xs
xsm
sm
md
lg

8 องค์กรในภูเก็ตจับมือเดินหน้าดัน “ภูเก็ตปกครองตนเอง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - 8 องค์กรในภูเก็ต จับมือจัดสัมมนา “กลุ่มภูเก็ตยั่งยืน เรื่อง กรณีศึกษาร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร” หวังเป็นแนวทางการพัฒนาภูเก็ตไปสู่การปกครองตนเอง ระบุตอนนี้มี 40 จังหวัด กำลังเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้มีการปกครองตนเอง

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.มือง จ.ภูเก็ต กลุ่มภูเก็ตยั่งยืน ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ 8 องค์กร เข้าร่วม ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดภูเก็ต สมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ เครือข่ายภูเก็ตจัดการตนเอง เครือข่ายภูเก็ตมหานคร และกลุ่มวารสารสะพานสารสิน ได้จัดให้มีการสัมมนา กลุ่มภูเก็ตยั่งยืน เรื่องกรณีศึกษาร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ขึ้น โดยมีนายเกรียงศักดิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา และเชิญอาจารย์สวิง ตันอุด ผอ.สถาบันการจัดการทางสังคม คณะกรรมการกระจายอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) มาเป็นวิทยากรในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

นายเกรียงศักดิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้ ก็เพื่อร่วมกันคิดร่วมกันทำ และร่วมกันสร้างให้ภูเก็ตดีขึ้น และเป็นการเสริมความรู้ให้แก่คนทุกคนที่อยู่ภูเก็ต ว่าภูเก็ตจะไปในทางไหน ซึ่งการพัฒนาภูเก็ตนั้นทุกคนทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันตัดสินใจว่าควรจะไปในจุดใด ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้ในการผลักดันให้เป็นจังหวัดพัฒนาตนเอง ซึ่งเชียงใหม่ กำลังดำเนินการอยู่ โดยการดำเนินการในการหาแนวทางในการพัฒนาภูเก็ตนั้นได้มีการเริ่มต้นมานานแล้ว และครั้งนี้เป็นการจับมือร่วมกันของ 8 องค์กรในการที่จะผลักดันให้ภูเก็ตก้าวไปสู่การปกครองตนเอง

อาจารย์สวิง ตันอุด ผอ.สถาบันการจัดการทางสังคม คณะกรรมการกระจายอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า การเคลื่อนไหว และดำเนินการที่เรียกว่าปฏิรูปประเทศไทยมีมาโดยตลอด ซึ่งมีการเคลื่อนไหวที่เชียงใหม่ ใช้คำว่า เชียงใหม่มหานคร หรือเชียงใหม่จัดการตนเอง โดยหลักการในรัฐธรรมนูญใช้คำว่า ปกครองตัวเองซึ่งรัฐธรรมนูญบอกว่า จังหวัดใดที่มีความพร้อมในการปกครองตนเองให้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งในระยะหลังๆ มีหลายจังหวัดที่มีความสนใจในการคิดในแง่การดูแลตนเอง หรือจัดการตนเอง หรือเรียกว่า ปกครองตัวเอง ซึ่งดำเนินการมาได้ประมาณ 4 ปี ซึ่งการมาครั้งนี้เป็นการนำเรื่องเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเชียงใหม่มหานคร มาแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายภูเก็ต เนื่องจากมีความสนใจที่จะดำเนินการภูเก็ตมหานคร ซึ่งเป็นหลักการเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีกว่า 40 จังหวัด ที่ออกมาเคลื่อนไหวในการปกครองตนเอง เช่น 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง ลำพูน พิษณุโลก พิจิตร 20 จังหวัดทางอีสาน ส่วนที่ภาคใต้ นอกจากภูเก็ต ก็ยังมีนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี รวมจนถึง 3 จังหวัดใต้ด้วย ซึ่งหลักการนี้หากทำสำเร็จ กรณีของ 3 จังหวัดใต้ก็จะจบลงได้โดยให้เขาปกครองตัวเอง รวมทั้งภาคกลาง จริงๆ แล้วกรุงเทพมหานคร ก็มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เนื่องจากมีความล้าหลังมี 2 อย่าง คือ ระดับล่างลงมามีการรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวจะให้มีการเลือกตั้ง 50 เขตที่เรียกว่านครบาล เพราะปัจจุบันใช้ผู้อำนวยการเขต และถูกกดทับจากรัฐบาลส่วนกลาง จริงๆ ควรจะเป็นมหานครด้วยตัวเอง ซึ่งเขาก็เคลื่อนไหวที่จะแก้กฎหมายของเขาเอง รวมถึงปราจีนบุรี สมุทรสงคราม

