xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.นิรโทษฯ วุ่น เพื่อไทยจ่อตั้ง อนุ กมธ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.นิรโทษกรรม ถกกันวุ่นหลังซีกเพื่อไทยเสนอตั้ง อนุ กมธ.ด้านฝ่ายค้านโต้ไม่เห็นด้วย สุดท้ายเคาะแค่เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าหารือ

วันนี้ (29 ส.ค.) ที่อาคารรัฐสภา 3 ห้องประชุมงบประมาณ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ... ที่มี นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้หารือถึงการตั้งตำแหน่งที่ปรึกษาฯ โดย กมธ.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ยังคงปฏิเสธที่จะเสนอ ด้าน นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะ กมธ.จึงเสนอว่า การหาที่ปรึกษาที่มีความเป็นกลางนั้นเป็นเรื่องยาก ขอเสนอให้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ เพื่อให้ร่วมรับฟังแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง เช่น กลุ่มตัวแทนจากพันธมิตรฯ หรือ นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เป็นต้น เพราะมองว่าหากเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลนั้นจะกลายเป็นการซักถามระหว่างทนายกับโจทก์เหมือนในศาล

ซึ่งคณะ กมธ.ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย เนื่องจากอยากให้คณะ กมธ.ทุกคนทำงานได้อย่างเต็มที่ และยังสามารถเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงให้ข้อมูลได้ ส่วนที่ปรึกษานั้นคิดว่าควรตั้งที่ปรึกษาที่เป็นคนนอกมากกว่า ส่วน กมธ.สัดส่วนรัฐบาลมองว่าการตั้งที่ปรึกษาจากคนภายนอกจะยิ่งทำให้กระบวนการหารือยากขึ้น ดังนั้นควรตั้งที่ปรึกษาที่เป็นคนใน อย่างเช่น ส.ส.อาวุโส ที่มีประสบการณ์การทำงาน เป็นต้น โดย นายพิชิต อธิบายเพิ่มเติมว่า คณะ กมธ.35 คน ไม่ควรจะเป็นผู้ตัดสินใจแต่ฝ่ายเดียว เพราะสามารถคาดการณ์ได้เลยว่าเมื่อมีการหารือในประเด็นอะไร จะต้องโดนกล่าวหาว่าเป็นพวกมากลากไปอย่างแน่นอน เช่น หากหารือเพื่อกำหนดประเภทคดี หรือกำหนดตัวบุคคลว่าจะมีใครได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้บ้าง ก็จะเถียงกันไม่รู้จบแน่นอน จึงอยากให้คณะ กมธ.เลือกคณะอนุฯ ขึ้นมาเพื่อไปรับฟังความเห็นประชาชนอย่างรอบด้านแล้วมาเสนอให้ที่ประชุมได้พิจารณา ส่วน น.พ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอว่า ให้มีการเชิญนักวิชาการที่มีความเป็นกลางเข้าชี้แจง อย่างเช่น นักวิชาการที่จัดทำรายงาน ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) เป็นต้น

จากนั้น นายสามารถ ได้เปิดโอกาสให้ที่ประชุม กมธ.ได้พูดคุยเพื่อหารือถึงกรอบแนวทางการในการพิจารณาร่างฯนิรโทษกรรมกว้างขว้าง อาทิ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ประกอบด้วยใครบ้าง หรือกรอบระยะเวลาในการนิรโทษกรรมจะเริ่มและสิ้นสุดเมื่อใด เป็นต้น และได้สั่งให้ฝ่ายเลขาฯเตรียมข้อมูลผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่อยู่ในชั้น ศาล อัยการ ตำรวจ ราชทัณฑ์ และผู้ที่ถูกออกหมายจับ ตั้งแต่ระหว่าง 19 กันยายน 2549 - 10 พฤษภาคม 2554 เพื่อเป็นข้อมูลให้ กมธ.พิจารณา พร้อมทั้งขอหารือที่ประชุมว่า ในการประชุมครั้งต่อไปจะมีการเชิญบุคคลมาให้ข้อมูลหรือไม่

ด้าน นายอรรถวิทย์ สุวรรณภักดี ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนขอเสนอให้ผู้เสนอร่างฯนิรโทษกรรม คือ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กับนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้มีการอธิบายเจตนารมณ์ของการเสนอกฎหมาย ทั้งกรอบเวลา และตัวบุคคล ว่าจะมีใครบ้างที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้

ภายหลังการประชุม นายสามารถ ให้สัมภาษณ์ ว่า ในการประชุมครั้งถัดไปจะให้ นายวรชัย และนายสุนัย เสนอเจตนารมณ์ และให้คณะ กมธ.ได้ซักถาม และหลังจากนี้ไปก็จะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง และให้ข้อมูล เพื่อให้คณะ กมธ.ได้ตลกผลึกทางความคิดร่วมกัน ส่วนเรื่องการตั้งที่ปรึกษานั้นต้องคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่เข้ามาสร้างปัญหา และการตั้งคณะอนุกรรมาธิการนั้นคงจะต้องเฉพาะที่จำเป็นเมื่อต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมให้คณะ กมธ.เช่น หากต้องการข้อมูล 108 เวที ของกระทรวงมหาดไทยก็ค่อยตั้งอนุฯ ขึ้นมา


กำลังโหลดความคิดเห็น