xs
xsm
sm
md
lg

การมองการเมืองแบบ “ม้าลำปาง” ของนักวิชาการไทย / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ปรากฏการณ์ทางการเมืองแบบ “มวลมหาประชาชน” อันพัฒนามาจากการเมืองแบบ “แยกสี” หรือ “การเมืองเหลือง-แดง”  ทำให้มองเห็นตัวตน  วิธัคิด  มุมมองและจริตหรือจารีตของนักวิชาการ และคอการเมืองไทยในปัจจุบันได้ชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นว่า ทำไมนักวิชาการ และคอการเมืองเหล่านี้จึงคิดเห็น  พูด และทำเช่นนี้
 
นักวิชาการกลุ่มหนึ่งมีความเชื่ออย่างสนิทใจว่า  ชนชั้นกลางใหม่สมัยรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ  ชินวัตร  ทำให้คนในชนบทเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบัน คนเมืองมีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างชัดเจน  เบ้าหลอมความจริง และความเชื่อทำให้สังคมคิด และเชื่อไม่เหมือนกัน (สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๕๗ : คำนำ)
 
นักวิชาการบางคนมีความเชื่อว่า  ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน  ตัวละครที่มีบทบาทในพื้นที่ทางการเมืองทุกกลุ่ม และทุกคนล้วนเป็นผลผลิตมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  สังคม  วัฒนธรรม และการเมืองที่ซับซ้อน  การปะทะระหว่างอุดมการณ์ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กับประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญแก่เสียงข้างมาก  การทำความเข้าใจเพียงแค่ทางด้านความขัดแย้งทางการเมืองนั้นยังไม่เพียงพอ  จำเป็นต้องทำความเข้าใจทั้งในส่วนโครงสร้างของสังคมที่เปลี่ยนแปลง และตัวบุคคลที่ได้เข้ามามีส่วนผลักดันความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้วย (อรรถจักร์  สัตยานุรักษ์.  ประชาธิปไตยคนไทยไม่เท่าทียมกัน.  ๒๕๕๗)
 
นักวิชาการหลายคนให้นิยาม “คนเสื้อแดง” ไว้อย่างน่าภาคภูมิใจต่างๆ นานาว่า  “ชาวนารายได้ปานกลาง” (Andrew  Walker)  “ชาวนาผู้รู้โลกกว้าง” (Charles  Keyes)  “คนชั้นกลางระดับล่าง” (นิธิ  เอียวศรีวงศ์)  “พลังสีแดง : การจัดตั้งของภาคการผลิตไม่เป็นทางการ” (อรรถจักร์  สัตยานุรักษ์)  “คนกึ่งเมือง  กึ่งชนบท” (นฤมล  ทับจุมพล และ ดัลแคน  แมคคาโก)  “พัฒนาการจิตสำนึกและขบวนการทางการเมืองของชาวเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่” (ปิ่นแก้ว  อร่ามศรี)  “จากการเมืองของรากหญ้าสู่ประชาธิปไตย %” (วัฒนา  สุกัณศีล)
 
คุณลักษณะสำคัญของคนเสื้อแดงก็คือ ความสำนึกในความสำคัญของประชาธิปไตย ซึ่งเห็นได้จากการออกมาเคลื่อนไหวภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร  ๒๕๔๙ (อรรถจักร์  สัตยานุรักษ์.  ประชาธิปไตยคนไทยไม่เท่าเทียมกัน.  ๒๕๕๗)
 
นักวิชาการ และคอการเมืองที่นิยมในความเป็นเสื้อแดง  นปช. หรือพวกไพร่ และระบอบทักษิณมีฐานคิดมาจากความไม่พึงพอใจต่อลัทธิศักดินาสวามิภักดิ์  พวกอำมาตย์  ต่อต้านระบอบการเมืองการปกครองแบบ “สองมาตรฐาน” ตามวาทกรรมของฝ่ายเสื้อแดงที่ชูเป็นประเด็นในการขับเคลื่อน โดยนักวิชาการ และคอการเมืองเหล่านี้มีความเชื่อ และมีความชื่นชมโดยสนิทใจว่า ศาสดาประชาธิปไตยของพวกเขานามว่า “ทักษิณ” เป็นนักประชาธิปไตย  เพียงเพราะเขามาจากการเลือกตั้ง  เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเสียงข้างมาก  แต่ถูกอำนาจเก่านอกรัฐธรรมนูญที่สัมพันธ์กับอำมาตย์ และสถาบันพระมหากษัตริย์ทำลายตามหลักการของ “ลัทธิสมคบคิด”  เพราะกลัวความเป็นประชาธิปไตยของทักษิณจะมาโค่นล้มทำลายศรัทธา  บารมีเดิมๆ
 
