ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การดำรงอยู่ของวิกฤติการณ์ทางการเมืองในสังคมไทยตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมานี้มีปมปัญหาสำคัญสามประการซึ่งเชื่อมโยงกันคือความด้อยคุณภาพของกระบวนการเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจเยี่ยงทรราชขัดหลักนิติธรรมและฉ้อฉล และความอ่อนแอของกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจ ในท่ามกลางการพยายามของประชาชนเพื่อปฏิรูปเปลี่ยนแปลงคุณภาพของทั้งสามเรื่องนี้ กลับมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งพยายามทำให้ความด้อยคุณภาพของการเมืองไทยดำรงอยู่ต่อไป พวกนี้เรียกตนเองว่า สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) หากแต่เนื้อแท้ของการกระทำที่แสดงออกมาไม่ต่างไปจากสิ่งที่เรียกว่า “สมัชชาปกป้องทุนสามานย์ทรราช (สปป.)”
โดยทั่วไป ระบอบประชาธิปไตยมีความชอบธรรมและเข้มแข็งได้เมื่อกระบวนการเข้าสู่อำนาจมีความยุติธรรมและเที่ยงธรรม หากไร้ซึ่งเงื่อนไขสองประการนี้แล้ว ความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยก็จะลดลง แม้ว่าสังคมประชาธิปไตยใช้การเลือกตั้งเป็นวิธีการเข้าสู่อำนาจ แต่ย่อมมิใช่การเลือกตั้งที่ด้อยคุณภาพและตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มอิทธิพลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะการเลือกตั้งเช่นนั้นย่อมสร้างปัญหาทางการเมืองตามมาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ในประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศ การเลือกตั้งที่ด้อยคุณภาพได้กลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้แก่ “กลุ่มอำนาจนำ” ที่มีอิทธิพลสูงในสังคมนั้นๆ เช่น การเลือกตั้งในประเทศพม่าเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการครองอำนาจให้แก่กลุ่มทหาร การเลือกตั้งของกัมพูชาสร้างความชอบธรรมให้แก่เครือข่ายนายฮุนเซน เป็นต้น อย่างไรก็ตามประชาชนจำนวนมากในประเทศทั้งสองที่รู้เท่ากันเล่ห์เหลี่ยมและกลเกมทางการเมืองของกลุ่มอำนาจนำ ก็จะแสดงออกทางการเมืองโดยไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่ด้อยคุณภาพในประเทศของตน
การกล่าวหาว่าประชาชนผู้ไม่ยอมรับการเลือกตั้งแบบด้อยคุณภาพ เป็นผู้ไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นการด่วนสรุปอย่างตื้นเขินและหยาบกระด้างทางปัญญาของผู้ไม่รู้บริบทความเป็นจริงทางสังคม หรือเป็นผู้ที่เข้าใจประชาธิปไตยอย่างผิวเผินเท่านั้น หรือมิฉะนั้นก็เป็นผู้สนับสนุนกลุ่มอำนาจที่มีอิทธิพลในสังคม
ในสังคมไทยมีความจริงเชิงประจักษ์มากมายที่บ่งบอกให้เห็นถึงความด้อยคุณภาพของการเลือกตั้ง เช่น นักการเมืองใช้เงินซื้อเสียงและแจกสิ่งของเป็นสินบนแก่ผู้เลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนอำนวยความสะดวกแก่การซื้อเสียงของนักการเมืองและบีบบังคับชาวบ้านให้เลือกผู้สมัครที่ตนสนับสนุน หรือการซื้อเสียงโดยใช้นโยบายประชานิยมของพรรคการเมือง เป็นต้น
