xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปชป.ทุบหม้อข้าวตีเมือง ปชป.แบะท่าลงเลือกตั้ง “กำนันเทือก” กลุ้มโว้ย....

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การตัดสินใจลาออกยกพรรคของประชาธิปัตย์ เกิดแรงหนุนส่งให้มวลมหาประชาชนเข้าร่วม “ยุทธการทุบหม้อข้าวตีเมือง” พลิกหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเก็บเกี่ยวชัยชนะในยกแรก โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาก่อนเวลาเคลื่อนขบวนใหญ่จากทุกสารทิศของมวลชนไม่ถึงชั่วโมง

งานนี้ต้องยกเครดิตให้พรรคประชาธิปัตย์ ที่กล้าตัดสินใจในนาทีสุดท้าย ถึงแม้จะมาช้าแต่ดีกว่าไม่มา เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่แน่ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จะต้องกลายเป็นกบฏดังคำประกาศแตกหักไม่ชนะยอมมอบตัวรับข้อหากบฏในวันสุกดิบก่อนการเคลื่อนทัพใหญ่ 9 ธันวาฯ 56 หรือไม่

อันที่จริงแล้ว หมากตานี้นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคยเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ พิจารณาใช้เป็นแนวทางในการต่อสู้กอบกู้บ้านเมืองจากระบอบทักษิณมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะมองเห็นทะลุปรุโปร่งว่าเผด็จการเสียงข้างมากในสภาทาส ไม่มีทางที่พรรคประชาธิปัตย์จะทำอะไรรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยที่กุมเสียงข้างมากในสภาได้ แต่ข้อเสนอจากนายสนธิในวันก่อนหน้าก็ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ จากพรรคประชาธิปัตย์

จวบจนวันที่นายสุเทพ ตัดสินใจนำทัพ กปปส. และการเคลื่อนไหวของมวลชนกดดันให้สถานการณ์เข้าสู่จุดที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องตัดสินใจเข้าช่วย กปปส.หรือจะลอยตัวอยู่ในสภาสร้างความชอบธรรมให้กับสภาทางและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่อไป ซึ่งนั่นก็จะทำให้อนาคตของพรรคประชาธิปัตย์มีสิทธิ์สูญพันธุ์โดยเฉพาะในสนามกรุงเทพฯ และไม่แน่ว่าคนในพื้นที่ภาคใต้ที่เคยรักประชาธิปัตย์เหนียวแน่นไม่เปลี่ยนแปลงก็อาจมีสิทธิ์เปลี่ยนใจได้หากเห็นประชาธิปัตย์ลอยแพกำนันสุเทพ

การขึ้นเวทีปราศรัยของนายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล บนเวทีกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) ในคืนวันที่ 7 ธ.ค. เป็นอีกหนึ่งเสียงที่กระตุ้นให้พรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจ เพราะนายจิตตนาถ ได้ส่งเสียงเตือนให้พรรคประชาธิปัตย์อย่าลืมว่าส.ส.ของพรรคที่อยู่ในสภาอยู่ไปก็ทำอะไรไม่ได้ หากรอให้ป.ป.ช.ชี้มูลส.ส.312 คน หมดสภาพ สภาก็ไม่ได้ล่มตามไปได้ หากหรือมีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่พรรคประชาธิปัตย์ก็แพ้หรือต่อให้ชนะก็ต้องไปรวมกับพรรคภูมิใจไทย นายบรรหาร ศิลปอาชา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ซึ่งไม่ใช่ที่มวลมหาชนต้องการ การสู้กับประชาชนเพื่อล้มระบอบทักษิณ “ประชาชนเขาตกผลึกแล้วเขาต้องการปฏิรูป เช่นนี้ตกลงพวกท่านจะเอาอย่างไรช่วยให้คำตอบมวลชนหน่อย” และหากส.ส.ประชาธิปัตย์ลาออกยกพรรคก็เท่ากับทางถอยของรัฐบาลจะถูกปิดโดยเด็ดขาด คนไทยก็พร้อมใจกันออกมาทุบหม้อข้าวตีเมือง

