xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค-เทือก” โต้อัยการฟ้องสลายแดง งงอ้างไม่มีชายชุดดำ ลั่นเอาชีวิตเป็นเดิมพันต้านนิรโทษฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์-สุเทพ” แถลงพร้อมสู้คดีสลายม็อบแดง ปี 2553 ไม่นิรโทษกรรม ยันปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายถูกต้อง หลังแก๊งแดงก่อเหตุรุนแรง ซัด “ดีเอสไอ-อัยการ” อ้างไม่มีชายชุดดำ ถือเป็นการละเลยข้อเท็จจริง “เทพเทือก” ระบุคำสั่งฟ้องหวังบีบให้รับ กม.ยกผิด ลั่นไม่ยอมจำนน พร้อมยกระดับการชุมนุม เอาชีวิตเป็นเดิมพันขวางสุดตัว


วันนี้ (29 ต.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แถลงข่าวกรณีที่ถูกสำนักงานอัยการสูงสุดสั่งฟ้องพร้อมนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในข้อหาร่วมกันก่อให้มีการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสำนวนไปให้ก่อนหน้านี้ ว่า เดิมทีนั้นทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือให้ตนกับนายสุเทพไปรับทราบคำสั่งคดีนี้ว่า อัยการสูงสุดจะสั่งฟ้องหรือไม่ในวันที่ 31 ต.ค. แต่ว่าทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตัดสินใจที่จะแถลงข่าวก่อนที่จะถึงวันนัด วันนัดหมายนี้ก็ยังมีอยู่ดังนั้นในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ตนและนายสุเทพจะเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อรับทราบว่าคำสั่งและจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป

“พวกผมทั้ง 2 คนไม่หนีไปไหน จะเผชิญแล้วก็ต่อสู้คดีนี้ตามกระบวนการยุติธรรมทุกประการ ด้วยเหตุผลซึ่งผมเคยได้ย้ำไปหลายครั้งแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมาย เรามีประเด็นที่โต้แย้ง หักล้าง สิ่งที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ แล้วก็อัยการสูงสุดได้มีความเห็นไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2553 ตนและนายสุเทพ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เกิดการชุมนุมทางการเมืองที่เป็นการชุมนุมที่ศาลวินิจฉัยว่าผิดกฎหมาย เลยขอบเขตของการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ มีการดำเนินการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองตามกฎหมายและตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งแม้มีผู้โต้แย้ง ศาลก็ได้วินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งที่ออกมาโดยชอบ

ซึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าวประชาชนทราบดีว่าการชุมนุมนั้นได้ลุกลามไปเป็นลักษณะของการมีผู้มีอาวุธจะแฝงตัวหรือจะเคลื่อนไหวคู่ขนานไปกับผู้ชุมนุมก็แล้วแต่แต่ได้ใช้อาวุธสงครามในการทำร้ายประชาชนในการก่อความไม่สงบ ไม่ว่าจะเป็นการยิงระเบิด หรือทำให้ผู้คน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือประชาชนเสียชีวิต ซึ่งตลอดระยะเวลาดังกล่าว ทั้งตนและนายสุเทพ มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะต้องนำบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ ความสงบสุข โดยหลีกเลี่ยงความสูญเสีย และมีนโยบายที่ไม่เข้าไปสลายการชุมนุมอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานอัยการสูงสุดนั้นได้แถลงออกไปตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยอ้างว่าสำนวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้นไม่ได้ระบุถึงเรื่องชายชุดดำ ซึ่งตนและนายสุเทพได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุด และผู้ที่รับผิดชอบในคดี แสดงให้เห็นว่า การละเลยข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งมีนัยยะสำคัญมากต่อการวินิจฉัยว่ามีการกระทำผิดหรือไม่นี้ เป็นสิ่งที่ทางอัยการสูงสุดย่อมทราบดีอยู่ เหตุผลที่อัยการสูงสุดย่อมทราบดีว่ามีชายชุดดำนั้นไม่ใช่เพราะว่าหน่วยงานต่างๆ อย่างเช่น คอป. หรือกรรมการสิทธิมนุษยชน ล้วนแล้วแต่มีรายงานยืนยันการมีผู้มีอาวุธอยู่ในการชุมนุม แต่เป็นเพราะสำนักงานอัยการสูงสุด และอัยการสูงสุด คือผู้ที่ส่งฟ้องคดีก่อการร้าย คดีหมายเลข 2542/2553 ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดย่อมทราบดีว่า ในสำนวนคดีดังกล่าว มีการระบุถึงการปฏิบัติการณ์ของชายชุดดำ หรือผู้ติดอาวุธอยู่ ไม่น้อยกว่า 20 หน้า

