xs
xsm
sm
md
lg

"คณิต"แนะอสส.ปลดล็อกการเมือง ถอนฟ้องคดีก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (23 ธ.ค.) นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึง นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด (อสส.) ขอให้สั่งไม่ฟ้อง หรือถอนฟ้องคดีการก่อการร้ายทั้งหมดทุกคดี (ทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่ตกเป็นจำเลย) ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ
นายคณิต กล่าวว่า เมื่อตนได้รับแต่งตั้งเป็นประธาน คอป. เกิดมีการดำเนินคดีในเรื่องการก่อการร้าย ซึ่ง ตนได้เขียนบทความเรื่อง “การก่อการร้าย”โดยเห็นว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่น่าเป็นผลดี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอัยการ แต่เนื่องจากองค์กรอัยการในขณะนั้นไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการสร้างความถูกต้องและความปรองดองของคนในชาติ ในการเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่องการก่อการร้ายนี้ คอป. จึงได้กล่าวถึงทางออกเพื่อสร้างความถูกต้องเกี่ยวกับองค์กรอัยการว่า เมื่อการดำเนินคดีในความผิดฐานก่อการร้าย ทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศขาดความเชื่อถือศรัทธา ทางแก้โดยองค์กรในกระบวนการยุติธรรมตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่อาจทำได้ เช่น การสั่งไม่ฟ้อง หรือการถอนฟ้องโดยพนักงานอัยการ น่าจะเกิดขึ้นยาก เพราะองค์กรอัยการ ดูจะไม่ค่อยร่วมมือในการสร้าง “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” (Transitional justice)
“ เมื่อองค์กรอัยการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่มีอยู่ ในการแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ คอป. จึงได้เสนอให้ฝ่ายการเมือง ได้ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการก่อการร้ายแทน แต่ก็ไม่พบว่า ฝ่ายการเมืองได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ คอป. เพื่อแก้ปัญหาของชาติแต่อย่างใด”
นายคณิต กล่าวโซญว่า บัดนี้ปรากฏว่า อดีตอัยการสูงสุดสองคนก่อนหน้านายอรรถพล ได้ดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ดำเนินการอันอาจเป็นความตามประมวลกฎหมาอาญา มาตรา 157 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ และที่สำคัญอาจทำให้คดีของรัฐเกิดความเสียหายได้ตามที่ตนได้กล่าวไว้ในบทความที่ปรากฏในหนังสือ“อดีตประธาน คอป. แนะ อสส. ในคดีก่อการร้าย”จึงเสนอแนะเรียกร้องให้อัยการสูงสุด ได้ทำหน้าที่โดยสั่งไม่ฟ้อง หรือถอนฟ้องคดีก่อการร้ายทุกคดี ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้ เพื่อความสงบให้แก่บ้านเมือง
นายคณิต กล่าวด้วยว่า นอกจากส่งหนังสือถึงอัยการสูงสุดแล้ว ยังส่งหนังสือถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี มีใจความว่า ตามที่ตนได้รับการแต่งตั้งจากอดีตนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้เป็นประธาน คอป. และในเวลาต่อมา รักษาการนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ให้ความสำคัญแก่ คอป. และได้ให้ คอป. ได้ดำเนินงานต่อไป จนการทำงานของ คอป. เสร็จสิ้น เมื่อเดือนก.ย. 55 และ คอป. ได้เสนอแนะเพื่อให้เกิดความสงบ และความปรองดองของคนในชาติไว้หลายประการ นั้น
“แม้จะปรากฏว่าหลังจาก คอป. เสร็จสิ้นการทำงานแล้ว คอป.ไม่พบว่ารัฐบาลได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคอป. อย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลยังได้สร้างความขัดแย้งของคนในชาติขึ้นอีก โดยการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม และอื่น ๆ แต่ผมในฐานะอดีตประธาน คอป. และ คอป. ทุกคน โดยสำนึกในความรับผิดชอบในเงินภาษีอากรของประชาชนในการที่รัฐได้จัดสรรงบประมาณของแผ่นดินเพื่อการทำงานของ คอป. ในอันที่จะช่วยสร้างความสงบและความปรองดองของคนในชาติ ได้เห็นพ้องต้องกันว่า สมควรทำหน้าที่ผลักดันข้อเสนอแนะของ คอป. เพื่อช่วยเหลือประเทศชาติ และสังคมต่อไป”
นายคณิต กล่าวด้วยว่า ในฐานะเป็นอดีตประธาน คอป. ได้พิมพ์หนังสือ “ประชาธิปไตยและการตั้งรังเกียจทางสังคม”อันเป็นผลงานของ คอป. เช่นเดียวกัน ออกเผยแพร่ไปแล้วหลายครั้ง ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้ส่งให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนแล้วด้วย
ทั้งนี้ คอป. เชื่อว่าในการ“ซุกหุ้น”ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2544 ที่มีการบิดเบือน หรือหักดิบกฎหมายโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น มีความไม่ถูกต้อง จนเชื่อได้ว่าจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่ง คอป. เห็นว่า หากให้ ป.ป.ง. ได้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ แล้วก็คงจะพบความไม่ถูกต้อง และการกระทำความผิดกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว
หนังสือนายคณิต ระบุว่า คอป. ยังเห็นว่า การกระทำของผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคน ในความไม่สงบเมื่อปี 2553 ที่ได้มีการประกาศ หรือโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด และได้เกิดการเผาที่ทำการของรัฐหลายแห่ง และอาคารของเอกชนนั้น ก็เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญาอย่างแน่ชัด
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 85 ซึ่งสำหรับเรื่องหลังนี้ มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้ง ที่สามารถนำคดีไปสู่ศาลได้ ส่วนเรื่องการบิดเบือน หรือหักดิบกฎหมายนั้น ก็อยู่ในวิสัยที่กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินการได้โดยไม่ยากแต่ประการใดและคงจะสามารถนำไปสู่ศาลได้เช่นเดียวกัน
หนังสือระบุด้วยว่า ในฐานะอดีตประธาน คอป. ในฐานะอดีตอัยการสูงสุด ในฐานะนักวิชาการผู้สอนกฎหมายอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งได้นิพนธ์ตำรากฎหมายสองลักษณะนี้ด้วย และในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี ใคร่ขอตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมของประเทศ นอกจากไม่แก้ปัญหาพื้นฐานเรื่องการบิดเบือน หรือหักดิบกฎหมายและการวางเพลิงเผาบ้านเผาเมืองแล้ว ยังทำตนตกเป็นเครื่องเป็นของทางการเมืองอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น