xs
xsm
sm
md
lg

ประชานิยมแนวพุทธ : การยึดหลักธรรมนำการให้

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

​จากปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ผู้คนในสังคมไทยได้รู้จักและคุ้นเคยกับคำว่า ประชานิยมหรือนโยบายให้การช่วยเหลือแก่ประชาชนในลักษณะลด แลก แจก แถม ที่นักการเมืองเสนอให้แก่ประชาชนเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยการปราศรัยหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง ในรูปแบบของความคิดกว้างๆ ไม่ลงลึกถึงแนวทางปฏิบัติ ทำให้มองเห็นว่าจะได้อะไร แต่ไม่มากกว่าการทำเช่นนั้นจะมีผลอะไรบ้าง จึงทำให้ผู้ฟังในระดับรากหญ้าซึ่งส่วนใหญ่จะมองเพียงผลดีเพียงอย่างเดียว ไม่มองผลเสียอันอาจเกิดขึ้นตามมาในอนาคต เชื่อและคล้อยตามโดยไม่เกิดข้อกังขา และนี่เองคือจุดที่ทำให้พรรคการเมืองซึ่งได้ชูนโยบายประชานิยมทำนองนี้ ได้ความนิยมอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่คนยากจนในเขตชนบทห่างไกล ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม และผู้ใช้แรงงาน

​ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นพรรคแรกที่นำนโยบายประชานิยมแนวนี้มาเสนอเพื่อสนองความต้องการของชุมชนคนรากหญ้า จึงได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเหนือพรรคการเมืองคู่แข่งคือประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

​แต่เมื่อพรรคไทยรักไทยได้มาเป็นรัฐบาล และนำนโยบายประชานิยมมาดำเนินการในทางปฏิบัติ ปรากฏว่า ก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าได้ผลดี เมื่อนำมาเปรียบเทียบโดยรวมอนุมานจากนโยบายแต่ละนโยบายโดยอาศัยปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

​1. นโยบายรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร เช่น ลำไย หอมแดง และล่าสุดคือรับจำนำข้าว ซึ่งใช้เงินจำนวนมหาศาล และปรากฏว่าได้มีการรั่วไหลในหลายๆ รูปแบบ มีทั้งการนำผลิตผลจากนอกประเทศมาสวมตอ จะเห็นได้ในกรณีข้าวเปลือก และจำนำแล้วขายขาดทุน รวมไปถึงการสูญเสียระหว่างกักเก็บ ทำให้ขายได้ในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และที่สำคัญที่สุดผลประโยชน์ไม่ตกถึงมือเกษตรกรอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ได้ตกหล่นในระหว่างกระบวนการส่วนหนึ่งซึ่งมิใช่เกษตรกร

​2. นโยบายกองทุนหมู่บ้านเพื่อให้ผู้คนในหมู่บ้านได้เข้าถึงทุน เพื่อผลประกอบการทำมาหากิน และนำเงินที่ได้มาคืนกองทุน

​แต่ผลที่ปรากฏมิได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ กล่าวคือ ชาวบ้านพากันกู้เงิน แต่มิได้นำไปลงทุนให้เกิดกำไร และนำมาคืน แต่นำไปใช้ซื้อของฟุ่มเฟือย เช่น รถจักรยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ครั้นถึงเวลาต้องคืนเงินส่วนหนึ่งไม่มีเงินมาคืนกลายเป็นลูกหนี้ที่รอติดจ่าย และคนกลุ่มนี้เองที่เป็นตัวทำลายกองทุนไปในที่สุด

​ดังนั้น นโยบายการจัดให้มีกองทุนเพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงทุน โดยไม่มีมาตรการควบคุม และกำกับการใช้เงินที่กู้ไป จึงไร้ประโยชน์ไม่ก่อให้เกิดผลดีในทางเศรษฐกิจโดยรวมแต่อย่างใด

​3. นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ถ้าดูเพียงผิวเผิน เพียงว่าคนจนแม้มีเงินเพียง 30 บาทก็เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ ก็พูดได้ว่าเป็นเรื่องดี

