xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ

พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ
ptorsuwan@yahoo.com

สถานการณ์การเมืองไทยกำลังเข้มข้น เป็นวิกฤติที่ต่อสู้กันระหว่าง2กระแส คือการปฏิรูปประเทศไทยและการยึดเหนี่ยวกับกติกาเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งตอนแรกดูเหมือนจะเป็นแค่ยุทธศาสตร์ช่วงชิงอำนาจการเมืองระหว่างสองขั้วการเมืองใหญ่ คือพรรคเพื่อไทยภายใต้ปีกของคุณทักษิณ ชินวัตร และพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นมวยรองมาโดยตลอดระยะเวลาเกือบจะสองทศวรรษ

ความจริงกระแสต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทยดำรงอยู่แบบเงียบๆ แต่ต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาล เพราะถึงแม้ที่มาของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนี้จะมาจากชัยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นก็ตาม แต่ก็เป็นรัฐบาลที่มีพฤติกรรมต่างตอบแทนขบวนการคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นขบวนการที่ใช้ยุทธวิธีก่อม๊อบกลางกรุงเทพฯยาวนานหลายเดือนเพื่อล้มรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นการชุมนุมเต็มไปด้วยภาพและกลิ่นอายแห่งความรุนแรงทั้งกาย วาจา และใจไม่เว้นแม้แต่การจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีหลักฐานให้เห็นเป็นคลิปภาพและเสียงนับไม่ถ้วน หลายเรื่องก็เป็นสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยเกิดความไม่พอใจแต่ก็ต้องสะกดใจเก็บเอาไว้ และเป็นที่รู้กันดีว่าขบวนการเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยต่างเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจการเมืองนี้

กระแสต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ นับตั้งแต่เข้าบริหารประเทศ ไม่ว่าจากพฤติกรรมและนโยบายที่ย่ามใจในอำนาจและเสียงที่มากล้นในสภา นโยบายหลายอย่างก็ทำลายความชอบธรรมของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านที่กระทบความเป็นอยู่ของผู้คนในหลายท้องถิ่น นโยบายP4Pของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ปลุกการต่อสู้ของบรรดาแพทย์ชนบทผู้เสียสละอีกมากมาย เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่นับบรรดานโยบายที่มีกลิ่นเหม็นๆในเรื่องทุริตคอรัปชั่นอีกมากมายหลายโครงการ จนกระทั่งมาสู่กระบวนการผลักดันพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมสอดไส้แบบสุดซอย ไปจนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ จนก่อเกิดกระแสการต่อต้านรัฐบาลลุกลามอย่างรวดเร็ว และถึงแม้ว่าผู้ที่ออกมานำหัวขบวนการต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในช่วงกระแสจุดติดแล้วนี้จะมีชื่อว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณก็ตาม นักการเมืองค่ายประชาธิปัตย์ผู้นี้ ซึ่งมีภาพลักษณ์ที่มัวหมองมาตลอดชีวิตการเป็นนักการเมือง ไม่ว่ากับกรณีสปก4-01อันลือลั่นในสมัยรัฐบาลชวน1 มาจนถึงสมัยเป็นรองนายกฯคุมตำรวจซึ่งก็มีข่าววิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งกันอย่างมากมายมโหฬาร ยังไม่นับข้อหาอุกฉกรรจ์ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันสั่งฆ่าคนเสื้อแดงในการชุมนุมเมื่อปี 53 อีกด้วย