“ดังนั้นการที่ทางอัยการสูงสุดจะอ้างเพียงแค่ว่า สำนวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษในคดีนี้ไม่ระบุถึงการต่อสู้ หรือการมีอาวุธที่ใช้ในการชุมนุมนี้จึงฟังไม่ได้ เพราะอยู่ในหนังสือร้องขอความเป็นธรรม และอยู่ในสำนวนคดีที่อัยการสูงสุดได้ส่งฟ้องคดีก่อการร้ายไปแล้วตั้งแต่ปี 53” นายอภิสิทธ์ย้ำ

นอกจากนี้ยังได้ทำเรื่องร้องขอความเป็นธรรมในประเด็นที่ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษนี้ไม่มีอำนาจในการสอบสวนคดีนี้ เนื่องจากว่าในการบรรยายพฤติกรรมของตนและนายสุเทพ โดยอ้างความผิดว่าออกคำสั่ง ในฐานะนายกรัฐมนตรี ส่วนนายสุเทพในฐานะที่เป็นประธาน หรือผู้อำนวยการใน ศอฉ. ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นการออกคำสั่งในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ การบรรยายในสำนวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษในหน้า 9 ยังได้ระบุด้วยซ้ำว่า พฤติกรรมที่กระทำผิดนี้เป็นเรื่องของการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดว่า มูลเหตุที่จะมีการพิจารณาคดีนี้เป็นเรื่องของการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงเป็นอำนาจของ ปปช. ที่จะดำเนินการในการสอบสวนคดีนี้ มิใช่อำนาจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

“การจะมากล่าวอ้างว่า คดีนี้เป็นคดีฆาตกรรม จึงมีความขัดแย้งในตัว เพราะถ้าผม หรือนายสุเทพ กระทำการนี้ ย่อมไม่มีอำนาจไปออกคำสั่งใดๆ ทั้งสิ้น ที่เป็นที่มาของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงเห็นว่า ทางอัยการสูงสุดนั้นตระหนักดีทั้งถึงข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ แต่กลับมีความเห็นสั่งฟ้องผม และคุณสุเทพ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ที่ผ่านมาเราได้ฟ้องอธิบดีดีเอสไอ.ว่าได้กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมกลั่นแกล้ง ซึ่งพฤติกรรมของอัยการสูงสุดไม่ต่างกัน ดังนั้นผม และคุณสุเทพก็จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับอัยการสูงสุดในกรณีนี้เช่นเดียวกัน” นายอภิสิทธ์ย้ำ

