xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นสุญญากาศทุบหุ้น-ศก.ไทยวงการจี้เร่งหาทางแก้..ทุกฝ่ายยอมรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - ตลาดหุ้นหวั่นเกิดสุญญากาศการเมือง กดดันต่างชาติขนเงินออกยาว ไม่กลับเข้าประเทศ หลายโครงการลงทุนโดนเบรก ฉุดภาคเอกชนชะลอลงทุน จีดีพีลดฮวบ สูญเสียโอกาสทางAEC แนะเร่งหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับ พร้อมเร่งชี้แจงและสร้างความเชื่อมั่นกับนานาประเทศ หลังสถาบันต่างแดนเริ่มทยอยปรับลดน้ำหนักลงทุน

ไม่น่าผิดพลาดแล้ว สำหรับจุดสูงสุดของตลาดหุ้นไทยในปี 2556 จะอยู่ที่ระดับ 1,643.43 จุด เมื่อวันที่ 25 พ.ค. และต่ำสุด ณ ปัจจุบัน น่าจะอยู่ที่ 1,275.76 จุด อย่างไรก็ตามจากช่วงเวลาที่เหลือแม้ไม่ถึง 1 เดือน แต่จากสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น ก็มีโอกาสที่อาจเห็นจุดต่ำสุดใหม่เกิดขึ้นมาได้

ความกังวลต่อสถานการณ์การเมือง ต้องยอมรับว่ามีผลต่อตลาดหุ้นไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการตัดสินใจเข้าลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เมื่อสถานการณ์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรปเริ่มฟื้นตัว ตลาดที่เคยสร้างผลตอบแทนได้สูงอย่างไทย ที่เริ่มเหลือผลตอบแทนน้อยลง บวกกับสถานการณ์ความขัดแย้งภายในประเทศ ย่อมเพิ่มแรงตัดสินใจปรับลดพอร์ตลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อโยกเงินออกนอกประเทศด้วยการเทขายทำกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น และวิ่งมารับกำไรต่อที่ 2 จากการอ่อนค่าของเงินบาท แล้วสุดท้ายทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร และมีผลอย่างไรกับตลาดทุน และเศรษฐกิจของประเทศ

บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซีย พลัส เคยประเมินว่า **ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากประเด็นทางการเมือง เบื้องต้นจะทำให้กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลายตัวอ่อนแรง เช่น ภาคการท่องเที่ยว, การลงทุนภาครัฐ, การบริโภคในประเทศ ตลอดจนการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจทำให้ ไตรมาส4/56GDP Growth จะเติบโตไม่เกิน 0.8%และมีผลให้ต้องปรับลดประมาณการ GDP Growth ทั้งปี2556 มาอยู่ที่ 2.9% ส่วนปี2557จะเหลือ4.3% จากเดิมที่คาดไว้ 4.8% รวมทั้งต้องปรับลดการลงทุนภาครัฐลง โดยตัดงบลงทุน 2 ล้านล้านบาทออก ภายใต้สมมติฐานที่ว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่นี้จะล่าช้าออกไปเป็นปี 2558 **
ขณะเดียวกัน สัญญาณลบจากภายนอกประเทศก็คืบคลานเข้ามาจ่อคอหอย เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ทยอยประกาศออกมาในช่วงหลังๆปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จนเริ่มเป็นสัญญาณว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจถอนหรือลดวงเงินในมาตรการQE3 ได้เร็วขึ้น ถึงขั้นที่อาจเกิดขึ้นได้ในการประชุมครั้งใหม่ 17-18 ธ.ค.นี้

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย** มองว่า แม้จะมีการยุบสภาไปแล้ว แต่สัญญาณด้านเศรษฐกิจยังไม่ปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากภาวะตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลง เพราะความขัดแย้งในสังคมยังคงมีอยู่ และยังไม่มีแนวโน้มที่ปัญหาดังกล่าวจะคลี่คลายโดยเร็ว ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้นก่อนการเลือกตั้ง ควรมีการแก้ไขกรอบกติกาให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งต้องเป็นแนวทางที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้

