xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“กำนันเทพ” -“หัวหน้ามาร์ค” ใครปฏิวัติใคร? ใครเสร็จใคร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-วันนี้ พรรคประชาธิปัตย์นำโดย “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่เพิ่งได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคอีกสมัยกำลังเดินอยู่บนสถานการณ์ที่ลำบากยิ่ง เพราะถ้าจะว่าไปแล้วได้ทิ้งไพ่หมดหน้าตักยืนเคียงข้างกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ด้วยการประกาศลาออกจากความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งพรรค และกำลังถูกบีบบังคับอย่างไม่มีทางเลือกจากมวลมหาประชาชนต่อการตัดสินใจบอยคอตการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

เพราะถึงนาทีนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากตัดสินใจบอยคอตการเลือกตั้งเท่านั้น

แต่ไม่ว่าจะเลือกเดินหน้าเข้าร่วมสังฆกรรมการเลือกตั้งหรือถอยหลังไม่ยอมเข้าร่วม ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบกับอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น

อีกทั้งยังไม่แน่ด้วยว่าถึงแม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป เปิดโอกาสให้มวลมหาประชาชนร่วมกำหนดกติกาเลือกตั้งเสียก่อน ก็ใช่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถเอาชนะคู่แข่งขันสำคัญคือพรรคเพื่อไทยได้ เพราะมวลมหาประชาชนที่ออกมาขับไล่ระบอบทักษิณอย่างล้นหลาม หาใช่เนื้อเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมดไม่

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในฟากของ “กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ก็มิได้แตกต่างกันสักเท่าไหร่ เพราะวันนี้คำถามที่นับวันยิ่งดังจากมวลมหาประชาชนก็คือ กำนันสุเทพจะนำพาไปในทิศทางใด ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงสมควรอย่างยิ่งที่จะจบในวันที่มวลมหาประชาชนพร้อมใจกันออกมาขับไล่ระบอบทักษิณในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 แล้ว แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถจัดการกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้

ไม่เพียงแต่มวลมหาประชาชนเท่านั้นที่ถาม ตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์เองก็ถามเช่นกัน เนื่องจากต้องยอมรับว่า ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และการที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจบอยคอยการเลือกตั้งจะทำให้มวลมหาประชาชนชนะได้จริงอย่างที่หลายคนคาดการณ์หรือไม่ เนื่องจากต้องไม่ลืมว่า เวลานี้ผู้นำเหล่าทัพกำลังนั่งนิ่งอยู่บนภูด้วยความสบายอกสบายใจเพราะฤทธิ์ถั่งเช่า ก็ยิ่งทำให้การเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนของกำนันสุเทพ อาจสะกดคำว่าชนะไม่เจอและต้องเดินไปตามเกมของนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร เพียงสถานเดียว

แต่ที่ดูจะหนักหนาสาหัสไปกว่านั้นคือ การที่อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ คนของกำนันสุเทพตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า คือการส่งสัญญาณกดดันโดยตรงไปที่นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ เพราะรู้ทั้งรู้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะประกาศท่าทีในวันที่ 21 ธันวาคม 2556 ดังเช่นที่นายศิริโชค โสภา ว่าที่รองเลขาธิการพรรค กล่าวว่า แปลกใจกับการออกมาแถลงดังกล่าว แต่เป็นสิทธิ์ที่สามารถกระทำได้

รวมทั้งปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า นี่คือสัญญาณที่อาจแสดงถึงรอยร้าวที่มีอยู่ระหว่างนายอภิสิทธิ์ ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย ให้การสนับสนุนกับกำนันสุเทพ เพราะถ้าตกลงกันได้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่กำนันสุเทพจะต้องเล่นเกมดังกล่าวแม้แต่น้อย เพราะหากยังจำกันได้ก่อนหน้านี้ไม่นานนักนายอภิสิทธิ์ ได้เข้าพบกำนันสุเทพ เป็นการส่วนตัวหารือกันสองต่อสองเป็นเวลานานนับชั่วโมงเลยทีเดียว

ที่สำคัญคือไม่รู้ว่ารอยร้าวดังกล่าวจะกลายเป็น “แผลเป็นที่ใหญ่หรือเล็ก” ต่อไปในภายภาคหน้าหรือไม่ แม้ปากของกำนันสุเทพจะบอกว่าไม่ได้กดดันและเคารพการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ก็ตาม

