“มาร์ค-อภิสิทธิ์” เบิกความคดีฟ้อง “ธาริต เพ็งดิษฐ์” และพวก เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ระบุม็อบ นปช.เข้าข่ายก่อการร้าย มีชายชุดดำใช้อาวุธสงคราม ปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมและดักซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ทหาร
วันนี้ (8 ก.ค.) ที่ห้องพิจารณา 911 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ครั้งแรก คดีหมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุความรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล พนักงานสอบสวนดีเอสไอ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 90, 157 และ 200 กรณีที่ได้มีกรสรุปสำนวนสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพในข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล ในการที่ ศอฉ.มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เมื่อปี 2553
โดยวันนี้นายอภิสิทธิ์ โจทก์ที่ 1 ได้เบิกความเป็นปากแรกว่า ระหว่างปี 2552-2553 กลุ่ม นปช.มีการชุมนุมเคลื่อนไหวมาโดยตลอด ภายใต้การสั่งการของแกนนำที่ปลุกระดมมวลชนสร้างความรุนแรงในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การบุกที่ประชุมอาเซียน พัทยา จ.ชลบุรี บุกทำร้ายและทุบรถของตนที่กระทรวงมหาดไทย บุกรัฐสภาระหว่างมีการประชุม มีการเทเลือดที่ทำเนียบรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ และหน้าบ้านพักตน การใช้อาวุธสงคราม เผาทรัพย์สินทางราชการและเอกชน จากเหตุการณ์เหล่านี้รัฐบาลจึงได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมตั้ง ศอฉ.และมอบหมายให้โจทก์ที่ 2 เป็น ผอ.ศอฉ.สั่งการ ดังนั้น คำสั่งของศอฉ.จึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 17 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่กระทำเกินกว่าเหตุ ซึ่งโครงสร้างของ ศอฉ.มีนายธาริต จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการ ศอฉ.ร่วมอยู่ด้วย เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีถึงข้อกฎหมายต่างๆของ ศอฉ.และคำสั่งของศาลแพ่ง ที่เคยมีคำสั่งว่ามาตรการขอพื้นที่คืนของ ศอฉ.สามารถกระทำได้ตามหลักสากล ซึ่งเจ้าพนักงานไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา และโจทก์ที่ 2 ได้ทำตามคำสั่งของ ศอฉ.ทุกประการเป็นไปตามหลักสากล โดยจำเลยที่ 1 อยู่ร่วมในการออกคำสั่ง พร้อมทั้งและความคิดเห็น ข้อกฎหมายต่างๆ รวมทั้งยังได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลายครั้ง โดยยืนยันว่าการชุมนุมของ นปช.เป็นการก่อการร้าย และยังมีกลุ่มชายชุดดำใช้อาวุธสงครามปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย
ต่อมาวันที่ 19 พ.ค.แกนนำ นปช.ได้ประกาศยุติการชุมนุมและเข้ามอบตัวต่อสู้คดี จากนั้นตนได้ประกาศยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งจำเลยที่ 1 ยังคงดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไออยู่ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เริ่มกระทำการต่อโจทก์เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 55 ที่ได้เรียกโจทก์ทั้งสองไปที่ดีเอสไอเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งบันทึกการแจ้งกล่าวหานั้นได้บรรยายข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของแกนนำ นปช.ว่าการชุมนุมชอบด้วยกฎหมายและความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น ถ้าโจทก์ไม่มีคำสั่ง ศอฉ. ซึ่งการกล่าวหาดังกล่าวมีลักษณะที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริงและตรงกันข้ามกับการบรรยายพฤติการณ์ของแกนนำนปช.ที่ได้มีการชุมนุมตั้งแต่ พ.ย. 2552-พ.