โฆษกพรรคเพื่อไทยปฏิเสธอดีตนายกฯ ทักษิณ สไกป์สั่งการ ส.ส.เพื่อไทยแก้รัฐธรรมนูญ กล่าวหาแกนนำ 40 ส.ว.ปกป้องรัฐธรรมนูญ 50 ยืนยัน 312 สมาชิกรัฐสภาเดินหน้าแก้ รธน. ไม่ส่งคำชี้แจงถึงศาลรัฐธรรมนูญ อีกด้านเตรียม ส.ส.100 คนยื่นถอดถอนตุลาการแล้ว
วันนี้ (3 พ.ค.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคเพื่อไทย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สไกป์มาที่พรรคเพื่อไทย สั่งการให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 122 ว่า ตนขอปฏิเสธข้อกล่าวหาการยื่นคำร้องของนายไพบูลย์นั้นไม่เป็นความจริง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้สไกป์มาสั่ง ส.ส.ให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือล้มล้างการปกครอง และ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี มีภาวะความเป็นผู้นำ พ.ต.ท.ทักษิณแยกแยะออก ไม่เคยสั่งการหรือครอบงำสมาชิกพรรค และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณจะมาสั่งการ ส.ส.และ ส.ว. ได้อย่างไร โดย ส.ส.และ ส.ว.มีสิทธิเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติไว้ตามมาตรา 291 ซึ่งนายไพบูลย์ยืนอยู่ตรงข้ามกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย รวมถึงรัฐบาลมาตลอด จึงน่าจะเป็นเกมการทำลายพรรคเพื่อไทยเพื่อให้กระทบต่อรัฐบาลเท่านั้น และน่าจะเป็นเกมส์ปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 อีกทั้งนายไพบูลย์น่าจะได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2550 จากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
ส่วนกรณีการออกจดหมายเปิดผนึกของ 312 สมาชิกรัฐสภาคัดค้านและไม่ยอมรับอำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า สมาชิกรัฐสภา 312 คนยังคงยืนยันเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญมาก้าวล่วงและขยายเขตอำนาจของตนเอง ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 และขณะนี้อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการ การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายเวลาให้ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาออกไปอีก 15 วัน โดยจะครบกำหนดในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ยืนยันว่า 312 สมาชิกรัฐสภาจะไม่ส่งคำชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลไม่มีอำนาจมารับคำร้องตามมาตรา 68 ได้
สำหรับการยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น คงเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาที่มีการรวบรวมรายชื่อ ส.ส.ไว้ 100 คน ตามจำนวน 1 ใน 4 ของ ส.ส.เท่าที่มีอยู่ เรื่องนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งหรือการกดดันศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นไปเพื่อให้มีการทำตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ถ้าสมาชิกรัฐสภาไม่แสดงออกด้วยการออกมาปกป้องอำนาจอธิปไตยก็จะมีผลทำให้ประชาธิปไตยเกิดความอ่อนแอ จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่อยู่เหนือองค์กรอื่นๆ รวมทั้งองค์กรอิสระ ซึ่งตนเป็นห่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญยังคงกระทำผิดโดยการก้าวล่วงอำนาจอยู่ต่อไป