น่าแปลกในที่คนอย่างนายสุเทพสามารถจะนำพามวลชนนับล้านคนออกมาประท้วงแสดงพลังมากมายอย่างเป็นประวัติการณ์ การประท้วงครั้งนี้คงจะเป็นที่จดจำต่อไปในนาม “ม๊อบนกหวีด” ที่มีเสียงกรีดร้องดังสนั่นเป็นเอกลักษณ์ มีการใช้สามสีของธงชาติเป็นสัญลักษณ์ โดยที่ผ่านมาม๊อบนกหวีดได้สร้างประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายนโดยเรียกร้องการรวมตัวกันของประชาชนเรือนล้านคนเป็นครั้งแรกที่ถนนราชดำเนิน จนกระทั่งรัฐบาลจำต้องถอนเรื่องการเสนอกฎหมายฉาวๆและการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกเรื่องออกไปจากกระบวนการพิจารณาในสภา แต่ถึงกระนั้นก็ตามนายสุเทพก็ยังสามารถนำมวลชนออกมาอีกจำนวนหลายล้านคนในวันที่ 9 ธันวาคมเพื่อขับไล่รัฐบาล จนกระทั่งนายกฯยิ่งลักษณ์ต้องประกาศยุบสภาในวันเดียวกัน จนกระทั่งถึงการระดมมวลชนอีกครั้งในวันที่ 22 ธันวาคมซึ่งมีแนวโน้มว่ามวลชนที่ออกมาน่าจะอยู่ที่จำนวนหย่อนๆสิบล้านคน โดยเป็นการรวมในหลายจตุรัสใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อกดดันให้รัฐบาลรักษาการยุติบทบาทการบริหารประเทศ พร้อมกับผลักดันกระแสการปฏิรูปการเมืองไทย

ก่อเกิดเป็นสองกระแสคือ การปฏิรูปการเมืองที่มุ่งปฏิเสธระบบการเมืองอันฉ้อฉล กับกระแสการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่ 1 คนจะต้องมี 1 เสียงเท่ากัน ซึ่งทั้งสองกระแสนั้นดูเหมือนจะต่อกรประลองกำลังกัน แต่ความจริงในเนื้อแท้แล้วควรจะไปด้วยกันได้ กล่าวคือระบอบประชาธิปไตยมุ่งหวังการเมืองที่ดีที่เป็นธรรมเพราะเป็นการปกครองแบบมีส่วนร่วม ทั้งในแง่ฉันทามติในการเลือกผู้ปกครองและการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้สองกระแสกลับกลายเป็นการต่อสู้กันโดยฝ่ายหนึ่งซึ่งแน่นอนว่าต้องการไล่รัฐบาลซึ่งถูกกำกับโดยทักษิณนั้น ต้องการปฏิรูปการเมืองก่อนมีการเลือกตั้ง แต่แนวทางการปฏิรูปของ สปปก ก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนทั้งในเรื่องสภาประชาชนและประเด็นที่จะปฏิรูป ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลต้องการมุ่งไปสู่การเลือกตั้งอย่างเดียว แล้วค่อยไปปฏิรูปแบบเสียงอ่อยๆ

ถึงวันนี้จะเห็นได้ว่าเป็นการต่อสู้เรื่องความชอบธรรมทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน ซึ่งถ้าเราจะละเรื่องฝักฝ่ายเอาไว้ในฐานที่เข้าใจ พักเรื่องอุดมการณ์ความนิยมชมชอบในพรรคการเมืองในตัวบุคคลหรือนักการเมืองประจำใจเอาไว้ก่อนได้ ผู้เขียนก็คิดว่ามีอยู่สองประเด็นที่สังคมไทยควรพิจารณาไตร่ตรองถกเถียงกัน