โดยนักวิชาการเหล่านี้จงใจที่ละเลยไม่กล่าวถึงพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชัน  การฉ้อฉลอำนาจของระบอบทักษิณ  นับตั้งแต่การจัดตั้งพรรคการเมือง โดยการใช้เงินกว้านซื้อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองอื่นในราคาที่แตกต่างกัน ตามโอกาสที่จะได้รับเลือกตั้ง  เหมือนตลาดวัวควาย  จนได้รับการขนานนามว่า “นักตกปลาในบ่อเพื่อน”  และเมื่อได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลในฐานะพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากใสภาผู้แทนราษฎร  ก็ใช้วิธีการฉ้อฉลเลี่ยงบาลี  ใช้วิธีการซุกหุ้นให้แก่คนใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ  จนนำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  และใช้การแทรกแซงองค์กรตุลาการจนสามารถผ่านไปได้อย่างหวุดหวิด  จนเกิดวาทกรรมอัปยศที่ว่า “บกพร่องโดยสุจริต”
 
หลังจากนั้นก็ยังไม่หยุดพฤติกรรมอันน่ารังเกียจนี้  ใช้อำนาจอธิปไตยในฐานะฝ่ายบริหารแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว  จนแยกไม่ออกระหว่างความเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ  กับหัวหน้าพรรคการเมือ งและเจ้าของบริษัทที่ทำมาหากินกับงบประมาณของแผ่นดิน  จนนำไปสู่การต่อต้าน  การขับไล่ของประชาชน  และในที่สุดก็ถูกรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๔๙
 
หลังจากนั้น ระบอบทักษิณก็ยังก่อกรรมทำเข็ญ และใช้วิธีการเดิมๆ ในการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง  จนนำไปสู่การถูกยุบพรรคถึงสองครั้งสองคราว  ด้วยข้อหาการทุจริตการเลือกตั้งอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง  และพระราชบัญญัติพรรคการเมือง  มีการแทรกแซงคณะกรรมการการเลือกตั้ง  จนทำให้กรรมการบางคณะติดคุกเป็นประวัติศาสตร์อันอัปยศอดสูของกระบวนการเลือกตั้งไทย
 
นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรัฐบาลนอมินีของระบอบทักษิณคนแล้วคนเล่าสร้างความเสื่อมเสียแก่ชาติบ้านเมืองในต่างกรรมต่างวาระกัน  จนล่าสุด รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นรัฐบาลที่สร้างความตกต่ำแก่ชาติบ้านเมืองในทุกด้าน  ถูกรัฐประหารไปเพราะเป็นรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ และเป็นที่เกลียดชังของมวลมหาประชาชนมากที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยมีรัฐบาลมา
 
ปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้ไม่ถูกนักวิชาการฝ่ายสนับสนุนเชิดชู และบูชาเสื้อแดงและระบอบทักษิณหยิบยกมาพิจารณาเลยแม้แต่น้อย  แต่ที่น่าแปลกกว่านั้นคือ  นักวิชาการกลุ่มนี้กลับมองไม่เห็นคุณค่าของการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนนับสิบๆ ล้านจากทั่วประเทศที่ออกมาขับไล่รัฐบาลเถื่อน  รัฐมนตรีถ่อย และบริวารสถุลที่ใช้ความรุนแรง  และประกาศตัวเป็นศัตรูกับประชาชนของตนเองที่ไม่เห็นด้วยต่อการฉ้อฉลอำนาจอธิปไตย  ใช้อำนาจโดยปราศจากความชอบธรรม  ใช้กองกำลังทั้งลับ และแจ้งทำร้ายไล่ล่า และเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์
 
น่ามหัศจรรย์ที่ไม่มีแม้แต่สักวรรค หรือบรรทัด หรือคำเดียวที่จะกล่าวถึงอย่างชื่นชมต่อวีรกรรมของประชาชนทั้งผู้สละชีวิตกว่ายี่สิบศพ และผู้บาดเจ็บนับพันคน  ตลอดจนผู้เข้าร่วมต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีงามนับสิบล้านคน
 
มันเพราะอะไรกัน?
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น