ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เป็นปรากฏการณ์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษชายหนีคดีหรือแม้แต่ทีมกุนซือของนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดให้พี่ชายอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เองก็คาดไม่ถึงเมื่อผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง นปช.ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน (หัวหมาก) กรุงเทพฯ ภายใต้ข้ออ้างรัฐถูกประหารโดยศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา มาชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลมีจำนวนบางตาจนผิดสังเกต ทั้งๆ ที่สถานะของรัฐบาลในขณะนี้น่าจะทำได้มากกว่าทุกครั้งด้วยซ้ำ
ตลอดการชุมนุมนับแต่วันแรก แกนนำเสื้อแดง นปช.ทั้ง "จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ธิดา, ถาวร เศรษฐ พร้อมคู่กรรม เหวง โตจิราการ ฯลฯ ต่างพยายามปลุกระดมให้เครือข่าย "เสื้อแดง" ที่ติดตามการถ่ายทอดสัญญาณผ่านทีวี-วิทยุแดงอยู่ทางบ้านให้ฮึกเหิมเก็บเสื้อผ้าออกจากบ้านมาร่วมชุมนุม แต่ก็ไม่เป็นผล
คนในสนามราชมังคลากีฬาสถาน ก็ยังบางตาอยู่เช่นเดิม ซ้ำผู้ที่มาชุมนุม ยังพากันหลบแดดหลบร้อนตามใต้อาคาร ใต้ต้นไม้ แม้แต่ช่วงหัวค่ำช่วงดึกจะ เพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อยแต่ก็ไม่ได้ดังใจ
ต่างจากภาพกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาล โค่นล้มระบอบทักษิณ ที่กระจายรวมตัวตามจุดต่างๆ คึกคักหนาตาไม่หวั่นแม้แดดร้อน ฝนตก
ม๊อบเสื้อแดงที่หรอมแหรมครั้งนี้ทำเอาแกนนำ "พรรคเพื่อไทย" โดยเฉพาะ "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-เยาวภา" ถึงกับจุกอก เงินก็จ่ายไปแล้ว...แต่ต้องเก็บอาการ!
ปรากฏการณ์ปลุกคนเสื้อแดง นปช.ไม่ขึ้นดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องเกินคาดหมาย เป็นที่รู้กันว่ามวลชนคนเสื้อแดง นปช.ทั่วประเทศ ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยหนุนมาตลอดนั้น 90% เป็นชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ ที่เหลือเป็นชนชั้นกลางในเมืองเครือข่ายญาติพี่น้องนักเลือกตั้งฝั่งพรรคเพื่อไทย หรือกลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์จากระบอบทักษิณ
การระดมพลเข้าร่วมม็อบที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน คราวนี้ ต้องยอมรับว่า ชาวบ้านกลุ่มคนเสื้อแดง นปช.โดยเฉพาะภาคอีสาน ได้ให้ความสำคัญน้อยกว่าการเก็บเกี่ยวข้าวในนาที่กำลังสุกงอม ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยพอใจที่จะอยู่บ้านรับจ้างเกี่ยวข้าวที่ได้ค่าแรงไม่ต่ำกว่า 300-400 บาท/วัน ซึ่งเป็นรายได้ที่สูงมากสำหรับชาวไร่ชาวนา