ภายใต้การเลือกตั้งด้อยคุณภาพ สกปรก และเปี่ยมล้นไปด้วยการทุจริตนานับประการเช่นนี้จึงทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็น ส.ส.เกือบทั้งหมดคือนายทุนหรือสมุนนายทุนที่ใช้เงินซื้อเสียง ซึ่งอยู่ในเครือข่ายของนายทุนเจ้าของพรรคและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น หรือผู้ควบคุมกลไกรัฐได้ และมีเล่ห์เหลี่ยมในการใช้นโยบายประชาชนนิยมแบบสุดขั้วล่อลวงผู้เลือกตั้ง
ดังนั้นในบริบทของสังคมไทย การสนับสนุนการเลือกตั้งที่ด้อยคุณภาพก็เท่ากับว่าสนับสนุนกลุ่มทุนสามานย์ที่สังกัดระบอบทักษิณ ส่วนในประเทศกัมพูชาก็คือการสนับสนุนเผด็จการฮุนเซนนั่นเอง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมนักวิชาการบางคนที่สนับสนุนการเลือกตั้งที่ด้อยคุณภาพของไทย จึงมักให้การสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการระบอบทักษิณกับรัฐบาลเผด็จการฮุนเซนไปพร้อมๆกันด้วย และต่อไปก็คงสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการพม่า พร้อมๆกันนั้นพวกนี้ก็อาจวิจารณ์ ออง ซาน ซู จี ที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าว่าไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะว่ารัฐบาลพม่ามาจากการเลือกตั้งนั่นเอง
ขณะนี้สังคมไทยมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป,) ประกาศจุดยืนปกป้องการเลือกตั้งที่ด้อยคุณภาพ โดยเรียกร้องให้ประชาชนเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งและให้ประชาชนแสดงเจตจำนงทางการเมืองของตนผ่านกลไกการเลือกตั้ง โดยหลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว พวกเขาเชื่ออย่างงมงายว่าจะให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการปฏิรูปการเมืองการปกครองและระบอบรัฐธรรมนูญให้เป็นนิติรัฐ-ประชาธิปไตยต่อไป
นักวิชาการพวกนี้อาจแกล้งทำเป็นไม่ทราบว่าการเลือกตั้งไทยหาได้เป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างเสรีของประชาชนเสียทั้งหมดดังการเลือกตั้งของประเทศตะวันตก ตรงกันข้ามหลักฐานจากการวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวนมากชี้ว่า เจตจำนงในการเลือกตั้งของผู้เลือกตั้งไทยส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้การชักจูงด้วยอามิสสินจ้างและมายาคติหรือการหลอกลวงโดยกลุ่มทุนนักการเมืองเป็นหลัก มีเพียงผู้เลือกตั้งส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถแสดงเจตจำนงอย่างเสรีและตัดสินใจเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ มีเหตุผลเชิงเศรษฐกิจและเชิงคุณธรรม
ยิ่งกว่านั้นนักวิชาการพวกนี้ปิดตาและปิดหูตนเองแสร้งมองไม่เห็นและไม่ได้ยินเสียงของมวลมหาประชาชนนับหลายล้านคนที่แสดงเจตจำนงอย่างเสรี โดยการลุกออกจากบ้านเดินขบวนร่วมชุมนุมแสดงออกทางการเมืองเพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวันที่ 11 พ.ย. 2556 เพื่อปฏิเสธระบอบทักษิณในวันที่ 24 พ.ย. 2556 และ เพื่อทวงอำนาจอธิปไตยคืนจากนักการเมืองในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 นักวิชาการเหล่านี้แยกแยะไม่ออกว่าการแสดงเจตจำนงอย่างเสรีแตกต่างจากการแสดงเจตจำนงโดยถูกครอบงำด้วยอามิสสินจ้างต่างกันอย่างไร และยังแยกไม่ได้ว่าการมีส่วนร่วมเพียงแค่ระดับการเลือกตั้งกับการมีส่วนร่วมในการเดินขบวนและชุมนุมทางการเมืองแตกต่างกันอย่างไร โลกทางความคิดของนักวิชาการเหล่านี้ช่างคับแคบเสียเหลือเกิน
