xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางที่สุเทพกำลังเดิน : เส้นทางที่สนธิเดินมาแล้ว

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในขณะนี้ ถ้าท่านผู้อ่านติดตามข่าวการชุมนุมเพื่อขับไล่ระบอบทักษิณ ซึ่งนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกหลายคน ก็จะพบว่าสถานการณ์ที่นายสุเทพกำลังเผชิญอยู่ในฐานะผู้นำการชุมนุม จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล เคยประสบมาแล้ว ทั้งนี้ อนุมานจากปรากฏการณ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ถึงแม้ว่าการชุมนุมภายใต้การนำของ นายสุเทพที่มีประชาชนจากหลายภาคส่วนของสังคมให้ความสนใจ และออกมาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน และมากที่สุดในวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประมาณกันว่าล้านกว่าคน หรืออาจถึงสองล้านด้วยซ้ำ แต่สื่อหลักอันได้แก่ ฟรีทีวีไม่ให้ความสนใจเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา แถมยังมีการบิดเบือนข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนผู้มาชุมนุม ในทำนองว่ามาน้อย ทั้งๆ ที่มีคนมาชุมนุมมาก

2. มีการปล่อยข่าวบิดเบือนใส่ร้ายแกนนำผู้ชุมนุมต่างๆ นานา เป็นต้นว่ามีการขนอาวุธร้ายแรงขึ้นมาจากภาคใต้ และซ่อนไว้ในที่ชุมนุม และกล่าวหาว่ามีการจ้างให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมเพื่อหวังโค่นล้มรัฐบาล เป็นต้น

3. มีการแจ้งความดำเนินคดีกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ข้อหานำมวลชนบุกรุกสถานที่ราชการคือ กระทรวงการคลัง และร่วมชุมนุมเกิน 10 คน

4. มีการปล่อยข่าวกดดันว่าจะนำกำลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุม และทำให้ดูน่ากลัวเพื่อสกัดกั้นมิให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุม

ทั้ง 4 ประการที่เกิดขึ้นกับนายสุเทพวันนี้ได้เคยเกิดขึ้นกับนายสนธิมาแล้วทั้งนั้น

ยิ่งกว่านี้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ยังประสบสิ่งที่นายสุเทพยังไม่ประสบอีกหลายประการ เช่น มีการยิงเอ็ม 79 ใส่ที่ชุมนุม และทำให้มีผู้บาดเจ็บ และมีการยิงแก๊สน้ำตาใส่ฝูงชนที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย

แต่ที่สำคัญยิ่งที่เกิดขึ้นแก่นายสนธิ ลิ้มทองกุล และภาวนาไม่อยากให้เกิดกับนายสุเทพก็คือ การที่นายสนธิถูกถล่มด้วยอาวุธสงครามนานาชนิดถึงขั้นบาดเจ็บ พร้อมกับคนขับรถ แต่ก็รอดมาได้ ด้วยเดชะบุญที่ทำดีเพื่อประเทศ

ดังนั้น จึงพูดได้ว่าเส้นทางที่นายสุเทพกำลังเดินในวันนี้คือเส้นทางเดียวกับที่นายสนธิได้เดินมาแล้ว เพียงแต่นายสุเทพยังพบกับเหตุการณ์ที่ร้ายแรงน้อยกว่าที่นายสนธิประสบมาเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้นายสุเทพเพิ่งจะเริ่มออกเดิน และเพิ่งพบกับแรงต้านจากฝ่ายรัฐ ดังนั้น จึงยังพูดไม่ได้ว่าสิ่งที่นายสุเทพจะประสบในวันข้างหน้าจะเป็นเหมือนกับนายสนธิเคยเป็นหรือมากกว่า

