สรส.ยื่น ปธ.วุฒิฯ ถอด กสทช.ทั้งคณะ เหตุขัด รธน.ออกใบอนุญาต 3G เอง ละเว้นหน้าที่เหตุ บ.ใต้สัมปทานโอนลูกค้าให้ บ.ลูก กระทบรายได้รัฐฯ และออกประกาศ หวัง บ.ลูกชนะประมูลเพิ่มสิทธิ บ.แม่ แถมกำหนดให้จับสลากหากประมูลเท่ากัน ทั้งยังมีการลดรายการข่าวเหลือร้อยละ 50 พอๆ กับรายการวาไรตี้ “นิคม” ขอ 30 วันสอบรายชื่อ ไร้ปัญหาพร้อมยื่น ป.ป.ช.
วันนี้ (15 ส.ค.) ที่ห้องรับรอง 1-2 อาคารรัฐสภา 2 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นหนังสือต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อถอดถอนคณะกรรมการ กสทช.ทั้งคณะเพื่อให้ยุติการทำงาน เหตุเพราะ 1. การออกใบอนุญาตประกอบกิจการโครงข่ายมือถือ 3G เองได้ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะโครงข่ายโทรศัพท์มือถือเป็นโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดจะกระทำมิได้
2. การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กรณีพบการร่วมมือระหว่างบริษัทภายใต้สัญญาสัมปทานและบริษัทลูก กระทำการถ่ายโอนลูกค้าจากเดิมที่เคยใช้บริการโทรศัพย์ภายใต้สัญญาสัมปทานไปสู่การให้บริการบริษัทลูก กระทบรายได้นำส่งรัฐภายใต้สัญญาสัมปทาน ส่งผลให้รัฐเสียหาย 3. การที่คณะกรรมการ กสทช.ออกใบอนุญาตประเภทที่ 3 ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองแก่ผู้ประมูลคลื่นความถี่ 3G ได้ และการออกประกาศการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันเพื่อหวังให้บริษัทลูกชนะการประมูล การเพิ่มสิทธิให้บริษัทแม่ผู้รับสัมปทานเกินขอบเขตของกฎหมายและยังเป็นการละเมิดต่อสิทธิในความเป็นเจ้าของทรัพย์สินของรัฐ ทำให้ผู้ให้สัมปทานซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย และ 4. การออกประกาศคณะกรรมการ กสทช.ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 14 สิงหาคม 2556 ระบุขั้นตอนวิธีการประมูลคลื่นในกิจการวิทยุโทรทัศน์ ให้เลือกผู้ชนะการประมูลที่มีราคาสูงสุดเรียงตามลำดับ ในกรณีที่ชนะการประมูลด้วยราคาที่เท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก ก่อให้เกิดคำถามว่าการจับสลากเป็นวิธีการประมูลที่ดีที่สุดหรือไม่
นอกจากนี้ การปรับลดเนื้อหาข่าวสารที่มีสาระต่อสาธารณะจากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 มาเป็นร้อยละ 50 ทำให้ช่องรายการข่าวกับช่องรายการวาไรตี้แทบไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งที่ได้มีการท้วงติงจากภาคส่วนต่างๆ อย่างไรก็ตาม นายนิคมกล่าวว่า สามารถใช้สิทธินี้ได้แต่ต้องมีรายชื่อและข้อกล่าวหาที่ชัดเจน โดยจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน ในการตรวจสอบรายชื่อ หากขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อถูกต้องก็จะส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและถอดถอนต่อไป