ผู้ประสานงานมวลชนเสื้อแดงของ ส.ส.เพื่อไทย ในภาคอีสานคนหนึ่งยอมรับว่า การนัดระดมพลพี่น้องเสื้อแดงชาวอีสานเข้าร่วมม็อบที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ยากมาก และมีหลายปัจจัยที่ทำให้พวกเขาไม่ยอมออกไปเหมือนครั้งก่อนๆ ซึ่งนอกเหนือจากติดภารกิจประจำปีที่ละทิ้งไม่ได้ คือ ต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวนาปีให้แล้วเสร็จแล้วยังมีเหตุผลที่พวกเขาระบายออกมาทำเอาพวกตนถึงกับอึ้ง เพราะมันเป็นความจริง เป็นความรู้สึกทางลบต่อรัฐบาล แกนนำเสื้อแดงที่สั่งสมมานานพอสมควร
ประการที่ 1.ที่เป็นปัจจัยทำให้พวกเขาไม่ยอมออกไปเหมือนครั้งก่อนๆ คือ การพาไปร่วมม็อบครั้งนี้พี่น้องเสื้อแดงมองว่าเป็นชุมนุมในภาวะที่รัฐบาลต้องการให้พวกเขาสู้เต็มที่ตามคำสั่งแกนนำเสื้อแดง เพราะฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีจำนวนมากแบบไม่เคยมีมาก่อน กลัวว่าจะพาไปปะทะ เกิดความรุนแรงเหมือนตอนปี 2553 ที่ราชประสงค์ ถ้าบาดเจ็บหรือตายขึ้นมาไม่คุ้มค่า ตัวอย่างเห็นกันมาแล้วจากพรรคพวกเสื้อแดงด้วยกันที่ถูกยิงตาย บาดเจ็บคราวก่อน บางคนก็ได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาล บางคนก็ได้ แต่ได้น้อยมาก ต้องมาดูแลรักษากันเองที่บ้าน และที่ผ่านมาแกนนำเสื้อแดงที่พาพวกเขาไปไม่เคยได้มาถามไถ่ดูแลพวกเขาเลย
ส่วนคนที่ติดคุก ถูกจับข้อหาร่วมเผาศาลากลางจังหวัดก็จะได้รับการช่วยเหลือในเรื่องคดี ช่วยเงินไม่กี่พันบาทแค่ช่วงแรกๆ เท่านั้น แต่นานวันเข้าแกนนำก็หายหน้าไปหมด ต้องติดคุกฟรี ญาติพี่น้องที่ต้องไปเยี่ยมที่เรือนจำหลายคนต้องขายบ้านขายที่นาเอาเงินเป็นค่าใช้จ่ายเทียวมาเทียวไปที่ศาล จ่ายเองหมด
ประการที่ 2.ทุกครั้งที่ไปร่วมม็อบเสื้อแดงไม่ว่าจะที่กรุงเทพฯ หรือในตัวจังหวัดที่มีนัดชุมนุม ก่อนไปบอกว่าจะให้เงิน 500 บาทบ้าง 1,000 บาทบ้าง แต่พอไปแล้วได้แค่ 200-300 บาท แม้แต่ 100 บาทก็ยังได้บ่อยๆ รู้กันทีหลังว่ามีคนอมค่าจ้างให้ไม่หมด หักเงินออกตั้งแต่ประธานโซน ซึ่งพวกนี้เป็น ส.ส.มาถึงแกนนำในจังหวัด แกนนำในตำบลก็ถูกหักอีก ถึงมือชาวบ้านเสื้อแดงไม่ถึง 200-300 บาท
ประการที่ 3.เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเสื้อแดงไม่ออกไปร่วมม็อบครั้งนี้ เพราะแกนนำระดับผู้นำชุมชน อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจำนวนไม่น้อยที่มีการศึกษาสูงๆ ติดตามข่าวสารบ้านเมืองตลอด เริ่มรู้ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไม่ได้จริงใจช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่ได้แก้ปัญหาประเทศเหมือนที่หาเสียงไว้ น้ำมันก็แพง อาหารการกินก็แพง ลูกหลานตกงาน เพราะนโยบายค่าแรง 300 บาท ที่สำคัญการออกกฎหมายหลายอย่างมุ่งช่วยเหลืออดีตนายกฯทักษิณมากกว่า
โดยเฉพาะการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้นชัดเจนว่า ต้องการลบล้างความผิดให้กับทักษิณ ได้กลับประเทศเท่านั้น แต่เอาพี่น้องเสื้อแดงที่ติดคุกเป็นข้ออ้าง เป็นแค่ผลพลอยได้และที่รับกันไม่ได้มากๆ กรณีการนิรโทษกรรมครั้งนี้จะทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นคนสั่งฆ่าประชาชนเมื่อปี 2553 พ้นผิดไปด้วย ทั้งๆ ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลเหมือนกับพี่น้องเสื้อแดงที่ถูกหลอกให้เผาศาลากลาง
ประเด็นการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมถือเป็นฝางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คนเสื้อแดงไม่พอใจ ศรัทธาที่เคยมีให้กับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลดลง
ประการที่ 4.ผลพวงจากการขึ้นบัลลังก์วินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีแก้ปมที่มาของ ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งตุลาการได้อ่านคำวินิจฉัยด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงรวมถึงประชาชนทั่วไปที่นั่งฟังมีความเข้าใจ ตาสว่างมากขึ้น เห็นพ้องกับคำวินิจฉัย เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์การบริหารงานของรัฐบาลที่คุมเสียงข้างมากในสภาฯว่าไม่ได้ทำเพื่อประชาชนและประเทศชาติ แต่ทำทุกอย่างเพื่อทักษิณ และพวกพ้อง
นางอุบล (สงวนสกุล) หนึ่งในกลุ่มคนเสื้อแดงขอนแก่น บอกว่า การชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ตนและญาติตัดสินใจไม่ไป เพราะกลุ่มคนที่ออกมาไล่รัฐบาลมีมาก กลัวว่าหากแกนนำสั่งให้เดินไปเผชิญหน้าจะเกิดเหตุรุนแรง ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย และในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญแถลงคดีออกโทรทัศน์นั้นตนก็มองว่ามีเหตุมีผล ทุกฝ่ายต้องยอมรับฟังถ้าไม่มีคนคอยชี้ผิดชี้ถูกแล้วจะอยู่กันอย่างไร ถ้ารัฐบาลรับฟังท้วงติงจากคนอื่นบ้างน่าจะอยู่ได้นาน
"ช่วงนี้จึงขออยู่บ้านเกี่ยวข้าวนาของตัวเองเสร็จแล้ว แต่ก็ออกรับจ้างเกี่ยวข้าวทุกวัน ได้ค่าจ้างวันละ 400 บาท ข้าวเที่ยงเจ้าของนาเขาก็เลี้ยง ประหยัดดี แต่ถ้าไปม็อบที่กรุงเทพฯ ไม่อยากหวังเงินที่เขาจะให้ เคยได้ตอนชุมนุมใน จ.ขอนแก่นได้แค่ 200 บาทร้อนก็ร้อนไม่ได้หลับไม่ได้นอนกว่าจะนั่งรถกลับถึงบ้านตีหนึ่งตีสอง ไม่คุ้มหรอก
“ทุกวันนี้ชาวเสื้อแดงใน จ.ขอนแก่น หรือในอีสานไม่ได้เกาะกลุ่มแน่นแฟ้นกันเหมือนแต่ก่อน จำนวนไม่น้อยที่บอกว่าจะขออยู่เฉยๆ เบื่อกับการไปนั่งไปนอนในม็อบ มีข้าวให้กินฟรีก็จริง แต่จะถ่ายจะฉี่จะนอนมันลำบาก เงินตอบแทนก็ได้ไม่มากซื้อนั่นซื้อนี่ในม็อบก็แทบไม่เหลือติดตัวกลับบ้าน และที่กลัวกันมากที่สุด คือ กลัวถูกแกนนำสั่งให้ไปทำอะไรที่มันเสี่ยงอันตราย" นางอุบล กล่าว