ในที่สุด พรรคประชาธิปัตย์ ก็พลิกบทจากท่าทีกึกๆ กักๆ มายืนอยู่ข้างมวลมหาประชาชน เป็นความหวังในการเปลี่ยนโฉมหน้าปฏิรูปประเทศร่วมกับประชาชน โดยการลาออกยกพรรคเป็นการแสดงจุดยืนสนับสนุนการคืนอำนาจให้กับประชาชนและการปฏิรูปประเทศ เท่ากับปิดหนทางถอยของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ไปโดยปริยาย

ในวันประชุมพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. เพื่อตัดสินใจครั้งสำคัญนั้น ไม่มี “นายหัวชวน” นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาฯ ที่ว่ากันว่าเป็นผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการลาออกยกพรรคเข้าร่วมประชุมอยู่ด้วย วันนั้นทางพรรคได้พิจารณาข้อเสนอของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน สภาที่ปรึกษาฯ ที่เสนอให้มีการลาออกยกพรรค โดยส.ส.ใช้เวลาถกเถียง วิเคราะห์ในหลายแง่มุม โดยเฉพาะการแสดงจุดยืนของพรรคที่ชัดเจน กระทั่งที่ประชุมมีมติเห็นด้วยที่จะลาออกยกพรรคเป็นเอกฉันท์

“ที่ประชุม ส.ส.ของพรรคเห็นพ้องต้องกันว่าหมดเวลาที่จะรอคอยรัฐบาลแสดงความรับผิดชอบแล้วหลังจากที่รอคอยมานาน พรรคจึงต้องยืนยันความไม่ชอบธรรมของสภาชุดปัจจุบันของหัวหน้ารัฐบาลที่ไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออกมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป .... พร้อมกับยืนยันว่าพรรคไม่ประสงค์เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ยังยึดมั่นระบบรัฐสภา แต่ระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลกมาพร้อมสำนึกความรับผิดชอบ เมื่อมีการสูญเสียความไว้วางใจในวงกว้าง ทำผิดกฎหมาย รัฐธรรมนูญ ทั่วโลกในระบบรัฐสภาต้องแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่เอาระบบรัฐสภามาเป็นตัวประกันความประสงค์ที่จะอยู่ในอำนาจอีกต่อไป

“พรรคฯ ได้แสดงจุดยืนว่าสนับสนุนการคืนอำนาจให้กับประชาชนและการปฏิรูปประเทศ แต่รูปแบบวิธีการที่จะดำเนินการยังมีความหลากหลายอยู่ ซึ่งนักวิชาการบางคนเปรียบเทียบว่า ถ้าบ้านเมืองหรือระบบสภาเหมือนบ้าน เมื่อปี 2544 เจ้าของบ้านคือประชาชนมอบให้เสียงข้างมากปัจจุบันเป็นผู้ดูแลบ้าน ส่งพวกตนไปช่วยตรวจสอบ คนที่ได้รับมอบให้ดูแลบ้านจุดไฟเผาบ้านและลักขโมยถูกจับได้ประชาชนบอกไม่มีความชอบธรรมที่จะดูแลบ้านอีกต่อไป คนที่เป็นขโมยและจุดไฟเผาบอกไม่รู้ว่าจะสร้างบ้านอย่างไร วันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของท่านแล้วแต่ต้องดับไฟไล่ขโมยก่อนแล้วสังคมไทยจะบอกเองว่าจะสร้างบ้านอย่างไร....” นายอภิสิทธิ์ แถลงชัดเจน

การตัดสินใจของนายสุเทพและพรรคประชาธิปัตย์ ที่พร้อมออกมาสู้กับมวลมหาประชาชนนั้น นายสนธิ ลิ้มทองกุล คนจุดเทียนแห่งธรรมเล่มแรกเมื่อ 7 ปีก่อนได้แสดงความยินดีและพร้อมเข้าร่วมขบวนโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ โดยนายสนธิ ได้ปราศรัยในวันที่ 9 ธ.ค. หน้าบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ ก่อนเคลื่อนขบวนไปสมทบกับกลุ่ม คปท. ว่า 7 ปีที่ผ่านมาเราได้สู้เพื่อชาติแบบหัวเดียวกระเทียมลีบโดยที่สังคมไม่เข้าใจการต่อสู้ของเราอย่างถ่องแท้ พวกเขาต้องใช้เวลา 7 ปี ถึงเข้าใจว่าที่เราสู้มามีความหมายอย่างไร 7 ปีของความขมขื่นชอกช้ำ ถูก หักหลัง ถูกกลั่นแกล้ง แต่จิตใจพี่น้องแข็งแกร่งยิ่งกว่าเพชร วันนี้นายสุเทพกลับเนื้อกลับตัว ทุกอย่างที่พูดเหมือนองค์สนธิลงในตัวสุเทพ เราไม่เคยเรียกร้องอะไรเลย เราเรียกร้องเพื่อชาติเท่านั้น