อ.สวิง กล่าวต่อไปว่า การเคลื่อนไหวทำให้เกิดการกระจายอำนาจ เพราะปัจจุบันโครงสร้างการรวมศูนย์อำนาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างสูง ใช้คำว่า ประชาธิปไตยแบบกินรวบ หมายความว่า ผู้ชนะได้ทุกอย่าง หากเราจัดการปกครอง หรือจัดการความสำคัญเชิงอำนาจที่ดี จะไม่เกิดความขัดแย้งแบบปัจจุบัน เพราะพื้นที่จะเป็นเจ้าของที่จะดูแลจัดการตัวเอง หลักการคือ จะต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีสภาท้องถิ่น สภาพลเมือง และท้องถิ่นทั้งหลายดำเนินการเก็บภาษี บริหารจัดการด้วยตัวของจังหวัดเอง หากพลิกขั้ว หมายความว่า รวมศูนย์อำนาจโดยเอาทรัพยากรทั้งหลาย หรือภาษีทั้งหลายไว้ที่ส่วนกลาง และการกระจายอำนาจที่ผ่านมาก็ยังไม่เป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริง เพราะเป็นการกระจายอำนาจที่เรียกว่าขยายอำนาจอีกรูปแบบหนึ่ง ท้องถิ่นได้งบประมาณเพียง 27% ขณะที่ท้องถิ่นทั่วโลกเขาได้ 70% แล้ว ส่วนกลางได้เพียง 30% ดังนั้น ฐานที่มั่นที่สำคัญ คือ พื้นที่ทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัด โครงสร้างจังหวัดที่จะต้องจัดการตนเอง และทำการพัฒนาด้วยตนเอง จึงเอาแนวคิดดังกล่าวมาแลกเปลี่ยนกันว่าการเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร

สำหรับการดำเนินการเชียงใหม่มหานครนั้น ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมา 1 ฉบับ เรียกว่า พ.ร.บ.บริหารราชการส่วนท้องถิ่นเชียงใหม่มหานคร ซึ่งได้มีการนำเสนอสภาฯ ไปแล้ว โดยใช้เป็นกฎหมายของประชาชนที่มีการรวบรวม 10,000 รายชื่อ ยื่นเสนอตามกฎหมาย และตอนนี้ในนามของคณะกรรมการการกระจายอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.จังหวัดปกครองตนเอง ซึ่งจะมีการนำเสนอสภาฯ ต่อไป ซึ่งหากมีการออกกฎหมายนี้ในระยะต่อไป แสดงว่าจังหวัดใดที่ต้องการจัดการตนเองก็ต้องคุยกัน และมีประชามิติในจังหวัด และจะหลุดมาเป็นจังหวัดที่ดูแลตัวเอง นั่นแสดงว่า ภูมิภาคก็จะไม่มีต่อไป เหลือเฉพาะส่วนกลางกับท้องถิ่น และท้องถิ่นจะมีอำนาจในการจัดการ หรือดูแลตัวเองตามความหลากหลายของพื้นที่ เช่น เชียงใหม่ ก็จะเป็นแบบเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ก็จะเป็นแบบแม่ฮ่องสอน ภูเก็ต ก็จะเป็นแบบภูเก็ต เป็นต้น

“แต่ที่ผ่านมา การปกครองของเราใช้วิธีการเชิงเดี่ยว หมายความว่า กฎหมายฉบับเดียวใช้ได้ทั้งประเทศ แต่ถ้าต่อไปแต่ละจังหวัดสามารถปกครองตัวเองได้ ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างก็จะดูแลตัวเอง กำหนดกฎหมายด้วยตัวเอง เลือกผู้ว่าฯ ของตัวเอง เก็บภาษีได้ด้วยตัวเอง และสร้างแผนพัฒนาตัวเอง สร้างวิสัยทัศน์ลักษณะใดก็ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นนั้น ซึ่งจุดนี้เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบกินแบ่ง หมายถึงความขัดแย้งส่วนกลางทั้งหลายจะหายไป ซึ่งได้มีการร่วมมือกับคณะกรรมการปฏิรูป ดำเนินการ และพัฒนารูปแบบนี้มาได้ประมาณ 4 ปีแล้ว ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า การรวมศูนย์อำนาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง เพราะผลประโยชน์ทั้งหมดอยู่ที่ส่วนกลางมากเกินไป และท้องถิ่นไม่สามารถจัดการตนเองได้ ดังนั้น การหารือหรือคุยกันวันนี้ จึงเป็นการคุยกันระหว่างการเคลื่อนไหวของเชียงใหม่มหานคร กับภูเก็ตมหานคร และมีอีกกว่า 40 จังหวัดที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้” อ.สวิง กล่าว

สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมี อ.คณิต ณ นคร เป็นประธาน ซึ่งขณะนี้ยกร่างเสร็จแล้ว และได้ทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว ต่อจากนี้จะทำประชาพิจารณ์รอบต่อไป และจะเสนอเป็นกฎหมายประชาชนภายในต้นปีหน้า โดยเสนอสภาฯ แต่ขึ้นกับสถานการณ์ของสภาฯ ว่าจะไปอย่างไร สำหรับสาระสำคัญของร่างดังกล่าว คือ ให้จังหวัดทั้งหลายที่มีเจตจำนงที่จะปกครองตัวเอง ลงประชามติว่าจะปกครองตนเองแบบไหน เพราะตามรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 281 จังหวัดใดที่มีความพร้อมในการปกครองตนเองให้ประชาชนปรึกษาหารือกันในการที่จะแสดงเจตจำนงในการที่จะปกครองตนเอง

ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ก็เหมือนเป็นกฎหมายลูกในรัฐธรรมนูญ หากกฎหมายนี้ผ่าน จังหวัดทั้งหลายก็จะดำเนินการปรึกษาหารือกัน และลงประชามติ และเมื่อลงประชามติเสร็จจะเสนอเข้า ครม. และจะประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาให้จังหวัดนั้นๆ สามารถปกครองตัวเองได้ โดยอิงกฎหมายฉบับเดียว แต่ที่ผ่านมา เชียงใหม่ ยกร่างเอง และเสนอ ซึ่งจะมีความยุ่งยาก ในความหมาย คือ จะต้องมี พ.ร.บ.ทุกจังหวัด แต่กฎหมายกลางที่คณะกรรมการปฏิรูปฯ ยกร่าง ก็จะเป็นกฎหมายเดียว หลังจากนั้นจะเป็นโครงสร้าง คือ มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ซึ่งผู้ว่าฯ ที่เป็นภูมิภาคก็จะไม่มี จังหวัดก็จะเป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่ มีสภาท้องถิ่น ซึ่งจะออกกฎหมายท้องถิ่น หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ตามความแตกต่างของแต่ละจังหวัด อีกโครงสร้าง คือ สภาพลเมือง ส่วนหน่วยงานท้องถิ่น เทศบาล และอบต.จะยังคงอยู่

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญ คือ ระบบภาษี หรือรายได้ ซึ่งปัจจุบันส่วนกลางจะเก็บไปหมด และแบ่งให้ท้องถิ่น 27% แต่ต่อไปข้างหน้ารายได้ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั้งหมด ท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดเก็บแล้วส่งให้ส่วนกลาง 30% ที่เหลือ 70% ท้องถิ่นนำมาบริหารจัดการ ส่วนของเนื้องานต่างๆ ทั้งหมดจะโอนมาให้แก่ท้องถิ่น เหลือเพียง 4 อย่างที่ยังอยู่ในการดูแลของส่วนกลาง คือ การป้องกันประเทศ หรือความมั่นคง การต่างประเทศ ระบบเงินตรา และศาลยุติธรรม ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ตำรวจ สาธารณสุข ท่องเที่ยว จะอยู่ในท้องถิ่นทั้งหมด โดยมีจังหวัดเป็นตัวตั้ง และจะมาดูแลจัดการกันเองกับท้องถิ่นขนาดเล็ก โดยจะใช้ว่าท้องถิ่นจังหวัด กับท้องถิ่นขนาดเล็ก

อ.สวิง กล่าวต่อไปว่า เชื่อว่าหลังสถานการณ์การชุมนุมคนจะมุ่งมาสู่เรื่องนี้มากขึ้น เพราะวิกฤตวันนี้หาทางออกไม่ได้เลย เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการรวมศูนย์อำนาจ ปัจจุบันการเคลื่อนไหวมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว ซึ่งการพูดเรื่องการปฏิรูปพูดมาก่อนนี้ด้วยซ้ำไป และก่อนวิกฤตปี 53 เพราะหากไม่มีการปฏิรูป โดยการกระจายอำนาจออกมาวิกฤตก็เกิดขึ้นอีก แม้วิกฤตครั้งนี้จบ เดี๋ยวก็เกิดขึ้นมาอีก หากไม่มีการปฏิรูป และขณะนี้มีพรรคการเมืองบางพรรคที่จะเอาเรื่องของการปฏิรูปประเทศมาใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะการเมืองก็ต้องขึ้นกับกระแสของประชาชนด้วย หากประชาชนต้องการ การเมืองก็ต้องหันมาทำเรื่องนี้ตามความต้องการของประชาชน และจากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันทั่วโลกไม่มีภูมิภาคแล้ว เหลือเฉพาะส่วนกลางกับท้องถิ่นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้ามีจังหวัดปกครองตนเองมีหลายหน่วยงานที่เห็นด้วย แต่หน่วยงานที่กระทบมากที่สุด คือ มหาดไทย เพราะเขาจะสูญเสียอำนาจ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น