**สายเหนือ-ตอ.กร่อยระดมคนไม่ขึ้น
ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่มคนเสื้อแดง นปช.ภาคเหนือ ยอมรับว่า ความพยายามที่จะระดมมวลชนเสื้อแดง สายเหนือเข้าร่วมชุมนุมใหญ่กับ นปช.ที่สนามราชมังคลากีฬาสถานนั้น คราวนี้คนในเครือข่าย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ต้องลงมาระดมด้วยตนเอง เช่น ในพื้นที่ จ.เชียงราย ต้องใช้บารมีของหัวคะแนน ส.ส.แต่ละเขตออกมาร่วมระดม หลังจากที่มีเสื้อแดงบางส่วนออกมาร่วมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยผลักดันสุดตัวมาแล้ว โดยมีการจัดรถให้ฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเช่าหรือค่ารถในการเดินทาง อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้การระดมคนเข้าร่วมชุมนุมก็ยังไม่สัมฤทธิ์ผลมากนัก
นายสมบูรณ์ ไพสิษฐ์พงษ์ แกนนำคนเสื้อแดงจากกลุ่มลูกคนเมืองรักชาติเชียงราย ที่เพิ่งนำพวก 5-6 คนขึ้นรถตู้ 1 คันมุ่งหน้าเข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ยอมรับว่า "ในช่วงนี้ รถแต่ละคันไม่อยากจะรับเหมานำมวลชนไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ หรือแม้แต่คนเสื้อแดงเองก็ไม่อยากจะเดินทางไปร่วมชุมนุมด้วย เหตุเพราะกลัวเกิดความสูญเสียเหมือนปี 2553"
ขณะที่แหลงข่าวจากกลุ่มคนเสื้อแดงภาคตะวันออก ยอมรับว่า หากเป็นเมื่อก่อนกลุ่มคนเสื้อแดงแต่ละพื้นที่จะต้องระดมคนแสดงพลังโชว์กันอย่างเต็มที่ แต่สำหรับงานนี้ต้องยอมรับว่า กร่อยมาก หากเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา ที่หากนายใหญ่ต้องการโชว์พลังกลุ่มคนเสื้อแดงตะวันออกก็พร้อมเสนอตัวทันที โดยเฉพาะกำลังหลักในพื้นที่พัทยา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง แต่มาคราวนี้กลับเงียบมาก ไม่มีการเรียกระดมกำลังอย่างเช่นที่ผ่านมา
สาเหตุน่าจะมาจากคนในเครือข่าย ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.ชลบุรีครั้งนี้ไม่มีเลย ทั้งจังหวัดเป็นของพรรคพลังชล ถึงแม้ว่าพลังชล จะอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล แต่ที่ประชาชนเลือกพลังชลเพราะตัวบุคคลมากกว่าการไปมีสัมพันธ์ไมตรีกับพรรคเพื่อไทย ดังนั้น เมื่อไม่มีพรรคการเมืองหนุนหลัง ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ซึ่งบางส่วนเคยเป็นเสื้อแดงมาก่อนรวมทั้งรับไม่ได้กับการเผาบ้านเมืองอย่างในอดีตที่ผ่านมา เรียกได้ว่าขณะนี้มีเสื้อแดงกลับใจเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้การระดมคนเป็นไปได้ยากขึ้น
"อีกปัจจัยหนึ่งคือเงิน ที่ไม่สามารถจะออกเถียงกันได้เลยว่าทุกครั้งที่เรียกระดมกำลังกลุ่มเสื้อแดงกลุ่มใหญ่ในระดับรากหญ้าจะต้องได้รับการดูแล เพราะทุกครั้งที่มาชุมนุมจะต้องมีค่าใช้จ่าย โดยจะจ่ายผ่านแกนนำทุกครั้ง แต่เม็ดเงินที่ลงมาถึงฐานกำลังหลักสำคัญกลับได้ไม่เต็มที ไม่คุ้มกับค่าเหนื่อย รวมถึงผลกระทบที่อาจจะมาถึงตัวมากขึ้น จึงไม่สนใจที่จะเข้าร่วมชุมนุมในครั้งนี้ เพราะทุกคนไม่ได้ไปด้วยใจ แต่ไปด้วยสินบน ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้นำกลับมีฐานะดีขึ้นจนชาวบ้านที่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงรับไม่ได้" แหล่งข่าวจากคนเสื้อแดงเผย