การคาดหวังว่ารัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งที่ด้อยคุณภาพจะเป็นผู้ปฏิรูปการเมืองจึงเป็นความเฟ้อฝันลมๆแล้งๆ ของผู้ที่ห้วงความคิดจมปลักอยู่ในตำรา กอดคัมภีร์ ร่ายมนตราพ่นคำสั่งสอนแบบเคลือบยาพิษ มอมเมาวางยาสลบทางความคิด และสร้างความเชื่อที่งมงายแก่ประชาชน เพื่อให้พวกเขาเฉื่อยชาและยอมจำนนต่อการเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มทุนสามานย์ทางการเมืองต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้การเมืองไทยจึงต้องตกอยู่ในวัฏจักรของวิกฤติการณ์ซ้ำซากอย่างยาวนานนับทศวรรษ
นอกจากการเลือกตั้งที่ด้อยคุณภาพแล้ว หลายปีที่ผ่านมานี้ก็มีหลักฐานจำนวนมากที่พิสูจน์อย่างชัดเจนถึงการใช้อำนาจเยี่ยงทรราช ขัดหลักนิติธรรม ไร้ประสิทธิภาพ และฉ้อฉลของนักการเมืองทุนสามานย์ที่เป็นฝ่ายบริหารและมีเสียงข้างมากในรัฐสภา แต่นักวิชาการกลุ่มนี้กลับทำตัวเป็นคนใบ้ปิดปากเงียบ ไม่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ใดออกมาสู่สาธารณะ ครั้นมีนักวิชาการกลุ่มอื่นแสดงความคิดและจุดยืนต่อต้านการใช้อำนาจเยี่ยงทรราชของรัฐบาลหุ่นเชิดและสภาทาส นักวิชาการในกลุ่มสมัชชาปกป้องทุนสามานย์ทรราช (สปป) ก็ออกมาแสดงอาการเกรี้ยวกราดและตะเบ็งเสียงใส่ว่า มหาวิทยาลัยต้องเป็นกลางทางการเมือง ดูพฤติกรรมของ พวกสปป.แล้วช่างน่าอดสูยิ่งนัก
ในโลกทางความคิดที่บิดเบี้ยวของนักวิชาการกลุ่มสปป. ยามที่กล่าวถึงความเป็นกลาง พวกเขาคงหมายถึง การที่ทุกคนต้องปิดปากเงียบเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์และสภาทาสบริหารและออกกฎหมายโดยใช้อำนาจแบบฉ้อฉล ละเมิดหลักนิติธรรม และล้มล้างประชาธิปไตย การวิจารณ์พฤติกรรมเยี่ยงทรราชของรัฐบาลและสภาทาสในสายตาของนักวิชาการกลุ่มนี้คือความไม่เป็นกลาง ขณะที่การสนับสนุน การยกยอ การประจบสอพลอให้นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็น “รัฐบุรุษ” และการสนับสนุนโครงการจำนำข้าวที่มีการทุจริตนับหลายแสนล้านบาทจนกระทั่งทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศคือความเป็นกลาง
กล่าวโดยสรุป การลดทอนและบิดเบือนความหมายของประชาธิปไตยให้เท่ากับการเลือกตั้งที่ด้อยคุณภาพและทุจริต การสนับสนุนการบริหารและการออกกฎหมายที่ฉ้อฉลและขัดหลักนิติธรรม และการละเลยไม่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งการขัดขวางการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อลดการทุจริต ขจัดการผูกขาดอำนาจของกลุ่มทุนสามานย์ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม ย่อมไม่อาจมองเป็นอย่างอื่นได้นอกจากเป็นการกระทำที่ปกป้องทรราชทุนสามานย์และทำให้วิกฤติการเมืองไทยยืดเยื้อและรุนแรงยิ่งขึ้น
เรื่องนี้นับว่าเป็นโศกนาฏกรรมอีกเรื่องหนึ่งของประเทศไทยและประชาชนไทย แต่ผมคิดว่านับจากนี้ มวลมหาประชาชนไทยจำนวนนับล้านได้ตื่นตัว มีปัญญา และมีจิตสำนึกทางการเมืองสูงเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาจะร่วมกันกวาดล้างนักการเมืองกลุ่มทุนนิยมสามานย์ สมุนบริวาร และนักวิชาการของสมัชชาปกป้องทุนสามานย์ทรราชให้ออกไปจากเวทีประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยภายในไม่ช้านี้