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุนี้ขึ้นมีการวิพากษ์วิจารณ์หรือมีการวิเคราะห์ไปต่างๆ นานาว่า จะส่งผลอย่างไรต่อกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากได้มีการแก้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้มาครอบคลุมถึงคดีที่เกิดขึ้นในปี53 ทั้งหมด ซึ่งหมายรวมถึงคดีนี้ด้วย ซึ่งตนได้ แสดงจุดยืนคัดค้านการนิรโทษกรรมดังกล่าว โดยยืนยันว่าความผิดต่อชีวิต ไม่ใช่ความผิดที่พึงจะนิรโทษกรรม ไม่ว่าการกระทำผิดต่อชีวิตจะเกิดขึ้นจากฝ่ายเจ้าหน้าที่หรือจากฝ่ายผู้ชุมนุม หรือชายชุดดำ หรือใครก็ตาม เพราะการนิรโทษกรรมนี้เป็นเรื่องของการละเว้นการใช้อำนาจรัฐในกรณีที่มีประชาชนนั้นแข็งขืนต่อรัฐ แต่ชีวิตของผู้สูญเสียทั้งหลายนี้ไม่ใช่ชีวิตของรัฐ รัฐเอาสิทธิ์อะไรที่จะไปบอกว่า ละเว้นการใช้อำนาจรัฐดำเนินคดีกับการที่ใครก็ตามไปเอาชีวิตของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นจุดยืนที่สอดคล้องกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ และองค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลายที่บอกว่า การนิรโทษกรรมการกระทำความผิดที่เป็นการจงใจ ละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ ไม่นับรวมว่าความพยายามที่จะทำเรื่องนี้ก็คือ เพื่อที่จะไปเหมารวมกับคดีทุจริต คอร์รัปชั่น ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกที่เขาจะให้การนิรโทษกรรมแก่คนที่โกงกินทำความเสียหายให้แก่ชาติบ้านเมือง

นายอภิสิทธ์กล่าวว่า ตนขอย้ำว่าการเดินหน้าคัดค้านเรื่องนี้จะเข้มข้นยิ่งกว่าเดิม ไม่เอาเรื่องคดีที่ตนและนายสุเทพ ตกเป็นจำเลยนี้มาเกี่ยวข้องในการดำเนินงานทางการเมือง และการแสดงจุดยืนของพวกเรา การคัดค้านที่ผมประกาศไปแล้วในขั้นตอนต่อไปก็คือการดำเนินการคัดค้านในสภา ทั้งในวาระที่ 2 ทั้งในวาระที่ 3 และจะใช้สิทธิ์ในฐานะส.ส.ในการยื่นเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา พร้อมกับการเคลื่อนไหวนอกสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอบเขตที่เป็นสิทธิของประชาชนที่จะเคลื่อนไหวตามรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ผมจะเป็น ส.ส. หรือเป็นนักการเมืองนั้น ตนก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิ เสรีภาพ ในการเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน

“มีฝ่ายที่ต่อต้านผมพยายามตั้งข้อสังเกตหลายอย่างว่าคัดค้านจริงจังหรือไม่แค่ไหน พยายามจะพูดว่า ก็คัดค้านไปอย่างนั้น เพราะรู้ว่าเสียงก็สู้ไม่ได้ ไม่ใช่ครับ เพราะผมไม่ได้คัดค้านเฉพาะการลงมติในสภา ผมจะใช้สิทธิ์ในการให้ศาลชี้ขาด และผมมั่นใจครับว่า ศาลจะต้องพิจารณาว่าความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายนี้เป็นอย่างไร และผมได้ให้ความเห็นชัดเจนแล้วว่า มีคนจำนวนมากที่เห็นตรงกันด้วยว่ากฎหมายนี้ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นถ้าผมเล่นละครคัดค้าน ผมก็จะต้องไม่ส่งศาลสิครับ เพราะว่าผมมั่นใจว่าศาลนั้นจะชี้ว่ากฎหมายนี้มีปัญหา นี่คือสิ่งที่เป็นประการที่อยากจะเรียนว่า เราไม่ได้ค้านเล่นๆ หรอกครับ ค้านจริงๆ แล้วก็ขอให้ติดตามบทบาทของเราทั้งในและนอกสภาต่อไป และยังพูดทำนองว่า พวกผมถือดี ที่ไม่เกรงกลัวในเรื่องของการขึ้นศาลนี้ ไปอ้างว่ามีแบล็คดี ผมกับคุณสุเทพไม่มีแบคหรอกครับ ถ้ามี ทำไมศาลมีคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่นำมาสู่ที่มาของคดีนี้ล่ะครับ ถ้าแบล็คดีจริง อ้างว่าแทรกแซงอะไรอะไรต่างๆ ได้ ก็คงไม่ต้องมาถึงตรงนี้ แบล็คเดียวที่เรามีครับ คือความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของเรา และเราจะเดินหน้าในการต่อสู้ เพราะเราเชื่อว่าสังคมนี้จะต้องมีความเป็นธรรม”นายอภิสิทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า ตนจะต่อสู้คดี ไม่หนีไปไหน เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ และมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม แต่หากแม้นว่าศาลจะตัดสินว่าผิด ตนก็ยืนยันว่าจะรับผิด และเคารพต่อการวินิจฉัยของศาล และ คดีของตน หรือของนายสุเทพ รวมทั้งคดีอื่นๆ ที่พยายามจะนิรโทษกรรมตัดตอนกันอยู่นี้ ถึงเวลาแล้วที่จะเป็นนักการเมือง หรือใครก็ตาม ต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง บ้านเมืองถึงจะเดินได้

