xs
xsm
sm
md
lg

“แม่เกด” ฉะล้างผิดสุดซอยเอื้อ “ทักษิณ” ชัด “ฮิวแมนไรต์” ยกคำพูดถีบหัวส่งแดงส่อเจตนาชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เศรษฐินี 7.75 ล้านโวยแหลก นิรโทษกรรมสุดซอยเอื้อประโยชน์ “ทักษิณ” กลับบ้าน แลกกับปล่อย “ทหาร-มาร์ค-เทือก” เหมาเข่ง ซัดเพื่อไทยไม่ฟังเสียงประชาชน ทำตามใบสั่ง อภิสิทธิ์ยังแมนกว่า จี้รัฐบาลหยุดโกหก เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ย้าย “ธาริต” พ้นดีเอสไอ ฮิวแมนไรต์วอตช์ขย่มซ้ำ สมยอมการเมือง ลอยตัวหนีผิด ย้ำคำพูด “เสื้อแดงส่งทักษิณแล้วขอไปเอง”ส่งสัญญาณชัด เตรียมบุกสภาฯ ทวงถาม กมธ.อีกรอบ

วันนี้ (21 ต.ค.) ที่โรงแรมรัตนโกสินตร์ สะพานผ่านพิภพลีลา ถนนราชดำเนินกลาง กลุ่มญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองปี 2553 นำโดยนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์, นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของนายสมาพันธ์ ศรีเทพ ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์, นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีระชนพฤษภา 35, นายสุนัย ผาสุข ผู้ประสานงานฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำประเทศไทย ร่วมแถลงกรณีกรรมาธิการพรรคเพื่อไทย เรื่องลักไก่นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย

โดยนางพะเยาว์เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์กลุ่มญาติผู้สูญเสียเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 ว่า ตามที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย เป็นประธาน กมธ. ได้มีมติแก้ไขมาตรา 3 ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำผิดทุกกลุ่ม ซึ่งการแก้ไขข้อความเป็นที่ชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยมีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแลกกับการนิรโทษกรรมทหารที่สังหารหมู่ประชาชนรวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและประธานศูนย์อำนวยการเยียวยาสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะนั้น

“แสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยไม่เคยฟังเสียงประชาชน โดยเฉพาะญาติผู้เสียหาย ที่ต้องการให้กระบวนการยุติธรรมเพื่อพยายามหาความจริง และเป็นการเน้นย้ำความสงสัยของของสังคมต่อพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ทั้งเรื่องทำตามใบสั่ง เอาทักษิณกลับบ้านโดยไม่คำนึงถึงวิธีการและเพิกเฉยต่อกระบวนการยุติธรรมขณะเดียวกันนายอภิสิทธิ์กลับแสดงเจตนารมณ์ว่าต้องการพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรม ถึงแม้ว่าจะเป็นเทคนิคทางการเมืองก็ตาม แต่การแสดงเจตนารมย์ดังกล่าวก็จะเป็นการผูกมัดตัวเองด้วย ทั้งนี้ หากมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมีผลบังคับใช้จะเป็นการปิดกั้นโอกาสในการดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ” นางพะเยาว์กล่าว

นางพะเยาว์กล่าวว่า ทางกลุ่มญาติผู้สูญเสียเสนอรัฐบาลซึ่งเป็นเสียงข้างมากต้องฟังเสียงประชาชนในการแก้ไขข้อความในร่างฯ ให้ผู้เกี่ยวข้องทำผิดต้องเข้าสู่กระบวนยุติธรรม ดังที่ศาลอาญาได้มีการไต่สวนการตาย และรัฐบาลต้องเร่งรัดมาตรการทางนโยบายให้นักโทษการเมืองได้รับการประกันกันตัวตามสิทธิมนุษยชนและจะต้องตั้งคณะทำงานในการเร่งรัดกระบวนการยุติธรรมเพื่อไม่ให้ล่าช้า นอกจากนี้รัฐบาลจะต้องย้ายนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ออกจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และให้พ้นจากหัวหน้าคณะสอบสวนกรณีการสังหารหมู่ประชาชนปี 2553 เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมมีความถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยมีหน้าที่ตอบคำถามประชาชนมากกว่าการตอบแทนบุญคุณบุคคลใดคนหนึ่ง โดยการตอบคำถามที่ดีที่สุดคือการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย

“ขอคัดค้านการนิรโทษแบบเหมายกเข่งของกรรมาธิการ ดิฉันเชื่อว่ามันยอมรับไม่ได้ ถึงแม้ไม่ใช่สีเสื้อก็ไม่เห็นด้วย และดิฉันขอบอกรัฐบาลให้หยุดโกหก 3 ปีที่ผ่านมาชัดมาก และการโกหกต้องหยุดได้แล้ว อย่างกระบวนการศาลโลกที่คนเสื้อแดงเข้าใจผิดอยู่ กรณี ICC นายธาริตบอกตลอดว่าคดีมีการขับเคลื่อน หลอกให้เข้าใจผิด แต่รัฐบาลต้องการใช้การนิรโทษฯ เป็นเป้าหมายหลัก และสุดท้ายคดีที่ค้างในศาลโลกก็ต้องยุติลง การเหมายกเข่งทำเพื่ออะไร เพราะอภิสิทธิ์บอกว่าไม่ต้องการ ขอสู้ตามกระบวนการยุติธรรม เมื่อบอกแบบนั้นไม่รู้ว่ากรรมาธิการทำเรื่องนี้เพื่ออะไร ในเมื่อเขาไม่อยากได้ แล้วให้เพื่ออะไร จะรีบนิรโทษฯ ไปทำไม และถ้าจะเสนอจริงก็ขอเสนอนิรโทษฯ เฉพาะประชาชนล้วนๆ และอย่าอ้างว่าฝ่ายค้านไม่ยอม เพราะดิฉันเชื่อว่ารัฐบาลทำได้ เพราะเป็นเสียงข้างมาก การนิรโทษฯ ให้เป็นเฉพาะประชาชนเท่านั้น มีประโยชน์มากที่สุด และกลุ่มญาติก็จะเห็นด้วย ถ้ามีการนิรโทษทั้งหมด กระบวนการทุกอย่างก็ต้องจบ จะมาให้รำลึกเหมือน 14 ตุลา หรือ 6 พฤษภาหรือ แล้วจะมี พ.ศ.อะไรอีก ขอให้คิดเสียใหม่” นางพะเยาว์กล่าว

ด้านนายพันธ์ศักดิ์กล่าวว่า การแก้ไขข้อความร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ โดยไม่รวมการกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้ ทั้งที่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง และศาลยกฟ้องไปหลายคดี แต่หลายคนถูกคุมขังหลายปี จึงเป็นที่น่าเสียใจที่ กมธ.ปฏิเสธว่าไม่เป็นคดีทางการเมือง นอกจากนี้ หลายร่างฯ มีการนำร่างของนิติราษฎรมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อนำมาร่างใหม่เป็นการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ซึ่งญาติร่วมกับนักสิทธิมนุษยชน หลายคดีมีปัญหามาก ทางเราเห็นว่าต้องให้สิทธิในการประกันตัวนักโทษทางการเมืองออกมาก่อน ในระหว่างที่รอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งสังคมต้องคุยกัยเรื่องนี้ก่อนที่จะผ่านร่างนิรโทษกรรม ซึ่งจะเป็นเหมือนระเบิดลูกใหญ่ที่วางอยู่ข้างหน้า

“การผ่านวาระ 2 ด้วยเรื่องแบบนี้ ก็เหมือนการยิงซ้ำคนตายอีกครั้ง ไม่รู้เป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้ว มีการกล่าวหาต่างๆ มากมาย สุดท้ายมีการพิสูจน์ด้วยการกระทำแล้ว ทั้งข้อสงสัยเรื่องใบสั่ง เรื่องเอาทักษิณกลับบ้าน หรือข้อสงสัยต่อคำพูดที่ว่าพี่น้องเสื้อแดงส่งคุณทักษิณแล้วต่อไปนี้เขาจะไปต่อเอง ความหมายมันแดงออกมาเรื่อยๆ ว่ามันหมายถึงอะไรโดยผ่านร่าง พ.ร.บ.ครั้งนี้” นายพันธ์ศักดิ์กล่าว

ขณะที่นายสุนัยระบุว่า ในนามของฮิวแมนไรท์วอช การแปรญัตติร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตอกย้ำข้อกังวลที่ฮิวแมนไรต์วอตช์ พูดมาตั้งแต่เหตุการณ์ปีความรุนแรงปี 53 จบ เรากลัวว่าประวัติศาสตร์ของการทำผิดแล้วไม่ได้รับผิดจะถูกผลิตซ้ำ ด้วยการต่อรองสมยอมกันทางการเมืองระหว่างคู่ขัดแย้ง ทั้งที่ รายงานของทั้ง คอป. และฮิวแมนไรต์วอตช์ ระบุตรงกันว่าการเสียชีวิตส่วนใหญ่ในเหตุการณ์มาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ และสาเหตุการตายก็เริ่มคืบหน้าเรื่อยๆ แต่รัฐบาลกลับประกาศนโยบายตั้งแต่ต้นเลยว่า เจ้าหน้าที่ทหารจะไม่ถูกดำเนินคดีและไม่ใช่ผู้ต้องสงสัย แต่จะถูกกันไว้เป็นพยานเท่านั้น เมื่อยังไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา รัฐบาลก็ออกมาปกป้องฝ่ายที่ก่อเหตุรุนแรง

