่ได้จากการจัดสมัชชาปฏิรูป ซึ่งแล้วเสร็จตั้งแต่กลางปี 2556 ไปดำเนินการ

ขณะที่กลุ่มแนวคิดแบบสายกลางหลายกลุ่ม แม้จะไม่ต่อต้านการเลือกตั้ง แต่ก็สนับสนุนเต็มที่ให้มีการปฏิรูปประเทศในหลายๆ ด้าน
เมื่อกระแสปฏิรูปดังกระหึ่มไปทั่วแบบนี้จึงเป็นที่มาของการแถลงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าจะตั้ง“สภาปฏิรูปประเทศ” เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา

แต่ นช.ทักษิณก็คือ นช.ทักษิณ ที่ไม่เคยจะทำอะไรตรงไปตรงมา เนื้อหาสาระของสภาปฏิรูปประเทศตามคำแถลงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่ใช่สภาปฏิรูปที่จะมาทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังยืนยันที่จะเป็นรัฐบาลรักษาการต่อ และให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.ปีหน้าตามกำหนดเดิม ส่วนการปฏิรูปประเทศก็จะทำควบคู่กันไป นั่นย่อมแสดงว่าระบอบทักษิณยังไม่ยอมที่จะวางมือจากอำนาจรัฐไปง่ายๆ

แม้ในคำแถลง น.ส.ยิ่งลักษณ์จะอ้างว่า รัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำงานของสภาปฏิรูปประเทศ และเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาก็จะดำเนินการต่อเนื่องไป ไม่หยุดชะงัก แต่เมื่อดูที่มาของสภาปฏิรูปประเทศที่จะถูกกำหนดรูปร่างและทิศทางโดยคณะกรรมการ 11 คน หรือ 11 อรหันต์ แล้ว ก็ต้องบอกว่านี่คือสภาปาหี่แห่งใหม่ที่มีผู้ร่วมแสดงมากขึ้นกว่าเดิม

ตามคำแถลงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คณะกรรมการ 11 คนจะทำหน้าที่คัดเลือกคนจากสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 2,000 คน แล้วให้ 2,000 คนมาทำการเลือกกันเอง 499 คนเพื่อเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป ทำการศึกษาจัดทำข้อเสนอปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ
โดยทั้ง 11 อรหันต์เป็นคนกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสมัคร การสรรหา การคัดเลือก และการแต่งตั้งตัวแทนวิชาชีพ ตลอดจนการเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศในขั้นตอนต่างๆ

เมื่อดูองค์กระกอบของ 11 อรหันต์ ซึ่งประกอบด้วย 1. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือผู้แทน ซึ่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ,2. หัวหน้าส่วนราชการ ระดับปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่า ซึ่งที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง เลือกจำนวน 2 คน เพื่อเป็นกรรมการ,3. เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการ,4. อธิการบดี ของสถานบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เลือกจำนวน 1 คน เป็นกรรมการ

5. ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ,6. ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ,7. ประธานสมาคมธนาคารไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ,8. ประธานและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน ซึ่งคณะกรรมการที่กล่าวถึงเบื้องต้นเป็นผู้เสนอชื่อ

ก็จะเห็นได้ชัดว่ามากกว่าครึ่งของ 11 อรหันต์จะเป็นคนของรัฐบาลอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนการตั้งคณะกรรมการจะตั้งกรรมการตามข้อ 1-7 รวม 8 คนก่อน แล้วให้ทั้ง 8 คน เลือกคนมาเป็นประธานและผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน จึงจะรวมเป็น 11 คน

ฟันธงได้เลยว่ากรรมการตามข้อ 1-3 จำนวน 4 คนนั้น คือคนในอาณัติของรัฐบาล เพราะเป็นข้าราชการประจำระดับสูง แม้แต่เลขาฯ สภาพัฒน์ฯ หน่วยงานที่ได้ฉายาว่า “เสือคล้อย”เพราะคล้อยตามนักการเมืองตลอด ก็คือคนของรัฐบาล

ส่วนกรรมการตามข้อ 4-7 นั้น มีอย่างน้อย 1 คนที่จะอยู่ข้างรัฐบาลนั่นคือประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดังนั้น กรรมการ 8 คนแรก จึงเป็นคนของรัฐบาลอย่างน้อย 5 คน เพราะฉะนั้นในการเลือกคนมาเป็นประธานและผู้ทรงคุณวุฒิ ก็จะเลือกคนที่อยู่ในเครือข่ายของรัฐบาล

เพราะฉะนั้น ใน 11 อรหันต์ ก็จะมีเป็นคนของรัฐบาลอยู่อย่างน้อย 8 คน รูปร่างและทิศทางการทำงานของสภาปฏิรูปก็ย่อมจะขึ้นอยู่กับ นช.ทักษิณจะชี้นิ้วสั่ง

นี่ยังไม่พูดถึงประเด็นอำนาจหน้าที่ของสภาปฏิรูป ที่มีแค่การศึกษาจัดทำข้อเสนอ แล้วเสนอให้รัฐบาลส่งต่อให้หน่วยงายที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

รวมทั้งการกำหนดเวลาแล้วเสร็จของการจัดทำข้อเสนอปฏิรูปประเทศ ซึ่งไม่ได้ระบุเอาไว้เลย นั่นหมายถึงว่า สภาปฏิรูปจะยืดเวลาการทำงานไปเท่าไหร่ก็ได้

สรุปแล้ว สภาปฏิรูปประเทศที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงว่าจะจัดตั้งนั้น ไม่อาจจะทำหน้าที่ปฏิรูปได้อย่างแท้จริง นอกจากเป็นสภาปาหี่แห่งใหม่ที่ นช.ทักษิณสั่งให้ทำเพื่อซื้อเวลาและลดกระแสการเรียกร้องปฏิรูปเท่านั้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะเตรียมตัวแถลงเรื่องการจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศ เมื่อ 25 ธ.ค.56


กำลังโหลดความคิดเห็น