“วันนี้ต้องพิสูจน์ว่า ยังมีคนที่พร้อมจะเอาประเทศชาติอยู่เหนือผลประโยชน์ของตัวเองจริงๆ คนที่มาจากตระกูลที่มีสันดานจากการโกงกิน แล้วเอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก ไม่มีทางเข้าใจหรอกครับ อันนี้ผมก็เห็นใจ แต่ขอให้เชื่อเถอะครับว่า บ้านเมืองนี้ยังมีคนที่พร้อมจะเอาประเทศอยู่เหนือผลประโยชน์ของตัวเอง และผมกับคุณสุเทพจะพิสูจน์สิ่งเหล่านี้ต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ด้านนายสุเทพ กล่าวว่า ตนเห็นว่า อสส.ไม่จำเป็นต้องออกมาแถลงเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชน ในเมื่อวันที่ 31 ต.ค.อสส.ได้นัดให้พวกตนไปรับทราบข้อหาอยู่แล้ว แต่การทำแบบนี้เป็นการทำให้พวกตนเสียหาย ทั้งนี้การที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอสส. เป็นเครื่องมือของรัฐบาล โดยการสั่งฟ้องพวกตนเพื่อบีบบังคับให้ยอมจำนนต่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ตนไม่ทราบว่าเป็นจริงหรือไม่ แต่หาก อสส.มีความคิดเช่นนี้จริง ก็ขอบอกว่า อสส.ต้องผิดหวัง เพราะตนไม่มีวันยอมจำนน และจะเพิ่มความเข้มแข็งการคัดค้านกฎหมายล้างผิดเต็มกำลัง ซึ่งตนขอประกาศยืนยันเลยว่า ทันทีที่กฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภาวาระ 2 และ 3 ตนเชิญประชาชนที่รักชาติ รักความเป็นธรรมจะผนึกกำลังกัน และลุกขึ้นต่อสู้ทั้งประเทศ

“ผมยืนยันว่าถ้ารัฐบาลยังเดินหน้าเอากฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภา พิจารณาในวาระ 2 วาระ 3 ผมจะยกระดับในการต่อสู้ขึ้น จะชวนประชาชนทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด เพื่อผนึกกำลังกันต่อต่านกฎหมายฉบับนี้ด้วยชีวิต โดยผมจะเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ซึ่งจะเป็นการต่อสู้ตามกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิ์ไว้ จะไม่มีการใช้อาวุธสงคราม ไม่มีการเผาบ้านเผาเมือง เพราะเราไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายแบบแกนนำคนเสื้อแดง ผมอยากฝากถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าต้องตัดสินใจแล้วเพราะมีอำนาจระงับเหตุได้ตั้งแต่วันนี้ โดยสั่งฝ่ายรัฐบาลถอนกฎหมายนี้ออกไป แต่หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์เห็นแก่ประโยชน์ของพี่ชาย โดยลืมประชาชนทั้งชาติ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไม่มีแผ่นดินอยู่อีกต่อไป”นายสุเทพกล่าว