“วันนี้นายสุเทพเหมือนโจรกลับใจ แต่นายสุเทพ ก็ต้องรับเวรรับกรรมไป ที่พูดไม่ได้ฟื้นฝอยแต่ต้องเข้าใจว่าเราไม่ได้ต้องการแย่งชิงการนำ แต่ไปในฐานะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตนบอกมาเป็นเดือนให้ลาออกแล้วตนจะเดินตาม วันนี้เขาทำตามถึงแม้จะช้าแต่ก็ไม่เป็นไร วันนี้เราเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เราจะเคลื่อนไปสมทบกับเขา ช่วยเขาโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะพันธมิตรฯ ไม่เคยมีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น

“เราต้องแสดงน้ำใจให้เห็นว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้อภัยได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ลืม ถ้าเขาทำงานเพื่อชาติแล้วจริงใจจริงเราให้อภัยได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ไม่ได้สู้เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มึงเจอกูอีกแน่” นายสนธิ ลั่นวาจา

เมื่อตัดสินใจเข้าร่วมยุทธการตีเมืองจนสำเร็จในก้าวแรก ทางพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงจุดยืนของพรรค 4 ข้อ ต่อสาธารณชน คือ

1.การที่พรรคมีมติให้ ส.ส.ลาออก ไม่ได้หวังกดดันให้ยุบสภา แต่เป็นปฏิเสธรัฐสภาชุดนี้ว่าไม่มีความชอบธรรม

2.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีความจริงใจในการหาทางออกให้กับประเทศ เป็นการยุบสภาเมื่อจนตรอก ซึ่งช้าไปเพราะมีผู้เสียชีวิตแล้ว จนทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯมือเปื้อนเลือดไปแล้ว

3.อยากให้พรรคเพื่อไทยทบทวนบทบาทของตัวเอง ที่มีพฤติกรรมไม่เคารพรัฐสภา

และ 4.พรรคพร้อมหาทางออกให้กับประเทศ แต่ทางออกจากวิกฤตไม่ได้จบลงแต่การยุบสภา ซึ่งพรรคจะเรียกประชุมในเร็วๆ นี้ เพื่อหารือถึงทางออกที่เหมาะสม ทั้งนี้การเลือกตั้งที่มีการแข่งขันด้านนโยบายเป็นสิ่งสำคัญ แต่การแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบในสัญญาประชาคมว่าจะไม่ทำลายประเทศ จะเคารพรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งสำคัญที่พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้พูดถึง

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นานนัก ก็เกิดปัญหาชวนให้ต้องขบคิดและตีความให้ปวดหัว เมื่อทางพรรคประชาธิปัตย์ ยังแทงกั๊กเรื่องการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเลือกตั้งที่ 2 ก.พ. 57 โดยจะมีการหารือกันอีกครั้งในการประชุมพรรควันที่ 16 - 17 ธ.ค. นี้เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งจะเป็นผู้มาพิจารณาว่าบอยคอตการเลือกตั้งหรือจะร่วมสังฆกรรมหรือไม่