แต่ที่บอกไว้ในขณะนี้ก็คือ นายสุเทพจะต้องอดทน และนิ่งสงบเยือกเย็น และพร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ทุกรูปแบบ อันอาจเกิดจากการกระทำของฝ่ายรัฐ และต้องนำพาประชาชนไปสู่จุดหมายปลายทางคือการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง และนำประชาชนไปสู่ความอยู่ดีกินดี ภายใต้การปกครองของคนดีให้ได้ อย่าหยุดกลางคันจะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม เพราะถ้าหยุดเพียงแค่รัฐบาลยุบสภาฯ หรือลาออกจะทำให้ประชาชนผิดหวัง และมื่อใดก็ตามที่ต้องการระดมกำลังเพื่อแก้ปัญหาประเทศอีกครั้ง จะไม่มีใครออกมาร่วมด้วย หรือมาก็น้อยกว่าวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา แน่นอน

ดังนั้น ในทัศนะของผู้เขียนซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์การต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ต้องการเห็นนายสุเทพท้อแท้และท้อถอย เพราะเพียงบางฝ่ายบางคนไม่ให้ความร่วมมือหรือมีเสียงด่าเสียงตำหนิ หรือเสียงคัดค้านบ้าง เหตุเพียงขัดแย้งทางความคิดจากฝ่ายตรงกันข้าม หรือแม้กระทั่งจากฝ่ายที่เคยเป็นพวกเดียวกันกับนายสุเทพเมื่อครั้งยังเป็นคนของพรรคการเมือง

แต่ควรจะยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างประชาชนต่อไปจนกว่าจะถึงเป้าหมาย คือ การได้อำนาจรัฐ และทำการปฏิรูปประเทศไทยตามเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ออกมาร่วมสู้รบด้วย

ถ้ารัฐบาลไม่ยอมถอยและใช้กลยุทธ์ซื้อเวลารอให้ผู้ชุมนุมหมดแรง และเลิกไปเอง ผู้ชุมนุมโดยเฉพาะแกนนำจะทำอย่างไร?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนเห็นว่าถ้ามองย้อนไปดูความเดิมของการต่อสู้ของพันธมิตรฯ ในอดีต ก็จะพบการจบลงของรัฐบาลทั้ง 3 ครั้งคือ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็จะเห็นได้ทั้งมาจากปัจจัยภายนอกเหนือจากอำนาจของม็อบคือ รัฐบาลทักษิณจบลงเพราะถูกกองทัพโค่นล้ม รัฐบาลของนายสมัคร จบลงด้วยคำสั่งของศาล และของนายสมชายก็เช่นกัน

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ณ วันนี้จะจบลงก็ไม่แตกต่างจากที่ผ่านมา 3 ครั้งคือ จบลงด้วยคำสั่งของศาล หรือกระบวนการทางกฎหมาย จบลงด้วยการยุบสภาฯ หนี หรือจบลงด้วยการถูกโค่นล้ม

ในกรณีหลังจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด และดื้อแพ่งแล้วใช้กลุ่มคนเสื้อแดงกดดันศาล และปะทะกับฝ่ายปกป้องศาล ทำให้กองทัพออกมารักษาความสงบ และถือโอกาสยึดอำนาจไปพร้อมๆ กัน

ส่วนความฝันที่จะได้เห็นรัฐบาลเฉพาะกิจเข้ามาปฏิรูปประเทศ จะเกิดขึ้นได้มีกรณีเดียวคือ เกิดการปฏิวัติและประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งเป็นนายกฯ ได้ และเปิดทางให้คนดีเข้ามาเป็นผู้นำประเทศ และทำการปฏิรูปโดยใช้เวลา 2-3 ปีแล้วค่อยให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ถ้ามีการยุบสภาฯ และศาลพิพากษา ส.ส. 312 คนมีความผิดก็มีโอกาสเป็นสุญญากาศ และเปิดทางให้มีการปฏิรูปได้เช่นกัน เพราะ ส.ส.ที่เหลือไม่ครบองค์ประชุมที่จะเปิดสภาฯ เลือกนายกฯ ใหม่ได้ในทันที และถือโอกาสปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐให้เป็นของปวงชน ก็จะนำไปสู่การปฏิรูปได้เช่นกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น