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า จากถ้อยแถลงของ อสส.มีพิรุธหลายอย่าง เช่น บอกว่าการทำของพวกตนไม่ได้กระทำในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เสมือหนึ่งเป็นการวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งผิดกับมาตรฐานที่ อสส.ได้สั่งคดีอื่น เช่น กรณีสั่งไม่ฟ้อง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ข้อหาโครงการกทม. ต่อสัญญาบีทีเอส ที่ อสส.ระบุว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดีเอสไอไม่มีอำนาจ แล้วพวกตนในวันนั้นหากไม่มีตำแหน่งเป็นนายกฯ และรองนายกฯ จะเอาอำนาจจากไหนมาสั่งเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติการ ส่วนที่ อสส.บอกว่าไม่เห็นหลักฐานว่ามีชายชุดดำในการชุมนุมปี 53 นั้น อัยการโกหกเพราะเคยเห็นข้อเท็จจริงเรื่องชายชุดดำมาแล้ว จากสำนวนคดีพิเศษที่ 18/2553 นั้นดีเอสไอยื่นให้ อสส.สั่งฟ้องผู้ก่อการร้ายนั้นมีการระบุชัดว่ามีชายชุดดำในการชุมนุม ดังนั้นพฤติกรรมของ อสส.ทำให้เชื่อได้ว่า อสส.ยอมเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่มีอำนาจ ทำให้ภาพพจน์ อสส.ตกต่ำ ดังนั้นเพื่อเป็นพิสูจน์ความจริงเรื่องนี้ตนและนายอภิสิทธิ์จึงต้องมีการดำเนินคดีกับอัยการ เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไปว่า แม้จะเป็นอัยการก็ติดคุกได้หากทำผิดกฎหมาย และใช้อำนาจโดยไม่ชอบ

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ในขณะที่ที่ตนเป็น ผอ.ศอฉ. มี อสส.ในขณะนั้นเป็นกรรมการ ศอฉ.ด้วย แต่ อสส.ไม่เคยมีการทักท้วงในการออกคำสั่งของตนเลย หากเห็นว่าตนทำผิดกฎหมายวันนั้นก็ควรที่จะทักท้วง ทั้งนี้ตนยืนยันมาโดยตลอดว่าเป็นผู้ลงนามในคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการแต่เพียงผู้เดียว โดยที่นายอภิสิทธิ์ไม่ได้เข้ามารับรู้ในคำสั่งเหล่านั้น แต่การที่ดึงนายอภิสิทธิ์เข้ามาร่วมกับตนในคดีนี้ เพื่อให้มีอำนาจบีบบังคับพวกตนให้ยอมจำนนต่อกฎหมายนิรโทษกรรม ตนขอร้องว่าไม่ควรมีการดำเนินการกับทหารที่ออกมาปฏิบัติหน้าที่เพราะพวกเขาทำตามคำสั่งตนในฐานะรองนายกฯ ที่ออกคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ควรมุ่งมาที่ตนกับนายอภิสิทธิ์ก็พอแล้ว