​แต่ถ้าดูให้ลงลึกว่า 30 บาท ที่ผู้ป่วยจ่ายไปแต่ละครั้ง จะเรียกเก็บจากรัฐเพิ่มเติมทุกครั้งไป แล้วนำมาเทียบคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ และคุณภาพของยาที่ควรจะได้รับแล้ว จะพบว่า ประชาชนผู้เสียภาษีพูดได้เต็มปากว่าได้ผลไม่คุ้มค่า เพราะผู้ป่วยที่ใช้โครงการ 30 บาท จำนวนไม่น้อย ไม่ได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ดีเท่าที่ควรจะเป็น เมื่อนำเงินที่รัฐจ่ายสมทบให้ผู้ป่วยแต่ละราย จึงพูดได้ว่าได้ผลน้อยกว่าที่ควรจะเป็นในมุมมองของการนำเงินภาษีมาสมทบ แต่อาจได้ผลดีในแง่ของปัจเจกผู้เสียเพียง 30 บาท

​อะไรทำประชานิยมไม่เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ทั้งๆ ที่เมื่อดูตามวัตถุประสงค์ และแนวทางการดำเนินการแล้วน่าจะเป็นประโยชน์ และมีวิธีการแก้ไขอย่างไร

​เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นประเด็นแห่งปัญหาข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอนำท่านผู้อ่านย้อนไปดูแนวนโยบายประชานิยมในยุคพุทธกาล หรือประมาณ 2,500 กว่าปีมาแล้ว เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับยุคนี้ว่าเหมือนกันและแตกต่างกันอย่างไร

​ประชานิยมตามแนวทางพุทธศาสตร์ ปรากฏในกูฏทันตสูตรตอนหนึ่งว่า

​“พราหมณ์ปุโรหิต แนะให้ปราบโจรผู้ร้ายก่อน แต่มิใช่ด้วยการฆ่า หรือจองจำ เพราะพวกที่เหลือจากการถูกฆ่าจะเบียดเบียนชนบทในภายหลัง โดยที่แท้ควรถอนรากโจรผู้ร้าย (ด้วยวิธีการจัดการทางเศรษฐกิจให้ดี) คือ

​1. แจกพืชแก่กสิกรที่อุตสาหะในการประกอบอาชีพ

​2. ให้ทุนแก่พ่อค้าที่อุตสาหะในการประกอบการค้า

​3. ให้อาหาร และค่าจ้างแก่ข้าราชการ (ให้ทุกคนมีรายได้)

​โดยวิธีนี้พระราชทรัพย์ก็จะเพิ่มพูน ชนบทก็จะไม่มีเสี้ยนหนาม มนุษย์ทั้งหลายก็จะรื่นเริง ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก ไม่ต้องปิดประตูเรือน

​พระราชาก็ทำตามที่ปุโรหิตเสนอ ประชาชนก็อยู่ดีกินดี ไม่มีการโจรกรรมเกิดขึ้น”

​จากนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตหรือที่เรียกว่า ชาดกนี้จะเห็นได้ว่าเป็นรูปแบบของประชานิยมที่มุ่งให้เกิดประโยชน์สุขแก่ปวงชนอย่างแท้จริงและถาวร ด้วยการให้ แต่เลือกให้แก่ผู้ที่มีความอุตสาหะในการประกอบอาชีพ และในขณะเดียวกัน เลี้ยงดูข้าราชการให้อยู่ดีกินดีไม่เดือดร้อนไปพร้อมๆ กัน

​แต่ประชานิยมในยุคนี้มุ่งเน้นให้เกิดผลในพลเมืองของตน โดยไม่ดูความเสียหายตามมา หรือพูดง่ายๆ ประชานิยมในยุคนี้ มุ่งผลให้เกิดขึ้นแก่ปัจเจกเฉพาะหน้า โดยไม่คำนึงถึงผลเสียจะเกิดแก่ส่วนรวมในระยะยาว จึงเป็นประชานิยมที่ควรจะได้รับการทบทวน ก่อนที่ประเทศจะล่มจม
กำลังโหลดความคิดเห็น