พอพรรคประชาธิปัตย์แสดงท่าทีเยี่ยงนี้ ก็กลายเป็นประเด็นขึ้นมาทันที เพราะว่าถ้าหากประชาธิปัตย์ ซึ่งอุตส่าห์ลาออกยกพรรคมาร่วมเคลื่อนไหวกับมวลมหาประชาชนแล้วกลับเข้าไปร่วมสังฆกรรมการเลือกตั้งที่ไม่ได้มีอะไรปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเลย ก็เท่ากับว่าที่ทำๆ มานั้น เสียของเปล่าๆ ปลี้ๆ เพราะมวลชนจะถูกแบ่งแยกออกเป็นสองฝักสองฝ่าย ฟากหนึ่งเดินตามทางปฏิรูปโดยประชาชนที่มีนายสุเทพ เป็นแกนนำ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะหาทางออกให้กับประเทศอย่างไรหากถึงที่สุดแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ต้องเข้าร่วมสังฆกรรมกับพรรคการเมืองหน้าเดิมๆ ที่มีแต่สร้างปัญหาแทนที่จะปฏิรูปประเทศชาติ พัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนำรุ่น 2 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย วิเคราะห์ว่า การที่ประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งจะเป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้ของนายสุเทพอย่างแน่นอน ทั้งนี้ หากประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งจะแบ่งมวลชนเป็นสองฝั่ง คือ ฝั่งนายสุเทพที่สนับสนุนสภาประชาชน ส่วนหนึ่งก็จะสนับสนุนประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน เสียงประชาธิปัตย์ก็จะแตกด้วย เพราะจะมีส่วนหนึ่งมองว่าพรรคไม่เสียสละให้การชุมนุมของนายสุเทพ แล้วคะแนนเสียงที่เลือกพรรคอาจไม่มากอย่างที่คิด เพราะประชาชนต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง หรือไม่เช่นนั้นประชาชนต้องกดดันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้เป็นไปทางเดียวกัน

“อย่าพูดว่าเขาแบ่งบทกันเล่น นั่นเป็นการดูถูกประชาธิปัตย์และนายสุเทพด้วย เพราะเป็นการหลอกประชาชน เราคงต้องหาทางให้เป็นเอกภาพ โดยต้องตอบคำถามว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ การมีประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้งหรือไม่มี อะไรเกิดประโยชน์มากกว่ากัน ถ้าประชาชนแยก 2 กลุ่ม ประชาชนอ่อนแรงลงทันที ถ้านายสุเทพเชื่อประชาธิปัตย์ยอมเสียมวลชน คนก็จะตั้งคำถามว่าที่พูดมาว่าไม่สู้เพื่อพรรค นายสุเทพก็จะเสียหายหนัก ส่วนประชาธิปัตย์ถ้าลง คะแนนเสียงอาจไม่มากไปกว่าเดิมมากนัก เพราะมวลชนแบ่งไปที่นายสุเทพด้วย เหมือนพันธมิตรฯตอนโหวตโน แต่อาจหนักกว่า เพราะกระแสของนายสุเทพสูงมาก ถ้าประชาธิปัตย์เดินเกมนี้ต่อไปอาจเสียเปรียบการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์อาจไม่สนใจว่าจะแพ้หรือชนะเพราะเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา แต่มันบั่นทอนการต่อสู้ของนายสุเทพไปทันที นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำความชอบธรรมให้ระบอบทักษิณให้สูงเด่นกว่าดิม ถ้ากลับมาจะยิ่งใหญ่กว่าเดิม อาจทำอะไรหนักกว่าเดิม”

ต้องติดตามมติของพรรคประชาธิปัตย์ ในวันประชุมพรรควันที่ 16 - 17 ธ.ค.นี้ว่า จะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งสังฆกรรมกับพรรคเพื่อไทยและบรรดาพรรคไดโนเสาร์เต่าล้านปีหรือไม่ แต่หากอ่านสัญญาณจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยึดมั่นในระบบรัฐสภาอย่างเหนียวแน่นก็เชื่อขนมกินล่วงหน้าได้เลยว่า ประชาธิปัตย์เองกำลังตระเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 โดยเชื่อว่าคะแนนนิยมของพรรคจะพุ่งสูงพอฟัดพอเหวี่ยงกับเพื่อไทยที่กำลังเพลี่ยงพล้ำอย่างหนัก

ส่วนมวลมหาประชาชนที่เดินตามกำนันสุเทพ ก็ขอให้รอประชาธิปัตย์เข้าสภาแล้วเราจะปฏิรูปประเทศไทยไปด้วยกัน อย่างนี้ เอาไม่เอาพี่น้อง



กำลังโหลดความคิดเห็น