ประเด็นแรกก็คือเรื่องความผิดและความรับผิดทางการเมือง ตลอดจนภาวะผู้นำทางการเมือง ซึ่งคงต้องยอมรับว่า นับตั้งแต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ตัดสินใจดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมสอดไส้(รวมไปจนถึงพ.ศ. 2547 ก่อนการรัฐประหารปี พ.ศ.2549 เสียอีก)ในแบบที่เรียกว่าสุดซอย ซึ่งเป็นที่ถกเถียงต่อต้านไม่เพียงแต่จากพรรคฝ่ายค้านและประชาชนทั่วไป แม้แต่ในหมู่คนเสื้อแดงเองซึ่งเป็นมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลก็ยังแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวาง สำทับด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยออกมาแล้วว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่ชอบ เพราะเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนัยยะที่สำคัญของหลักการปกครอง สำทับด้วยการที่พรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการโดยหัวหน้าพรรคว่าไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้เกิดกระแสความไม่พอใจจนกระทั่งขยายตัวเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่เพราะผู้คนไม่พอใจเป็นวงกว้าง แต่เดิมที่นายกรัฐมนตรีเคยปฏิเสธความรับผิดชอบมาตลอด โดยอ้างว่าเป็นเรื่องของรัฐสภาซึ่งฝ่ายบริหารไปสั่งการไม่ได้ เพียงไม่นานนักก็เปลี่ยนใจด้วยเพียงสั่งการคำเดียว บรรดาร่างนิรโทษกรรมร่างจำแลงอีกนับสิบร่างก็ถูกถอนออกจากแถวสายพานการผลิตในรัฐสภาในทันใด เช่นเดียวกับร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกวุฒิสภาล้มไปทันทีขานรับตามที่นายกรัฐมนตรีมีดำริ ตลอดจนการกลับลำแถลงใหญ่ของพรรคเพื่อไทยว่า เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล ซึ่งทั้งหมดนี้แค่แสดงให้เห็นถึงความปลิ้นปล้อนทางการเมือง คำถามก็คือ บรรดาความผิดจากการฉ้อฉลทางการเมืองเหล่านี้สามารถที่จะจัดการชำระให้หมดไปด้วยการเลือกตั้งจริงหรือไม่ ถ้าประชาชนเลือกพรรคหรือคณะบุคคลที่กระทำผิดเหล่านี้เข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรอีกครั้งแล้วความผิดทั้งหลายสมควรล้มล้างไปได้อย่างนั้นหรือ การเลือกตั้งไม่ใช่เป็นการเลือกประสิทธิภาพการบริหารหรือเป้าหมายด้านนโยบายหรอกหรือ เพราะเราได้รับสิทธิในการกากบาทเลือกตัวเลขซึ่งเป็นผู้สมัครและพรรคการเมืองแต่ไม่มีช่องให้บรรยายว่าให้หรือไม่ให้ออกกฎหมายโดยกระบวนการฉ้อฉลหรือการบริหารอย่างฉ้อโกง ดังนั้นความรับผิดทางการเมืองของบ้านเมืองเรานั้นสมควรจะมีในระดับไหน ในหลายประเทศหลายกรณีที่เขามักจะแสดงภาวะผู้นำโดยที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่ต้องพิพากษาหรือภาคสังคมยังมิจำเป็นต้องกดดันเลย เราจึงรับทราบข่าวการลาออกจากตำแหน่งผู้นำการเมืองในต่างประเทศทันทีเมื่อเกิดข่าวว่าประพฤติผิดอยู่เสมอ ในขณะของประเทศไทยเรามักจะยึดยื้ออยู่กับตำแหน่งและอำนาจไปจนความขัดแย้งพัฒนาไปไกลจนยากที่จะกู่กลับมาสู่สภาวะปรกติได้ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความเฉพาะเหตุการณ์ม๊อบนกหวีดที่ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ขณะนี้เท่านั้น ภูมิต้านทานสำนึกผิดชอบชั่วดีทางการเมืองได้มีพัฒนาการมายาวนานตั้งแต่ช่วงปลายของรัฐบาลทักษิณแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าหมายความรวมถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วงปี 2553 ด้วย

ภูมิต้านทานสำนึกรับผิดชอบทางการเมืองหรือในภาษาชาวบ้านที่เรียกว่า ความหน้าด้านทางการเมืองนี้มีพัฒนาการมาอย่างเด่นชัด สัมพันธ์กับอัตราการทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าภาคประชาสังคม ภาคราชการ ภาคเอกชน หรือภาควิชาการมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับการเลือกเชียร์เลือกข้างฝ่ายการเมือง ถึงแม้จะอ้างอิงหลักการอะไรบางอย่างซึ่งดูยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหลักการประชาธิปไตยหรือสถาบันสูงสุดของประเทศ โดยมองข้ามประเด็นนี้ไปแล้ว เราก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนความหน้าด้านทางการเมืองและการคดโกงอย่างมีภูมิคุ้มกันให้ฝังรากอยู่ในสังคมของเรา

