xs
xsm
sm
md
lg

‘อำนาจนิติบัญญัติ’ไม่ใช่‘อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ’

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

แน่นอนว่ารัฐสภามีอำนาจนิติบัญญัติ

ไม่มีใครปฏิเสธ

ออกกฎหมายได้ แก้รัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบ ถ้าเป็นกฎหมายต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นการแก้รัฐธรรมนูญตัองไม่ขัดขัอห้าม 2 ประการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 291 (1) คือ ห้ามเปลี่ยนระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ ไม่ใช่จะออกกฎหมายอย่างไรก็ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้

การใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภาจึงต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้ ในกรณีนี้คือโดยศาลรัฐธรรมนูญ

อำนาจตรวจสอบร่างกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ในมาตรา 154 และมาตรา 141

แล้วอำนาจตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะอยู่ในมาตราไหนล่ะถ้าไม่ใช่มาตรา 68

ถ้าบอกว่าไม่ใช่ ด้วยเหตุผลที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วใครจะเป็นผู้คุมกฎขัอห้ามชั่วนิรันดร์ในมาตรา 291 (1) ล่ะ มีข้อห้ามชั่วนิรันดร์เช่นว่านั้นบัญญัติไว้ทำไม

หรือกำลังจะบอกว่าเป็นอำนาจรัฐสภาที่จะวินิจฉัย !

ถ้าอย่างนั้นวันหนึ่งข้างหน้า เสียงข้างมากของรัฐสภาเกิดเหิมเกริม ขอแก้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนรูปแบบรัฐ หรือเปลี่ยนระบอบการปกครอง หรือแค่เปลี่ยนโดยนัยยะเป็นต้นว่าต่อไปรัฐบาลและ/หรือรัฐสภาจะทำอะไรต้องถามพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเสียก่อน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยการยกอำนาจบางประการให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสียงข้างน้อยทานไม่ไหว จะไปศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ ให้รัฐสภาวินิจฉัย ก็แหงล่ะ เสียงข้างมากเขาก็ต้องลงมติว่าแก้ไขได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

บ้านเมืองก็อาจถึงคราพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้

จะยอมกันอย่างนั้นหรือ ?

เสียงข้างมากของรัฐสภาวันนี้กำลังสำคัญผิดว่าอำนาจนิติบัญญัติคืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

อำนาจนี้ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นอำนาจที่มีมาก่อนมีรัฐธรรมนูญ มาจากศัพท์วิชาการภาษาฝรั่งเศสว่า…

“Pouvoir Constituant”

ผมไม่ใช่ด็อกเตอร์อังดรัวต์ ไม่เคยเรียนต่างประเทศ ไม่ชำนาญภาษาต่างประเทศ แต่ความที่เคยเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่สนใจวิชากฎหมายมหาชนมาอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงปี 2535 เป็นต้นมา อ่านตำราและข้อเขียนของนักวิชาการมาบ้าง เคยเข้าไปอบรมหลักสูตรวิชากฎหมายมหาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เห็นคำคำนี้มาจนจำได้ ดูเหมือนนักวิชาการอย่างศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ และศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะเคยใช้คำแปลภาษาไทยว่า…

“อำนาจบัญญัติรัฐธรรมนูญและก่อตั้งองค์กรทางการเมือง”

สมัยรัชกาลที่ 5 ที่รับแนวคิดจากทางฝรั่งเศสเข้ามา มีคำแปลภาษาไทยที่เก๋ไปอีกอย่าง

“อำนาจตั้งแผ่นดิน”

แน่นอน อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญนี้มีอยู่จริงแท้แน่นอน แม้จะไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับใด

และอำนาจนี้ไม่ได้เป็นของรัฐสภา แต่เป็นของพระมหากษัตริย์ร่วมกับปวงชนชาวไทยเสมอมานั้นแต่วันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก (พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2475) ตามคำขอของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เพราะรัฐสภาไม่ว่าชุดไหน ๆ ก็เกิดหลังจากมีรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับแล้ว ไม่ใช่เป็นองค์กรที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น จึงน่าจะใช้อำนาจได้จำกัดเฉพาะที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนเท่านั้น จะมีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอันไร้ขอบเขตจำกัดได้อย่างไร ไม่ชอบด้วยตรรก

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ให้อำนาจแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญไว้ในมาตรา 291 รัฐสภาชุดนี้ที่เกิดภายหลังก็ทำได้เพียงเท่านั้น จะแก้กี่มาตรากี่ครั้งก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบข้อห้าม 2 ประการที่เรียกได้ว่าเป็นข้อห้ามชั่วนิรันดร์

มาตรา 68 จึงต้องเป็นมาตราที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญไว้ไม่ให้ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้ผิดไปจากเจตนารมณ์ของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญที่แท้จริง

รัฐธรรมนูญ 2550 ยืนยันชัดเจนว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่ที่พระมหากษัตริย์และประชาชนผ่านการลงประชามติครับพี่น้อง

ดูได้จากคำปรารภ

“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จัดทำใหม่นี้ มีสาระสำคัญเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันของประชาชนชาวไทยในการธำรงรักษาไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติ การทำนุบำรุงรักษาศาสนาทุกศาสนาให้สถิตสถาพร การเทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นมิ่งขวัญของชาติ การยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม การกำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา รวมทั้งให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม

“เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว สภาร่างรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ และจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบแก่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ การออกเสียงลงประชามติปรากฏผลว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้บังคับ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไป

“ทรงพระราชดำริว่าสมควรพระราชทาน พระบรมราชานุมัติตามมติของมหาชน

“จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับนี้ขึ้นไว้ ให้ใช้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ซึ่งได้ตราไว้ ณ วันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2549 ตั้งแต่วันประกาศนี้เป็นต้นไป

“ขอปวงชนชาวไทยจงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันที่จะ ปฏิบัติตามและพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ เพื่อธำรงคงไว้ ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย และนำมาซึ่งความผาสุกสิริสวัสดิ์พิพัฒนชัยมงคล อเนกศุภผลสกลเกียรติยศสถาพร แก่อาณาประชาราษฎรทั่วสยามรัฐสีมา สมดั่งพระบรมราชปณิธานปรารถนาทุกประการเทอญ”


อำนาจตั้งแผ่นดินอยู่ที่พี่น้องทุกคน

อย่าปล่อยให้นักการเมืองมาตู่เอาไปแบบหน้าด้าน ๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น