ค. 2553 ในบันทึกสำนวนคดีพิเศษที่ 18/2553 ของดีเอสไอ ในคดีที่มีการกล่าวหาการชุมนุมของนปช. รวมทั้งคำวินิจฉัยของศาลแพ่งเกี่ยวกับคดีการชุมนุมของ นปช. ทั้งที่เป็นเหตุการณ์เดียวกันกลับได้มีการบรรยายพฤติการณ์ต่างกัน ซึ่งบันทึกคดีพิเศษดังกล่าวบรรยายไว้ว่า ในการชุมนุมมีความรุนแรง มีการใช้อาวุธสงคราม เผาศาลากลางและสถานที่ราชการ ขณะที่การชุมนุมยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนายธาริต จำเลยที่ 1 ยังเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องชายชุดดำ ต่อมาทางดีเอสไอได้ส่งสำนวนคดีของแกนนำ นปช.ให้อัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2553 และอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องตามสำนวนดีเอสไอในวันที่ 11 ส.ค. 2553 และได้ยื่นฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2542/2553 ต่อศาลอาญา และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อหากับโจทก์ทั้งสองเพราะต้องการทำลายร้างโจทก์ทั้งสองทางการเมือง เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งการแจ้งข้อกล่าวหากับโจทก์ทั้งสองเพื่อให้โจทก์ยอบรับที่รัฐบาลจะผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำ นปช. และเพื่อที่จะดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอต่อไปด้วย ส่วนที่มีการระบุว่านายสุเทพ โจทก์ที่ 2 ได้มีคำสั่ง ศอฉ.อนุมัติให้มีพลแม่นปืนนั้นก็เพื่อที่จะให้มีไว้เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่และประชาชน เนื่องจากช่วงวันที่ 10 เม.ย. 2553 ได้มีกองกำลังติดอาวุธและชายชุดดำ ซึ่งได้ซุ่มทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชน แต่การที่โจทก์ที่ 2 มีคำสั่งดังกล่าวก็ยังได้ย้ำว่าให้กระทำการเพื่อปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่และประชาชนไม่ให้ถูกทำร้าย และให้หลีกเลี่ยงการใช้อาวุธหากเสี่ยงต่อชีวิตของประชาชน อีกทั้งในรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ก็ได้สรุปว่ามีกลุ่มผู้ติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในผู้ชุมนุมด้วย จนทำให้เกิดเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และสาเหตุความรุนแรงส่วนหนึ่งเกิดจากแกนนำ นปช.ปราศรัยยั่วยุปลุกระดมกลุ่มผู้ชุมนุม ภายหลังเบิกความเสร็จ ศาลจึงนัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 14 ต.ค.เวลา 09.00 น.
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์กรณีคลิปเสียงคล้าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พูดคุยกับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม ว่าเป็นสิ่งที่ควรจะต้องตรวจสอบ เพราะเรื่องที่พูดเป็นเรื่องใหญ่ กระทบต่อบ้านเมือง รวมทั้งมีการพาดพิงกองทัพ รวมไปถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีควรเอาใจใส่และพิสูจน์ความจริงให้ชัดเจน ซึ่งหากสงสัยว่าเป็นคลิปเสียงที่มีการตัดต่อหรือไม่ ก็สามารถตรวจสอบได้โดยใช้วิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า กรณีคลิปเสียงดังกล่าวเป็นสิ่งที่สังคมจับตามองว่าจะเป็นเรื่องจริงตามที่ปรากฏในคลิปเสียงหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องออกมาประกาศว่าจะไม่มีการออกกฎหมาย พ.ร.ก.นิรโทษกรรม และการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งในกองทัพจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส
เมื่อถามว่ารัฐบาลมองว่า พรรคการเมืองฝ่ายค้านอาจจะทำคลิปเสียงตัดต่อ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไปเกี่ยวอะไรด้วย จะมีก็แต่สมัยตนเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีการทำคลิปเสียงตัดต่อ อีกทั้งรู้สึกแปลกใจที่ รมช.กลาโหมและนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยออกมาปฏิเสธไม่ตรงกัน ขัดแย้งกันเอง คนหนึ่งบอกว่าไม่มี แต่อีกคนบอกเป็นคลิปตัดต่อ อย่างไรก็ตามในส่วนของกองทัพนั้นอยากให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความหนักแน่น อย่าไปยอมในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
เมื่อถามถึงคดีความที่ฟ้องร้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ โดยกล่าวเพียงว่าขณะนี้ขั้นตอนการไต่สวนยังไม่เสร็จสิ้น