จักรกริช เจริญเมธาชัย กรรมการ ผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. โกลเบล็ก** ตลาดหุ้นไทยคงปรับตัวขึ้นได้ไม่มาก เนื่องจากยังมีแรงเทขายของต่างชาติออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดัชนีมีโอกาสผ่านแนวต้านที่ 1,400 จุด ได้ยาก แม้จะมีแรงซื้อจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) และกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) เข่ามาผลักดันในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ขณะที่ **พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการ บล.ธนชาต** เสริมว่า การประกาศยุบสภา ช่วยให้นักลงทุนคลายได้แค่ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่ข้อเรียกร้องของกลุ่ม กปปส. อีกทั้งพรรคประชาธิปัตย์ อาจไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งครั้งหน้า จนเกิดสุญญากาศทางการเมือง ทำให้บรรยากาศการลงทุนยังไม่น่าไว้วางใจ และดัชนียังคงผันผวน

อมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สายบริหารความเสี่ยงสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย** กล่าวว่า อาจจะเห็นภาพของค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และตลาดหุ้นตอบรับดี เงินทุนมีการไหลเข้าระดับหนึ่ง แต่ยังเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น เพราะสถานการณ์โดยรวมยังไม่จบสิ้น ระยะยาวคงต้องประเมินว่าจะยังมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทยหรือไม่ โดยโอกาสที่จะเป็นบวกหลังจากสถานการณ์ได้คลี่คลายความกังวลไประดับหนึ่งแล้วคือภาคการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไฮซีซั่นของปีนี้ได้ตัวเลขการขยายตัว ทางเศรษฐกิจ

กำพล อดิเรกสมบัติ เศรษฐกรอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล. ทิสโก้** กล่าวว่า คงต้องติดตามดูว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นหรือไม่ หากจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ เศรษฐกิจไทยในปีหน้าก็คงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยฝ่ายวิจัยบล.ทิสโก้ ยังประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี2557ไว้ ที่ 4.5% อย่างไรก็ตาม หลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น และได้รัฐบาลใหม่แล้ว คงต้องติดตามดูว่านโยบายของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป แต่หากไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งได้ การลงทุนภาครัฐก็ลำบาก โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ทำให้การลงทุนภาคเอกชนที่ส่วนใหญ่ รอการลงทุนตามภาครัฐอาจไม่เกิดขึ้นตามไปด้วย ย่อมทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 3.5-4%

ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล. เอเซีย พลัส** กล่าวว่า การประกาศยุบสภานั้น ถือว่าผ่านอุปสรรคได้ไปในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือการอธิบายให้นักลงทุนต่างชาติเข้าใจถึงอนาคตจะเดินหน้ากันต่อไปได้อย่างไร และตอนนี้ตลาดหุ้นไทยไม่ได้อยู่ในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ เพราะไม่มีความปัจจัยดึงดูดความน่าสนใจในการลงทุน สิ่งที่รัฐควรดำเนินการคือการเจรจาหาข้อยุติกับกลุ่มผู้ชุมนุม หากไม่ดำเนินการก็จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความกังวลใจและไม่กล้ากลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีก และอาจทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสของการที่เป็นประเทศที่ได้เปรียบในช่วงเวลาของการเปิดเสรีเขตเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ไปด้วย

ล่าสุด เอชเอสบีซีลดน้ำหนักตลาดหุ้นไทย เป็น "ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย" จากเดิม "ปานกลาง" ผลจากเศรษฐกิจปีนี้เข้าสู่ภาวะถดถอย หนี้ครัวเรือนพุ่งบวกความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงกระทบอุปสงค์ในประเทศ พร้อมคาดการณ์ค่าพีอี 1 ปีข้างหน้าที่ 11.8 เท่า สะท้อนหุ้นไทยราคาแพง โดยมองว่าการประท้วงต่อต้านรัฐบาลบานปลาย และกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญ**
กำลังโหลดความคิดเห็น