ยิ่งสำหรับนายอภิสิทธิ์ด้วยแล้วยิ่งต้องคิดหนัก เพราะทำไปทำมาทำท่าว่า แม้กำนันสุเทพจะลาออกพ้นจากพรรคไปแล้ว แต่กลับคือตัวแปรสำคัญที่กำหนดชะตากรรมของพรรคให้เดินไปในเส้นทางที่ตัวเองต้องการโดยที่นายอภิสิทธิ์ไม่อาจที่จะปฏิเสธ หรืออ้าปากโต้แย้งได้เลยแม้แต่นิดเดียว ซ้ำร้ายไม่รู้เสียด้วยซ้ำไปแล้ว เมื่อกำนันสุเทพ ชนะแล้ว พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์จะ win-win ไปพร้อมกับกำนันสุเทพด้วยหรือไม่

แน่นอน นายอภิสิทธิ์ย่อมมีสิทธิ์ที่จะคิดเยี่ยงนี้

กล่าวสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อมาพิจารณาตัวแปรในเวลานี้ คือการเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ต่อเนื่องด้วยการขับไล่ระบอบทักษิณ และเรียกร้องปฏิรูปประเทศไทยของมวลมหาประชาชน ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์ หนุนเนื่องอยู่เบื้องหลัง ซึ่งทำไปทำมาการณ์กลับกลายมาเป็นกับดัก กลับกลายมาเป็นเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์ ไล่ต้อนตัวเองเข้ามุมจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ก็ยิ่งออกอาการน่าเป็นห่วง ชนิดไม่ตายก็พิการอย่างที่นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ป้ายแดง ประเมินเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

ทางเลือกแรก หากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ลงรับสมัครเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. 2557 อะไรจะเกิดขึ้น?

ทางเลือกที่สอง หากพรรคประชาธิปัตย์ ลงรับสมัครเลือกตั้งตามที่กกต.กำหนด อะไรจะเกิดขึ้น?

หรือหาก กกต.เลื่อนการเลือกตั้งออกไปตามเสียงเรียกร้อง ให้สองฝ่ายตกลงกัน แล้วจากนั้นทุกพรรคการเมืองก็ลงสู่สนามเลือกตั้ง อะไรจะเกิดขึ้น? โอกาสชนะเลือกตั้งจะยังเป็นของพรรคประชาธิปัตย์อยู่หรือไม่

นักวิเคราะห์การเมืองหลายสำนัก ฟันธงตรงกันว่า ทางเลือกแรกหากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ลงรับสมัครเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์2557 จะเป็นแรงหนุนส่งให้การเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย โดยการจัดตั้ง “สภาประชาชน” ที่อาศัยกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 3 และมาตรา 7 มีความเป็นไปสูง และเป็นข้อพิสูจน์บารมีและอิทธิพลของนายสุเทพ ที่มีอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่าตัวเขาจะเก็บข้าวของออกจากพรรคมาแล้วก็ตาม

ทางเลือกนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สามสมัย คงได้แต่ทำใจยอมรับ เพราะถึงแม้ตัวเองจะประกาศยึดมั่นในระบบรัฐสภา ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยมากมายเพียงใด แต่องคาพยพภายในพรรคประชาธิปัตย์ ยังถูกครอบงำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หนุ่มหล่อนักเรียนนอกอย่างนายอภิสิทธิ์ จะไปขัดขืนอะไรได้ ซึ่งถ้าหากพิจารณาจากโครงสร้างพรรคใหม่ล่าสุด ก็เห็นแล้วว่า คนที่นายสุเทพ ให้การสนับสนุนยังมีบทบาทอยู่ในพรรคไม่ได้ด้อยไปกว่าขั้วของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่อย่างใด

การตัดสินใจไม่ลงรับสมัครเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ ยังสร้างความหวังว่าจะทำให้เกิดแรงกดดัน จนสามารถทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยอมเสนอพระราชกฤษฎีกาเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน หรือยอมถอยเพื่อหาทางออกอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้จะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้น แต่ประชาธิปัตย์ก็ไม่มีทางเลือกอื่นหากไม่อยากได้ชื่อว่าหักหลังมวลมหาประชาชน ทรยศต่อนายสุเทพ และถูกตราหน้าว่าเป็นพวกฉวยโอกาสตีกินหวังผลเลือกตั้งเท่านั้น

แต่ยังมีคำถามต่อเนื่องจากการเลือกแนวทางไม่ลงรับสมัครเลือกตั้งนี้ว่า หากไม่ลงเลือกตั้งแล้ว ประชาธิปัตย์ จะอย่างไรต่อ จะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าจะชนะ และจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อหนุนหลังนายสุเทพ และมวลมหาประชาชนสู้จนสุดซอยแล้ว ที่ปลายซอยมีอะไรรอคอยอยู่