ประเด็นที่สองคือเรื่องการปฏิรูปการเมืองและการเลือกตั้ง ซึ่งจนถึงขณะนี้เกือบทุกคนทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ชุมนุมในนาม สปปก พรรคประชาธิปัตย์ และไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฯ ภาคเอกชน ภาคสังคม นักวิชาการเกือบทุกแขนง สื่อมวลชน ฯลฯ ไม่มีใครปฏิเสธการเลือกตั้ง และทั้งหมดล้วนแสดงความเห็นประสานเสียงกันว่าเห็นด้วยที่การเมืองไทยควรจะต้องมีการปฏิรูปด้วย ปัญหาก็คือการปฏิรูปที่ว่านี้จะทำอย่างไร ปฏิรูปประเด็นไหนบ้าง ใครที่จะมีส่วนในการปฏิรูปและถูกปฏิรูป และคำถามที่สำคัญในขณะนี้ก็คือการปฏิรูปนี้ควรทำก่อนหรือภายหลังมีการเลือกตั้ง

พิจารณาจากบริบทในตอนนี้ บางคนอาจจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งดูเหมือนจะสามารถผลักดันให้ทุกสิ่งทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยตามระบอบประชาธิปไตยได้ เพราะผลของการเลือกตั้งย่อมสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายการเมืองที่ชนะ ทั้งๆที่กระบวนการเลือกตั้งก็ไม่ได้เปิดช่องทางให้ประชาชนแสดงเจตจำนงอื่นใดที่มากไปกว่าเลือกตัวบุคคลและคณะบุคคล ซึ่งแน่นอนว่าเราย่อมสันนิษฐานได้เลยว่านั่นจะนำกลับเข้ามาสู่วงจรการเมืองอุบาทว์แบบเดิมๆ ดังนั้นการปฏิรูปการเมืองย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อฝ่ายการเมืองที่ได้ชัยชนะจะมีความสุขความพึงพอใจในการถือครองอำนาจนั้น เมื่อเขาได้รับฉันทานุมัติจากการเลือกตั้งมาแล้วอย่างชอบธรรม ย่อมพึงพอใจต่อการใช้อำนาจในการสร้างประโยชน์ในกับตัวเองและพวกพ้อง แน่นอนว่าโครงสร้างการรวบอำนาจจะต้องอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำและการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ เพราะถึงแม้เป้าหมายทางการเมืองคือการสร้างสังคมที่ดีก็ตาม แต่นักการเมืองย่อมไม่ปรารถนาให้ประชาชนได้พบกับสังคมที่ดีเป็นแน่ เพราะการเล่นการเมือง ในแง่หนึ่งคือการสร้างภาพความหวังให้แก่ชาวบ้าน ที่เป็นเพียงมายาภาพความหวังที่ไม่มีวันยอมให้เป็นจริง ชาวบ้านจึงยังคงต้องหวังกันต่อไปและนักการเมืองจึงจะมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าชาวบ้านผู้ลงคะแนน ดังนั้นการปฏิรูปการเมืองที่จะจะทำให้นักการเมืองเสียประโยชน์หรือเสียอำนาจต่อรองจึงเป็นไปได้ยากถ้าการปฏิรูปจะเป็นไปโดยฝ่ายการเมือง

การปฏิรูปการเมืองในแบบ สปปก หรือคุณสุเทพโปรยไว้ไม่ว่าจะเป็น ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จัดการนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยกฎหมายเด็ดขาด หรือการลดความเหลื่อมล้ำด้วยมาตรการต่างๆย่อมเป็นที่ถูกอกถูกใจของประชาชนทุกๆคน(ถ้าตัดอคติต่อตัวคุณสุเทพออกไป) ยกเว้นแต่บรรดานักการเมือง เพราะเหตุผลส่วนใหญ่ที่บรรดานักธุรกิจการเมืองเข้ามาสู่อำนาจก็เพราะเรื่องดังกล่าวที่ สปปก เสนอมาทั้งหมดนั่นแหละ ดังนั้นประเด็นปฏิรูปที่นักการเมืองอย่างคุณสุเทพเสนอย่อมเป็นที่ถูกใจทุกคน เพราะท่านเป็นนักการเมืองมายาวนาน ย่อมทราบดีถึงช่องโหว่ทั้งทางโครงสร้างและทางกฎหมายในการที่จะให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบและการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายอำนาจ ดังนั้นจุดแข็งของกระแสปฏิรูปตามแนวนี้ก็คือเราได้ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญด้านการฉ้อฉลทางการเมืองมาชี้ปัญหา ในขณะที่ปัญหาของขบวนการปฏิรูปนี้ก็อยู่ที่ความเคลือบแคลงไปจนถึงความชิงชังต่อแกนนำในการขับเคลื่อนการปฏิรูปนี้เองเช่นกัน คำถามต่างๆ ความระแวงสงสัยถึงความจริงใจ และที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของความชอบธรรมในการนำการปฏิรูป

การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการยินยอมพร้อมใจกันประนีประนอมของทุกฝ่าย แต่การประนีประนอมนี้เกิดขึ้นได้ยากในสถาวะที่คู่ขัดแย้งยังถืออำนาจไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐหรืออำนาจมวลชน อย่างไรก็ตาม การปล่อยวางอำนาจก็เป็นสิ่งที่ยากจะเป็นไปได้เช่นกัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับความไว้วางใจซึ่งเป็นสิ่งที่หายากยิ่งในคู่ขัดแย้ง ดังนั้นการปฏิรูปการเมืองย่อมไม่สามารถเนรมิตรให้เกิดขึ้นได้ง่ายๆในช่วงเดือนหรือปี ย่อมไม่มีทางลัดโดยอาศัยคนกลาง คนดี หรือผู้วิเศษคนใดมาบันดาลสังคมการเมืองที่ดีให้แก่เรา อย่างน้อยเราควรได้รับบทเรียนอันแสนแพงจากเหตุการรัฐประหารปี 2549 ทั้งจากรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ซึ่งถ้าพิจารณาคณะรัฐมนตรีชุดนั้นเป็นรายบุคคลแล้วจะเห็นว่าเป็นคณะคนดีในฝันกันเลยทีเดียว สภานิติบัญญัติก็เต็มไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ เอกชน และภาคสังคม แต่ผลปรากฎว่าทั้งหมดล้วนสร้างความผิดหวังทั้งในแง่การบริหารราชการแผ่นดินอันแสนเฉื่อยชา ต่างตอบแทน ตลอดจนการออกกฎหมายที่ระดมคลอดกันออกมาอย่างฉ้อฉลแทบจะไม่แตกต่างกันกับที่ประจักษ์ไปเมื่อเร็วๆนี้แต่อย่างใด

ผู้เขียนเห็นว่าการก่อเกิดของมวลมหาประชาชนจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการเมืองไทยได้ ถ้าการลุกฮือของประชาชนไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการช่วงชิงอำนาจรัฐ แต่เป็นเพราะประชาชนสำนึกถึงความถูกต้องชอบธรรมและความดีงามอย่างที่ฝ่ายหมั่นไส้เขาขนานนามไว้ว่าเป็น “ม๊อบคนดี” ดังนั้นการปฏิรูปการเมืองอาจจะต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่หลายคนคาดหวังไว้ ที่สำคัญคือจะต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นการชุมนุมยืดเยื้อแตกหักเพื่อโค่นรัฐบาลหรือแม้แต่ระบบภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เพราะการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องของการสร้างความชอบธรรม การดึงดูดแนวร่วมโดยการทำความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจกัน ไม่ใช่การผลักไสไล่ส่ง ในอนาคตอาจจะมีผู้คนกลุ่มอื่นๆที่เดือดร้อนร้อนต้องชุมนุมประท้วงรัฐบาลเรื่องปากท้อง เรื่องราคาสินค้าเกษตร เรื่องความเป็นธรรมทางทรัพยากร แล้วมวลมหาประชาชนในเมืองไม่ได้ทอดทิ้ง ทำความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจกัน สนับสนุนช่วยเหลือ และเมื่อมวลมหาประชาชนไม่ได้มีความใหญ่โตแค่ปริมาณอย่างที่หลายคนพยายามจะวัดกันออกมาว่ากี่แสนกี่ล้านคน ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่แกนนำว่าชื่ออะไรบ้าง แต่เป็นเรื่องของการเอาใจใส่ในเรื่องส่วนรวม เมื่อนั้นการปฏิรูปการเมืองก็คงมีหวังที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น