xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรัฐธรรมนูญ คำตอบสุดท้ายของการแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับขายเหล้าพ่วงเบียร์แถมน้ำ !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา “ขายเหล้าพ่วงเบียร์แถมน้ำ...” ผ่านวาระ 2 ไปแล้วตามคาดตั้งแต่เมื่อตีสองคืนวันพุธที่ 11 กันยายน 2556 แต่ก่อนจะเสร็จสมอารมณ์หมายจบสมบูรณ์ในการลงมติวาระ 3 ภายใน 15 วันที่กำหนดไว้ในวันที่ 27 กันยายน 2556 นี้ เรื่องจะเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก่อน

ยากจะคาดเดาว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งเบื้องต้นและวินิจฉัยในท้ายสุดว่าอย่างไร !

จริงครับ รัฐธรรมนูญ 2550 หรือรัฐธรรมนูญฉบับใด ๆ ก่อนหน้าไม่มีบทบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่เหมือนกับกรณีร่างพระราชบัญญัติธรรมดา ๆ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้เฉพาะในมาตรา 154 และ 141

แต่ก็ยังมีมาตรา 68 ที่พอจะสามารถปรับใช้ได้ !

และมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18 – 22/2555 รองรับไว้ว่าผู้ใดเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการขัดต่อมาตรา 68 สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง !!


คำวินิจฉัยฉบับดังกล่าวก็เกิดขึ้นเมื่อคราวการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อปีที่แล้วนั่นแหละครับ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ชัดเจนที่สุดว่าเมื่อมีผู้ยื่นคำร้องมาตามมาตรา 68 วรรคแรก ก็ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะรับเรื่องไว้วินิจฉัยได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อน

เพียงแต่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 68 วรรคแรก

แม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ครั้งที่แล้วท่านก็ไม่ถึงกับบอกว่าผิด เพียงแต่กล่าวว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาจากการลงประชามติ ถ้าจะยกร่างใหม่ทั้งฉบับขึ้นมาแทน ก็ควรจะต้องสอบถามประชาชนโดยผ่านการทำประชามติเสียก่อน หรือไม่ก็แก้ไขเป็นรายมาตราไป

คำถามคือถ้าแก้ไขเป็นรายมาตราแล้ว จะแก้อย่างไรก็แก้ได้อย่างนั้นหรือ ?

มีข้อห้ามเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยตรงในมาตรา 291 (1) เพียง 2 ประการเท่านั้น คือ หนึ่ง ห้ามเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กับ สอง ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ

คำถามคือถ้าแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยที่การแก้ไขนั้นไม่ขัดต่อมาตรา 291 (1) คือไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองฯและเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะแก้ไขอย่างไรก็ได้หรือ ?

แล้วอะไรแค่ไหนอย่างไรจึงจะถือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องห้ามตามมาตรา 68 !


คำในมาตรา 68 แม้จะใกล้เคียงกับมาตรา 291 (1) แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

“บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้”

เป็นข้อหาใหญ่ !

และเป็นข้อหาที่จะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้ !!

ปมเงื่อนอยู่ตรงประโยคนี้ครับ

"...ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้

ขีดเส้นใต้ร้อยเส้นตรงความว่า...

"...ตามรัฐธรรมนูญนี้"

ความดังกล่าวนี้ทางพรรคเพื่อไทยและส.ว.เลือกตั้งที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมักจะแก้ต่างว่าไม่ได้ล้มล้างการปกครองฯแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งฉบับ 2550 ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยแปลงระบอบการปกครองฯ และเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐอยู่แล้ว ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 291 (1)

แต่ผมเห็นมาตลอดปีกว่า ๆ และเขียนซ้ำ ณ ที่นี้ว่าไม่น่าจะใช่แค่นั้น !

เพราะความในมาตรา 68 วรรคหนึ่งนี้ มีความต็ม ๆ ว่า "ล้มล้างการปกคองระบอบประชาธิปไตยันมีพระมหากษัตริย์รงเป็นประมุขตามรัฐรรมนูญนี้" รัฐธรรมนูญท่านเน้นตรงตอนท้ายว่า "...ตามรัฐรรมนูญนี้" จึงน่าจะต้องมีความหมายเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษลงไป ไม่เหมือนกับการแค่เขียนว่า “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เฉย ๆ ซึ่งน่าจะมีความหมายในลักษณะทั่วไป

“การปกครองระบอบประชาธิปไตย” ย่อมมีได้หลายรูปแบบทั่วโลก เฉพาะในประเทศไทยเราเองที่แม้จะเป็น “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก็ยังมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามรัฐธรมนูญแต่ละฉบับ

การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในมาตรา 68 วรรคหนึ่ง จึงน่าจะหมายความเป็นการเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษแคบลงมา

คือหมายถึงล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข "...ตามรัฐธรรมนูญนี้" คือตามรูปแบบรัฐธรรมนูญ 2550

คือจะแก้ไขอย่างไรก็ได้ แต่ต้องไม่กระทบหลักการ 8 ประการที่เป็นแก่นสารสารัตถะของรัฐธรรมนูญ 2550

หลักการทั้ง 8 ประการที่ปรากฏอยู่ตั้งแต่ใน “คำปรารภ” ของรัฐธรรมนูญ 2550

ประการที่ 1 ธำรงไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติ

ประการที่ 2 ทำนุบำรุงรักษาศาสนาทุกศานาให้สถิตสถาพร

ประการที่ 3 เทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นมิ่งขวัญของชาติ

ประการที่ 4 ยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ

ประการที่ 5 คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ประการที่ 6 ให้ประชาชนมีบทบาทและส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม

ประการที่ 7 กำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา

ประการที่ 8 ให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม


หลักการทั้ง 8 ประการนี้ผ่านการลงประชามติของประชาชนและพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

ถือว่าเป็นอำนาจที่เหนืออำนาจรัฐสภา

อำนาจที่เหนืออำนาจรัฐสภา หรืออำนาจบัญญัติให้มีรัฐธรรมนูญและก่อตั้งองค์กรทางการเมืองนี้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18 – 22/2555 ได้กล่าวไว้แล้ว

คำถามคือร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่มาของส.ว.ที่อาจทำให้บทบาทของวุฒิสภาในการเป็นสภาตรวจสอบและสภาที่มาขององค์กรอิสระเปลี่ยนแปลงไปจะเข้าข่ายขัดหลักการประการที่ 7 และ 8 หรือไม่ ?

นั่นคือขัดมาตรา 68 วรรคแรกหรือไม่ ??

คำตอบไม่ได้อยู่ที่ผมหรือใคร แต่อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญครับพี่น้อง !
กำลังโหลดความคิดเห็น