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม หากพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศบอยคอตเลือกตั้ง สืบสานต่อเจตนารมณ์สนับสนุนมวลมหาประชาชนดังที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ที่ส.ส.ประชาธิปัตย์ นำโดยนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคที่ประกาศอย่างห้าวหาญลาออกจากส.ส.ยกพรรค จนเกิดคลื่นมหาชนออกมาไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ล้นหลาม ทางเลือกนี้จะสร้างคุณูปการต่อการเคลื่อนไหวของกำนันสุเทพ อย่างยิ่ง

และเป็นทางเลือกที่หลายฝ่ายลุ้นอย่างใจจดใจจ่อว่าสุดท้ายแล้วประชาธิปัตย์ ต้องเลือกหนทางนี้ ซึ่งเป็นหนทางที่จะว่าไปแล้วก็เหมือนกับการไปตายเอาดาบหน้า เพราะทั้งนายอภิสิทธิ์และกำนันสุเทพ เองก็คาดเดาได้ยากเหมือนกันว่า จุดหมายปลายทางปฏิรูปประเทศที่ว่าๆ กันอยู่ในเวลานี้ จะไปอย่างไร จะไปถึงหรือไม่ และจะใช้เวลาอีกนานแค่ไหน

หากพรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ บอกได้คำเดียวว่า นี่คือการเสียสละที่ยิ่งใหญ่

แต่ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ เลือกหนทางที่สอง คือ ลงรับสมัครเลือกตั้ง ตามเกมที่พรรคเพื่อไทยและ นช.ทักษิณ วางไว้ ก็บอกได้ทันทีว่า พรรคประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ตายทันที ไม่ใช่ไปตายเอาดาบหน้าอย่างทางเลือกแรก

อย่าคิดว่า มวลมหาประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในเวลานี้จะสนับสนุนหรือเทคะแนนเสียงให้กับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะหากคิดเช่นนั้นก็เหมือนการหลงภาพลวงตา

ต้องย้ำอีกครั้งว่ามวลชนที่ออกมาไม่ใช่เนื้อเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด แม้ว่ามวลชนประมาณ 5 ล้านคนที่ออกมาไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นฐานจัดตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ก็ตาม แต่อารมณ์คนกรุงเทพฯ ที่มีความเป็นปัจเจกสูง การตัดสินใจรักพรรคไหน ชอบใคร ก็เห็นอยู่แล้วว่า สนามนี้เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ตลอดเวลา ใช่ว่าจะรักเดียวใจเดียวเลือกพรรคประชาธิปัตย์ทุกครั้งเหมือนกับที่คนใต้ต้องเลือกประชาธิปัตย์เสียเมื่อไหร่

หากก๊กเหล่าในประชาธิปัตย์ที่หนุนลงเลือกตั้งคิดว่ากระแสมาแล้ว บอกได้ว่าคิดผิดถนัด เพราะทันทีที่พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศลงรับสมัครเลือกตั้ง กระแสมวลมหาประชาชนจะตีกลับทันที เจอแน่ทั้งข้อหาหักหลังกำนันสุเทพ ทั้งข้อหาหักหลังมวลชน ทั้งข้อหานักตีกินฉวยโอกาส และประชาธิปัตย์ก็จะแพ้ตั้งแต่ในมุ้งยังไม่ลงสนามหาเสียงเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำ

แจกแจงรายละเอียดลงไปในแต่ละสนามเลือกตั้ง พื้นที่กรุงเทพฯ ประชาธิปัตย์แพ้แน่ๆ เพราะคนกรุงเทพฯ รู้สึกเหมือนถูกตบหน้าอย่างจัง ชี้หน้าประชาธิปัตย์ว่าที่ทำท่าขึงขังลาออกจาก ส.ส.ยกพรรคที่แท้ก็เพื่อหลอกล่อขอคะแนน ดังนั้นแค่คิดก็ผิดแล้ว

ส่วนสนามภาคใต้ ชัดเจนแล้วว่า ส.ส.ในหลายจังหวัดภาคใต้ชิงออกมาประกาศไม่ลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นการกดดันพรรคตั้งแต่ไก่โห่แล้ว หากยังดื้อดึงลงเลือกตั้งอีกก็มีสิทธิ์แพ้ เพราะหลายสนามในภาคใต้ใครก็รู้ว่ากำนันสุเทพ เขามีอิทธิพลแค่ไหน

