xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” อายเสียภาพลักษณ์ สั่งผู้ว่าฯแก้ปัญหาม็อบก่อนบุกทำเนียบฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
“ยิ่งลักษณ์” สั่ง มท.แก้ปัญหาชาวบ้าน หลังม็อบคนจนบุกกรุงถี่ “เหลิม” ได้ทีโวแก้ปัญหาต้องจบที่จังหวัด ขู่ฟ้องนายกฯเล่นงานผู้ว่าฯเกียร์ว่าง ครม.ผวาทั้งคณะออกมติเห็นชอบเด้ง ผอ.องค์การเภสัช “เต้น” หวั่นซวย เหตุไม่มีผลการสอบสวน

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานว่า ในช่วงระหว่างที่มีการพิจารณาวาระข้อเรียกร้องของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือกลุ่มพีมูฟนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความคิดเห็นตอนหนึ่งว่า สำหรับการเรียกร้องของประชาชนนั้นไม่อยากให้ประชาชนต้องเดินทางมาเรียกร้องถึงทำเนียบรัฐบาล แต่อยากให้มีการแก้ปัญหาในระดับจังหวัดก่อน โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยไปติดตามการแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ต้องทำหน้าที่แทนประชาชนและมาประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา แต่ถ้าเกินอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ควรจะประสานกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ปัญหาของประชาชนได้รับการดูแล ไม่ต้องเดินทางมาทำเนียบรัฐบาล

ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อที่ประชุมว่า เรื่องนี้ควรจะจบที่จังหวัด เพราะจังหวัดรู้ปัญหาดีที่สุด อย่างม็อบพีมูฟที่มา เวลาที่ตนลงพื้นที่ หรือนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงไปเจรจาพูดคุย คนเหล่านี้ก็พอใจ ไม่เห็นจะมีอะไร อย่างนี้แสดงว่ามีปัญหาที่จังหวัด โดยหลังจากนี้คณะทำงานจะลงพื้นที่ไปดูการทำงานที่ทางจังหวัด

“ผมไม่อยากให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เอาไปรายงานว่ามีม็อบมากดดันรัฐบาล เดี๋ยวจะมีคนมาทำนายอีกว่ารัฐบาลจะอายุสั้น หรือจะยุบสภาเพราะโดนไล่ ซึ่งโดยหลักการผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเช็กปัญหาในเบื้องต้น ต่อไปนี้ในจังหวัดหากใครไม่เร่งแก้ปัญหาในพื้นที่ ผมจะฟ้องนายกฯ” แหล่งข่าวอ้างคำพูด ร.ต.อ.เฉลิม

ด้าน นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนท้ายว่า อยากให้ ครม.บันทึกไปด้วยว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบความก้าวหน้าของการเจรจากับประชาชนกลุ่มพีมูฟ เพื่อที่นายสุภรณ์จะได้นำผลการประชุมเหล่านี้ไปแจ้งให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวรับทราบ

รายงานข่าวยังแจ้งด้วยว่า เมื่อเข้าสู่วาระการประชุมเรื่อง ขอความเห็นชอบให้ นายวิทิต อรรถเวชกุล พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยองค์การเภสัชกรรม ซึ่ง นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข นำเสนอวาระดังกล่าวผ่าน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯที่กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ที่ประชุมถกเถียงกันอย่างตึงเครียด แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำเป็นรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงขององค์กรเภสัชกรรมกรณี องค์การเภสัชกรรมสั่งซื้อวัตถุดิบพาราเซตามอล มาสำรองฯ และกรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตล่าช้า และรายงานเบื้องต้นกรณีการดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ระดับอุตสาหกรรมมาตรฐาน WHO-GMPประกอบการพิจารณาด้วยก็ตาม

โดยกระทรวงสาธารณสุข อ้างถึงมติที่ประชุมบอร์ดองค์การเภสัชกรรมว่า ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า หากให้นายวิทิต อรรถเวชกุล ดำรงตำแหน่ง ผอ.เภสัชกรรมต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้น จึงเห็นควรเลิกจ้างนายวิทิต แต่เนื่องจากตามพ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม ปี 2509 มาตรา 25 วรรค 2 กำหนดว่า การแต่งตั้ง การกำหนดเงินเดือน และการให้ออกจากตำแหน่ง จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.จึงให้เสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบต่อไป

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อมีการรายงานข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ทำให้นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ กล่าวแย้งขึ้นมาว่า ครม.ควรมีมติรับทราบ โดยไม่ต้องเห็นชอบได้หรือไม่ เพราะประเด็นของนายวิทิต ครม.ไม่ได้มีส่วนในการเข้าไปสอบสวนข้อเท็จจริง ยังไม่ทราบเรื่องว่าเป็นอย่างไร แต่เป็นเรื่องของหน่วยงานนั้นๆ

จากนั้นที่ประชุมได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง ถึงคำว่า รับทราบ หรือเห็นชอบ โดยรัฐมนตรีบางรายเสนอว่า ต่อไปควรมีการแก้ไขกฎหมาย กรณีบอร์ดที่มีการปลดบุคคลออกในลักษณะนี้ ก็ไม่ต้องให้ ครม.เห็นชอบก็ได้ ซึ่งได้มีการให้ข้อสังเกตเพื่อรับไปดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ได้ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวเป็นไปตาม กฎหมายองค์การเภสัชกรรม 2509 ตามมาตรา 25วรรค 2 กำหนดไว้ให้ ครม.ต้องเห็นชอบ

ในที่สุด นายอำพล กิตติอำพน เลขาธิการ ครม.ได้บันทึกมติ ครม.เห็นชอบตามที่บอร์ดองค์การเภสัชเห็นชอบให้นายวิทิต พ้นจากตำแหน่ง ผอ.องค์การเภสัช


กำลังโหลดความคิดเห็น