“พร้อมพงศ์” โฆษกเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือต่อ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” ให้ตรวจสอบกรณีพรรคประชาธิปัตย์ หมิ่นฯ นายกรัฐมนตรี
เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 9 พ.ค.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เข้าพบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อยื่นเอกสารคำแถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ตอบโต้กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาที่ประเทศมองโกเลีย เพื่อให้ดีเอสไอพิจารณานำไปประกอบสำนวนการสอบสวนคดีความไม่สงบทางการเมืองเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 เบื้องต้นดีเอสไอรับไว้พิจารณานำไปประกอบสำนวน เพราะเห็นว่าเป็นหลักฐานสำคัญในคดี
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนได้ตรวจสอบแถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ตอบโต้นายกรัฐมนตรี ถึงสุนทรพจน์ที่มองโกเลีย ซึ่งในแถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 โดยมีการอ้างถึงแก้วสามประการ ทั้งพรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดง รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกองกำลังติดอาวุธ และชายชุดดำ อ้างถึงการใช้อาวุธสงคราม ทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เสียชีวิต และการสลายการชุมนุมในขณะนั้น ตนมองว่าคำแถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ เสมือนคำให้การของผู้กล่าวหาในคดีอาญา โดยเฉพาะเหตุการณ์สลายการชุมนุม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตีี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกกล่าวหาถูกดำเนินคดีในดีเอสไอหลายคดี ซึ่งในวันที่ 14 พ.ค.ต้องมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ซึ่งตนมองว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเหมือนคำให้การ คิดว่านายอภิสิทธิ์ คงจะทราบ นายสุเทพ คงจะรู้ ตนจึงนำแถลงการณ์มาให้ดีเอสไอพิจารณาร่วมในสำนวนได้หรือไม่ เพราะน่าจะเป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญ และเป็นหลักฐานอย่างหนึ่ง และอีกเรื่องกรณีที่นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ถูกกล่าวหาในคดีสลายการชุมนุมและทำให้มีผู้เสียชีวิต มึการฟ้องกลับอธิบดีดีเอสไอ และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งตนมองว่าเป็นการฟ้อง ซึ่งเป็นมาตรฐานทางการเมืองน่าจะต่ำ และน่าจะเป็นการกดดันการทำงานของดีเอสไอ และพนักงานสอบสวน ถ้าเทียบกับคดีประชาชนที่มาชุมนุมและถูกกล่าวหา 65 คดี ไม่มีใครฟ้องกลับพนักงานสอบสวน
ด้าน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ จะฟ้องกลับหากแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มในคดีสลายการชุมนุมว่า กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย จะมีการชี้ขาดในศาล โดยเหตุการณ์ พ.ค.2553 สังคมให้ความสำคัญ และนานาชาติจับตามอง โดยต่างฝ่ายต่างโทษกันว่าต่างฝ่ายต่างก็ผิด โดยในบริบทมุมมองของนานาชาติดูเหมือนจะมีการเรียกร้องให้มีการติดตามให้ทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อมีการพิสูจน์ความถูกต้อง เพราะจะได้เป็นการยอมรับ ดีเอสไอจึงมารับผิดชอบ เพราะคดีถูกยกระดับเป็นคดีพิเศษ มีการทำงานร่วมกับตำรวจและอัยการ ดีเอสไอได้ดำเนินคดีอย่างเสมอภาคทุกฝ่าย ฝ่ายแรกกลุ่มฮาร์ดคอร์ของ นปช.65 คดี ที่มีการฟ้องศาล มีจำเลย 295 คน คนที่ถูกดำเนินคดีก็วิพากษ์วิจารณ์เป็นธรรมดา ส่วนฝ่ายใช้อำนาจรัฐ หรือศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ.ที่มีอำนาจมากที่สุด
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่าซึ่งทางคณะพนักงานสอบสวน 3 ฝ่าย เห็นควรว่าควรนำท่านเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยการแจ้งข้อกล่าวหาทั้งร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล หรือร่วมกันก่อให้ผู้อื่นพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล เป็นการดำเนินคดีเหมือนกันกลุ่มฮาร์ดคอร์ของเสื้อแดง แต่ยังไม่ทันคดีไปถึงอัยการเพื่อสั่งคดีไปสู่ศาล ท่านก็ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม โดยการหันกลับมาฟ้องคนที่ดำเนินคดี โดยประกาศมาอีกว่าทุกคดีที่ดีเอสไอดำเนินคดีก็จะฟ้องกลับทุกคดี ตนในสถานะทำคดีก็ไม่ได้หวั่นเกรงอะไ ตนให้กำลังใจและปลุกขวัญผู้ใต้บังคับบัญชา และจะขอให้อัยการเข้ามาแก้ต่างให้ในฐานะทนายแผ่นดิน ซึ่งคาดว่าจะมีการฟ้องกลับเป็น 100 คดี ทั้งนี้ตนมีความรู้สึกว่าเป็นการสร้างรูปแบบ และบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง การมาสร้างวิธีการสวนหมัดโดยการฟ้องกลับเจ้่าหน้าที่่ทุกคดี เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น สังคมจะเกิดอะไรขึ้นถ้าตำรวจหรือดีเอสไอไปแจ้งข้อหาใครก็มีการฟ้องกลับหมดทุกคดี เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ใช่ไหม ทั้งที่ควรไปแก้ตัวกันในศาล