สำหรับภาคอีสาน ไม่ต้องพูดถึงเพราะพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยลงทุนสร้างฐานการเมือง ไม่ลงพื้นที่ ไม่ทำความเข้าใจคนอีสาน ตลอดช่วงระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ ไม่สามารถสร้างฐานการเมืองลงหลักปักฐานในพื้นที่เลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศได้แม้แต่สมัยเดียว หลังจาก “อีดี้จวบ” นายประจวบ ไชยสาส์น อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย้ายหนีเข้าซบอกนายบรรหาร ศิลปอาชา แห่งพรรคชาติไทยหรือชาติพัฒนาในเวลานี้ ก่อนที่จะตั้งพรรคเสรีธรรมแล้วยุบพรรคโผสู่อ้อมกอดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ารับในตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กระทั่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเมื่อปี 2549 เป็นเวลา 5 ปี และเพิ่งพ้นโทษมาหมาดๆ

นั่นเป็นเหตุปัจจัย เป็นตัวแปรที่พลิกผลแพ้ชนะที่ยังคงดำรงอยู่และยังจะดำเนินต่อไปไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะลงเลือกตั้งในครั้งนี้หรือไม่ก็ตาม

การจะปลูก “สะตอ” ในถิ่นอีสานนั้นใครก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก แต่ที่หนักกว่าคือ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยคิดริเริ่ม เพียรพยายามฝังเม็ด พรวนดิน รดน้ำ ให้สะตอ แตกหน่อ แตกใบ ขยายพันธุ์ให้งดงามเลย ทั้งที่สนามเลือกตั้งภาคอีสานเป็นพื้นที่สำคัญที่สุดเพราะมีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ใครยึดกุมหัวใจคนภาคนี้ได้จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม เชื่อขนมได้เลยว่าชนะเลือกตั้ง เตรียมตัวเป็นรัฐบาลได้

เรื่องนี้ “พ่อใหญ่จิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แห่งพรรคความหวังใหม่ ผู้ประกาศสร้างอีสานเขียว หรือ นช.ทักษิณ ต่างมองทะลุและเข้าใจดี ทักษิณจึงลงทุนส่งกุนซือพรรคที่เป็นอดีตพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ลงคลุกพื้นที่ก่อนที่จะจัดตั้งพรรคไทยรักไทย และจนถึงขณะนี้พรรคเพื่อไทย ของ นช.ทักษิณ ก็ไม่เคยหยุดนิ่งในการซื้อใจคนอีสานเพราะรู้ว่านี่คือสนามชี้วัดผลแพ้ชนะ

ถามว่า การปรับโครงสร้างพรรคล่าสุด ประชาธิปัตย์เลือกใครเป็นรองหัวหน้าภาคอีสาน ชื่อคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ที่ประชาธิปัตย์คัดสรรมาให้ลุยสนามนี้นั้น ชื่อเสียงเรียงนามนี้บอกได้เลยว่าคนในพื้นที่ก็ไม่มีใครรู้จัก

แล้วเมื่อไหร่พรรคประชาธิปัตย์ จะมีครีเอทีฟทางการเมือง สามารถสร้างฐานการเมือง สร้างฐานมวลชนสู้กับพรรคเพื่อไทยในสนามภาคอีสาน สนามเลือกตั้งที่ตัดสินแพ้ชนะได้เสียที เพราะไม่เช่นนั้น ประชาธิปัตย์ ก็คงมีแต่แพ้แล้วแพ้อีกร่ำไป ซึ่งนั่นหมายถึงว่า แม้จะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป รอให้มีสภาประชาชน เขียนกติกาปฏิรูปกัน ใหม่ ก็ไม่แน่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะเอาชนะการเลือกตั้งได้ เป็นความหวังปฏิรูปประเทศไทยได้

ยิ่งคราวนี้ ทหารนั่งตีขิมรอตีกิน ไม่แสดงท่าทีเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชัดเจน และปฏิเสธแข็งขันไม่ทำรัฐประหารแน่นอน ขณะที่สภาประชาชนที่จะริเริ่มขึ้นก็ยังก่อเกิดไม่ได้ ไปไม่เป็น หรือต่อให้เกิดกลียุคจนทหารต้องออกมารัฐประหาร การปฏิรูปประเทศไทยหลังจากนั้น จะซ้ำรอย ประวัติศาสตร์หลัง 19 กันยาฯ 49 อย่างที่เห็นๆ กันอยู่หรือไม่ ก็ยังเป็นคำถาม