อีกด้านหนึ่งก็มีท่าทีปฏิเสธว่าในการชุมนุมนั้นไม่มีการก่อความรุนแรงจากทางผู้ชุมนุม รวมถึงกองกำลังติดอาวุธที่เราเรียกว่าชายชุดดำ ซึ่งการดำเนินคดีก็ค่อยเลือนหายและไม่คืบหน้า เรากังวลตั้งแต่ที่มีการนำเอารายงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า เข้ามาเป็นผลการศึกษาของกรรมาธิการวิสามัญว่าด้วยการปรองดอง ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน ซึ่งเอาเรื่องของคำว่าความหมายของนิรโทษกรรมเท่าเทียมกับการปรองดอง โดยเราทักท้วงว่าจะเกิดวัฒนธรรมว่าใช้ความรุนแรงอย่างไรก็ได้ แต่ที่สุดเกิดการปรองดองสมประโยชน์ก็ไม่ต้องรับผิด มันก็จะเกิดปัญหาเหมือน เหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬ แล้วถ้าหากมีการเผชิญหน้ากันอีกครั้ง ฝ่ายที่จะห้ำหั่นกันก็จะอยู่ในความรู้สึกว่าตีกันฆ่ากันเผากันอีกรอบ แล้วก็ไปลุ้นการปรองดองกันรอบหน้า

“นี่คือสิ่งที่ทำไมองค์กรสิทธิมนุษยชนถึงทักท้วงการนิรโทษกรรมด้วยการเหมาเข่ง เราไม่ได้คัดค้านการนิรโทษกรรม แต่ต้องมีรูปแบบชัดเจนว่าการกระทำเช่นไรได้รับนิรโทษฯ และทำเช่นไรยังจะต้องเข้าสูากระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการกระทำที่นำมาสู่การเสียชีวิต ไม่ว่าผู้กระทำจะอยู่ฝ่ายใด เมื่อไม่นานนี้รัฐบาลเชิญคนมาขึ้นเวทีสมานฉันท์เพื่อก้าวสู่อนาคต ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นพูดตรงกับรายงานของ คอป. และฮิวแมนไรต์วอตช์ว่า การนิรโทษกรรมเป็นแค่ปลายน้ำ ก่อนที่จะสมานฉันท์ได้จะต้องทำความจริงให้ปรากฏ ว่าเหตุเกิดจากอะไรใครกระทำต่อใคร และขั้นต่อไปคือคนที่กระทำผิดต้องแสดงตัวตน ขอโทษสังคม รับปากจะไม่ทำอีก และพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต่อจากนั้นการสมานฉันท์ต้องหารือกันในวงกว้างในสังคมไม่ใช่พูดคุยกันวงกรรมมาธิการ” นายสนุนัยกล่าว

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า ตนเคยถูกกระทำโดยตรงจากการนิรโทษกรรมสมัย รสช. จนป่านนี้ก็ยังทำอะไรไม่ได้ และร่าง พ.ร.บ.ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้สร้างความผิดหวัง และไม่สบายใจแทนที่จะปรองดองแต่กลับเป็นความขัดแย้ง ถามรัฐบาลว่า ถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นใครจะรับผิดชแบวันนี้ตนแปลกใจมากทำไม พ.ต.ท.ทักษิณ ถามว่าทำแบบนี้ ถ้าทำแล้วแตกแยกจะทำทำไม เหตุใดจึงรอไม่ได้ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณเคยพูดว่าอะไรที่ทำให้นิรโทษกรรมประชาชนได้ก่อนให้รีบทำไป แล้วเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงต้องเอาตัวเองก่อน ในบรรดาหัวขบวนไม่ว่าจะเสื้อแดง หรือเสื้อเหลือง หรือเสื้อสีอะไรประเพณีวัฒนธรรมของผู้ที่ทำม็อบ ที่ผมก็ผ่านมา คนที่เป็นแกนนำนั้นหากเกิดปัญหาแล้วต้องพร้อมติดคุกคนแรก และออกเป็นคนสุดท้าย ในคือวัฒนธรรมการทำม็อบ แล้ววันนี้มันเกิดอะไรขึ้น

ทั้งนี้ ในวันที่ 24 ต.ค. เวลา 11.00 น. กลุ่มญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 จะรวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเคลื่อนไปยังอาคารรัฐสภา โดยระบุว่าจะมอบของขวัญและทวงถามไปยังคณะ กมธ. ถึงการแก้ไขข้อความในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย เนื่องจากวันพฤหัสบดีเป็นวันที่มีการประชุมของคณะ กมธ. ชุดดังกล่าวอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทางญาติผู้สูญเสียฯ ยืนยันว่าจะเข้าไปยังหน้ารัฐสภาให้ได้ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในเขตพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็ตาม






กำลังโหลดความคิดเห็น