xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปปชป.แค่ไหนก็ไปไม่รอด

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ผมอ่านสัมภาษณ์ของคุณอลงกรณ์ พลบุตร เรื่องข้อเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ปฏิรูปตัวเองในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง(จำไม่ได้)ก่อนที่คุณอลงกรณ์จะโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์เสียอีก ตอนนั้นผมก็คิดว่า เดี๋ยวคุณอลงกรณ์ก็โดนคนในพรรคบอมบ์แน่

แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด คนที่อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์จึงต้องรักษาขนบของพรรคและอนุรักษ์ความเป็นประชาธิปัตย์ไว้ด้วย ถ้าใครออกนอกกรอบของพรรคเมื่อไหร่ก็จะอยู่ไม่ได้ คนหลายคนจึงออกจากพรรคและกลายเป็นศัตรูของพรรคในเวลาต่อมา ไม่ว่าคนที่ล่วงลับไปแล้วอย่าง สมัคร สุนทรเวช สนั่น ขจรประศาสน์ หรือคนที่ยังมีชีวิตอยู่อย่าง เฉลิม อยู่บำรุง จาตุรนต์ ฉายแสง ฯลฯ

ผมเห็นด้วยนะครับว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะสู้กับพรรคของทักษิณในสนามการเมืองบ้านเรา พรรคประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ แต่ผมก็มองไม่ออกนะครับว่า ข้อเสนอ 2-3 ข้อของคุณอลงกรณ์จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับพรรคของทักษิณได้สูสีขึ้น

ข้อเสนอของคุณอลงกรณ์คือ 1. ปฏิรูปโครงสร้าง 2. ปฏิรูปการบริหารจัดการ 3. ปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรและบุคลากร

มองเผินๆ ข้อเสนอของคุณอลงกรณ์ก็ดีนะครับอย่างน้อยดีกว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ทำอะไรเลย แต่ข้อเสนอของคุณอลงกรณ์ที่ว่านี้เป็นเพียงข้อเสนอที่ย้อนรอยพรรคของทักษิณเมื่อทักษิณเริ่มก่อตั้งพรรคไทยรักไทยเท่านั้นเอง เป็นเพียงข้อเสนอในการจัดการองค์กรไม่ใช่ข้อเสนอในเชิงกลยุทธ์ เพราะผมมองว่าการเมืองตอนนี้มันก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นไปหมดแล้ว และพรรคของทักษิณก็เลยจุดที่คุณอลงกรณ์เสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ปฏิรูปไปไกลแล้ว

ข้อเสนอของคุณอลงกรณ์จึงดีในแง่ที่ว่า ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะแพ้มาตลอด 20 ปี แต่ทำแล้วจะทำให้สู้กับพรรคของทักษิณได้หรือไม่นั้นยังมองไม่เห็นหนทาง

พรรคของทักษิณเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่เสนอนโยบายที่ชัดเจน ประจวบกับคนไทยเริ่มเอือมการเมืองแบบประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของชวน เชื่องช้าในยุคนั้น และเมื่อพรรคชนะเลือกตั้งทักษิณทำให้ประชาชนเห็นว่า พรรคเสนอนโยบายในสิ่งที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน การพักชำระหนี้เกษตรกร 30 บาทรักษาทุกโรค ฯลฯ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านสามารถจับต้องได้

ความจริงแล้วในเชิงกลยุทธ์การเลือกตั้งครั้งหลังๆ พรรคประชาธิปัตย์ก็พยายามเสนอนโยบายประชานิยมเข้าแข่งขัน แต่ก็ไม่ช่วยให้ฐานคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ดีขึ้น แถมซ้ำร้ายยังแพ้พรรคของทักษิณมากขึ้นด้วยซ้ำไป

ทำให้ดูเหมือนว่าการเมืองที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายเลือกข้างนโยบายไม่น่าจะใช่สิ่งที่จะชี้ขาดทางการเมืองอีกต่อไป

ผมพูดเช่นนี้เพราะเชื่อว่าการเมืองวันนี้ เป็นการเมืองแบบข้างใครข้างมันไม่สนความถูกผิด เหตุผล หรือนโยบายอีกต่อไป นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ทักษิณทำให้เกิดความแตกแยกจนมีการเมืองแบบสีเสื้อเป็นต้นมา

ผมเชื่อว่า การเมืองไทยแบบเสื้อสีนี้จะค่อยพัฒนาการเมืองไทยไปเป็นแบบ 2 พรรค คนไทยจะมีความคิดแบบเลือกข้างมากกว่าเหตุผล ความจริงถ้าเราจะดูให้ดีฐานความคิดทางการเมืองแบบเลือกข้างนี้เกิดขึ้นกับคนภาคใต้มานานแล้วและวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ก็คือ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คนใต้ก็จะเลือกและอุ้มชูพรรคประชาธิปัตย์

คำพูดว่า ส่งเสาไฟฟ้าลงคนใต้ก็เลือกก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์