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ แถลง ถึงการประชุมกรรมาธิการฯ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ซึ่งนายอรรถวิชช์ ได้นำร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของกรรมาธิการมาแสดงให้ผู้สื่อข่าวแสดงด้วย โดยนายอรรถวิชช์แถลงว่า ไม่ว่าจะเป็นร่างเดิมที่ผ่านในวาระแรก หรือ ร่างที่แก้ไขเพิ่มเติมของ กมธ. เสียงข้างมาก ก็เป็นล้างผิดผู้สั่งฆ่าประชาชนอยู่ดี เพราะในมาตรา 3 แปลว่า คนที่ชุมนุมที่ก่ออาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นการฆ่า เผา เป็นต้น ก็ล้างผิดให้ทั้งหมด และในมาตรา 5 ถือเป็นมาตราที่เลวร้ายมากที่สุด เพราะสามารถให้ผู้ที่พ้นผิดตามมาตรานี้ สามารถทวงสิทธิ์ทางแพ่งได้ ดังนั้น ตนเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นร่างกฎหมายที่ตอบโจทย์เพียงครอบครัวชินวัตรเท่านั้น เพราะได้ล้างความผิดของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ในกรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551ด้วย นอกจากสิทธิในการทวงเงินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีอาญาแผ่นดิน ที่เป็นเป้าหมายแต่เดิมของร่างดังกล่าว

นอกจากนี้ นายประยุทธ ศิริพานิชย์ รองประธาน กมธ. ก็ยังไม่ยอมพูดให้ชัดว่า องค์กรที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีองค์กรใดบ้าง เพราะผลของกฎหมายดังกล่าว ถ้าผ่านสภาไปแล้ว คดีทุจริตทั้งหมด เช่น คดีบ้านเอื้ออาทร คดีการยิงดาวเทียม เป็นต้น ก็ไม่สามารถกลับมารื้อฟื้นดำเนินคดีได้อีก ดังนั้น จึงไม่ใช่เป็นการเซ็ตซีโร่ แต่เป็นการพานักโทษหนีคดีทะลุซอย โดยการล้มล้างกระบวนการยุติธรรมของประเทศทั้งหมด

"ร่างกฎหมายนี้เป็นร่างที่มีลักษณะที่เขียนเอาเองและเข้าข้างตัวเอง และถึงแม้ว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้จะมีการเพิ่มข้อความเกินหลักการในวาระแรก แต่ในอดีตก็มีการผ่านกฎหมายลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกัน เมื่อจะพึ่งพา ส.ว. ชุดปัจจุบัน ในการกลั่นกรองร่างกฎหมายนี้ก็ถูกรัฐบาลควบคุมเสียงได้แล้ว เพราะฉะนั้น ผมขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกคน ร่วมแสดงพลังคัดค้านกฎหมายดังกล่าว ตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลนี้ตระบัดสัตย์ต่อประชาชนในการค้นหาฆาตกรมาลงโทษในเหตุการณ์ปี 2553 และเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าพรรตเพื่อไทยยังมีพฤติกรรมดังกล่าว ก็อย่าหวังว่าจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก" นายอรรถวิชช์ กล่าว

นายธีมะ กาญจนไพริน โฆษกประจำตัวผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หลังจากมีข่าวเรื่องการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ก็มีองค์กน หน่วยงานต่างๆออกมาคัดค้าน อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น เนื่องจาดองค์กรเหล่านี้กังวลว่าหากกฎหมายนี้ผ่านสภา จะมีการล้างผิดให้กับคดีทุจริต ก็เท่ากับว่ามีการส่งเสริมให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น นอกจากนั้นยังมีผลโพลสำรวจหลายสำนักที่มีเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ดังนั้นจึงเป็นการยืนยันว่าไม่ได้มีแค่ฝ่ายค้านเท่านั้นที่คัดค้านเรื่องนี้ แต่ยังมีทั้งภาคธุรกิจและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้

นายธีมะ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยออกมาท้าทาย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทั้งสองคนควรปฏิเสธการนิรโทษกรรม และเดินเข้ากระบวนการยุติธรรม พร้อมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่วันนี้กลับมีกฎหมายที่มีผลครอบคลุมคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตนจึงเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาตอบด้วยตัวเองว่า จะเอาอย่างไรกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ตัวเองได้ประโยชน์ อย่าให้โฆษกประจำตัว หรือบุตรชายออกมาพูดแทน เพราะวันนี้สังคมรอฟังจากปาก พ.ต.ท.ทักษิณอยู่






กำลังโหลดความคิดเห็น