แต่ถ้าหากให้เดาใจนายอภิสิทธิ์ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า อาจไม่ได้คิดไปไกลถึงขั้นกำนันสุเทพเรื่องสภาประชาชน หากแต่อาจคิดหวังผลเฉพาะหน้าเพียงแค่ทำอย่างไรถึงจะให้เลื่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ออกไปได้เท่านั้น

19 ธันวาคม 2556

นายอภิสิทธิ์แสดงท่าทีทางการเมืองออกมาชัดเจนผ่านการให้สัมภาษณ์ภายหลังการแถลงของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เสนอให้ฝ่ายการเมืองไปหารือเกี่ยวกับการเลื่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากเกรงว่าอาจจะเกิดความวุ่นวายว่า “ผมก็ได้เสนอแล้วว่าเป็นห่วงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่ความวุ่นวายได้ ซึ่งจะเป็นความเสียหายกับระบบ ส่งผลรุนแรงต่อความไว้วางใจของประชาชนที่พึงจะมีต่อนักการเมืองและพรรคการเมือง ในส่วนตัวแทนนักธุรกิจก็ฟันธงว่าสังคมไม่เชื่อถือสัตยาบันของพรรคการเมือง เพราะการเลือกตั้งถูกมองว่าเป็นเรื่องการช่วงชิงอำนาจของนักการเมืองเท่านั้นเอง พรรคภูมิใจไทยก็ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใย และ กกต.ก็ชี้ให้เห็นว่าอยากให้ฝ่ายการเมืองเป็นผู้เริ่มต้นในการแสดงเจตนาเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ผมในฐานะเป็นพรรคการเมืองหนึ่ง ยืนยันว่าการเลือกตั้งโดยยึดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นปัญหาแน่นอน และจะทำให้บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่มีความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น ส่วนวิธีการต่าง ๆ จะต้องช่วยกันต่อไป อย่าได้เอาอะไรมาเป็นตัวตั้งแล้วบอกว่าอะไรก็ทำไม่ได้ ปล่อยให้บ้านเมืองเดินเข้าสู่ความเสียหายนี่คือสิ่งที่ผมอยากเรียกร้อง”

และที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นคือสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ระบุเอาไว้ว่า “สถาการณ์วันนี้ไม่ใช่เรื่องจะส่งหรือไม่ส่งผู้สมัคร เพราะทุกคนก็ยอมรับว่าต้องมีการเลือกตั้ง แต่เห็นว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ทั้งที่ยังมีปัญหาหลายเงื่อนไขน่าจะไม่ราบรื่น จึงไม่ใช่เรื่องว่าจะลงสมัครหรือไม่ หรือปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่เป็นภาวะการณ์ที่เรามองเห็นว่าการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่น่าจะนำไปสู่ความเสียหายให้กับบ้านเมือง ข้อเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งเป็นคนละประเด็นกับเรื่องการจะลงตัวผู้สมัคร เพราะขณะนี้มีอยู่ในขั้นตอนของพรรคที่จะพิจารณาในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะมีการรับฟังความเห็นจากสาขาพรรคทั่วประเทศ และอดีตส.ส. ซึ่งทั้งหมดเตรียมทำข้อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมแล้ว ดังนั้นผมจึงไม่ได้พูดว่าจะลงหรือไม่ลงเลือกตั้ง เพียงแต่แสดงเจตนาว่าพรรคประชาธิปัตย์ อยากให้มีการเลื่อนการเลือกตั้ง”

ด้วยเหตุดังกล่าว สุดท้ายแล้ว งานนี้บทสรุปของการทำศึกกับระบอบทักษิณของกำนันสุเทพครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์อาจไม่ได้จบสวยหรูงดงาม แต่ “ความเสียสละ” ของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นที่จดจำไปอีกนาน และว่ากันอย่างตรงไปตรงมาอาจจะเสียสละมากกว่ากำนันสุเทพเสียด้วยซ้ำไป

แต่ที่น่าเศร้าใจก็คือ ไม่ว่าฝ่ายไหนจะชนะก็ตาม คนที่จะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์โดยแทบไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรก็คือ “พรรคสีเขียว” ที่บัดนี้กำลังยิ้มกริ่มและฝันอร่อยด้วยวลีสั้นๆ แต่บาดลึกลงไปในหัวใจคนไทยผู้รักชาติว่า “เสร็จกู”







กำลังโหลดความคิดเห็น