เพียงแต่วันนี้ฐานความคิดแบบนี้มันได้เกิดขึ้นบ้างในภาคเหนือและภาคอีสานก็คือ ไม่ว่าอย่างไรเสียคนเหนือและอีสานก็จะเลือกพรรคของทักษิณ กลายเป็นเรื่องของภาคนิยม ต่างกันที่ภาคนิยมแบบคนใต้ที่ฝังใจกับพรรคประชาธิปัตย์นั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ความเป็นภาคนิยมของคนอีสานและคนเหนือที่มีต่อพรรคของทักษิณนั้นเพิ่งจะเกิดขึ้น

วันนี้ทักษิณส่งเสาไฟฟ้าลงคนอีสานและคนเหนือก็เลือก

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์สร้างกระแสภาคนิยมขึ้นในภาคใต้จนผูกปีชนะได้ แล้วทำไมกระแสภาคนิยมจะเกิดขึ้นในภาคอีสานและภาคเหนือบ้างไม่ได้ ที่โชคร้ายของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ ประชาชนในภาคอีสานและภาคเหนือเมื่อรวมกันแล้วมากกว่าภาคใต้หลายเท่า ดังนั้นหลายปีมานี้พรรคประชาธิปัตย์จึงผูกปีแพ้พรรคของทักษิณนั่นเอง

การเมืองวันนี้จึงอยู่นอกเหนือจากเรื่องของเหตุผลและนโยบายครับ แต่เป็นการเมืองแบบเลือกข้าง ผมคิดว่าสิ่งนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ชะล้างไปไม่ได้จากใจคนอย่างน้อยในช่วงระยะ 1-2 ทศวรรษนับจากนี้ และถ้าปล่อยให้นานไปเรื่องสีอาจจะจางลงแต่ทัศนะทางการเมืองอาจจะสืบทอดกลายเป็นประเพณีแบบภาคนิยมดังเช่นคนใต้กับพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้

ดังนั้น ฐานความคิดการเมืองแบบคนใต้ที่ฝังใจอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์นี่แหละครับที่มันกำลังย้อนเล่นงานพรรคประชาธิปัตย์ เพราะคนอีสานและคนเหนือกำลังใช้ฐานความคิดแบบเดียวกันนี้ค่อยๆ ฝังใจอยู่กับพรรคของทักษิณ

ต่อไปนี้คนอีสานและคนเหนือไม่ว่าอย่างไรเสียเขาก็จะเลือกพรรคของทักษิณเหมือนที่คนใต้ไม่ว่าฝนจะตกแดดจะออกก็จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าหากการเมืองไทยยังเป็นเช่นนี้เมื่อเทียบกันในเชิงปริมาณของประชากรภาคต่างๆ แล้วก็เชื่อได้เลยว่า ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเสนอนโยบายหรือปฏิรูปพรรคอย่างไรก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ของพรรคดีขึ้น

เดิมพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เล่นการเมืองแบบตีฝีปาก คนไทยจำนวนมากติดใจในลีลาการปราศรัยและการอภิปรายแบบเชือดเฉือนของพรรคประชาธิปัตย์ตามสไตล์นักการเมืองปักษ์ใต้ แต่วันนี้การเล่นการเมืองแบบนั้นใช้ไม่ได้เสียแล้ว เพราะพรรคของทักษิณก็มีคนที่มีฝีปากที่พร้อมจะเชือดเฉือนกับพรรคประชาธิปัตย์เหมือนกันไม่ว่าจตุพร พรหมพันธุ์ หรือณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ

แถมเมื่อเทียบกันในเชิงบริหารแล้วก็สู้พรรคของทักษิณไม่ได้ แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่แพ้เลือกตั้งมาตลอดจะได้เข้ามาบริหารในยุคของรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่โอกาสที่อภิสิทธิ์ได้รับนั้นกลับตอกย้ำความไร้ประสิทธิภาพของพรรคมากกว่าโอกาสพิสูจน์ตัวเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้บอกตรงๆ ครับ ผมมองไม่เห็นทางออกและทางรอดของพรรคประชาธิปัตย์เลย นอกจากจะรักษาความเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในสภาฯ เอาไว้ ถ้าพรรคไม่สามารถซื้อใจคนอีสานและคนเหนือได้ และยังปล่อยให้วัฒนธรรมทางการเมืองของคนอีสานและคนเหนือสืบทอดทัศนคติทางการเมืองแบบนี้จนกลายเป็นประเพณีแบบคนใต้กับพรรคประชาธิปัตย์ด้วยแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ก็คงกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านถาวร

ปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ใช่การเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค หรือการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรค การปฏิรูปการบริหาร และวัฒนธรรมขององค์กร แต่กำลังต่อสู้กับฐานความคิดทางการเมืองของคนไทยที่เปลี่ยนไป

ประชาธิปัตย์ตีกินกับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบคนใต้ที่ผูกใจให้พรรคมานาน วันนี้ฐานความคิดแบบเดียวกันของคนอีสานและคนเหนือกำลังเกิดขึ้นกับพรรคของทักษิณ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ยากครับที่ประชาธิปัตย์จะกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกในชาตินี้
กำลังโหลดความคิดเห็น