xs
xsm
sm
md
lg

นิรโทษกรรม จุดยืน 3 ประการและเหตุผล

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

จุดยืนของผมต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และ/หรือร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯทุกฉบับที่เสนอกันขึ้นมาในรอบ 1 ปีมานี้นับรวมกันแล้ว 6 หรือ 7 ฉบับเป็นอย่างน้อยนั้นมีสั้น ๆ ง่าย ๆ อยู่เพียง 3 ประการ

หนึ่ง – ไม่เห็นด้วยในหลักการของทุกร่างฯ

สอง – จะต้องจัดทำเป็นร่างพ.ร.บ. และหากผ่านวาระที่ 1 จะต้องจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญไปพิจารณาเท่านั้น ไม่ใช้วิธีการกรรมาธิการเต็มสภา หรือที่เรียกกันว่าพิจารณาแบบ 3 วาระรวด

สาม – ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ปัจจุบันจะต้องไม่จัดทำเป็นพ.ร.ก.โดยเด็ดขาด


ในประการที่สามผมได้พูดไว้บ้างแล้วในข้อเขียนเมื่อสัปดาห์ก่อน ส่วนในประการที่สองนั้นเป็นที่เข้าใจได้ว่าการนิรโทษกรรมแก่ช่วงเหตุการณ์ที่ยาวนานถึง 5 ปี และนิรโทษบ้าง ไม่นิรโทษบ้าง จำเป็นต้องพิจารณาโดยรอบคอบ ไม่รวบรัดโดยอาศัยเพียงว่ามีเสียงข้างมากเท่านั้น

ในประการแรกนั้นไม่ใช่ผมไม่เห็นด้วยกับการให้อภัย และการเริ่มต้นกันใหม่ เห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่จะต้องเป็นการให้อภัยและการเริ่มต้นกันใหม่ภายใต้ความเป็นจริงที่ได้ผ่านกระบวนการตกลงกันแล้ว กฎหมายคือลายลักษณ์อักษรที่บันทึกข้อตกลงตามกระบวนการที่เกิดขึ้นและตกผลึกกันแล้ว จึงจะต้องเกิดขึ้นภายหลัง ถ้าตกลงกันแล้วจะไม่ยาก และไม่เกิดความขัดแย้ง

สรุปก็คือจะต้องพูดคุยและตกลงกันก่อนค่อยเสนอร่างกฎหมาย

อาจจะไม่ต้องตกลงกันให้ได้ครบหมดทุกเรื่องก็ได้ ประเด็นไหนตกลงกันได้ก่อน ถ้าจำเป็นจะต้องเสนอร่างกฎหมายเฉพาะประเด็นนั้นก่อน ก็สามารถทำได้

อันที่จริงแล้วขอเพียงแต่คุยกันแล้วตกลงกันได้ในบางประเด็น ไม่ต้องเสนอร่างกฎหมายใหม่หรอก ผมเชื่อว่ากฎหมายที่มีอยู่แล้วสามารถก่อให้เกิดมาตรการทางการบริหารทำให้ข้อตกลงในบางประเด็นนั้นมีผลเกิดขึ้นทันที

เป้าหมายของการนิรโทษกรรมที่ทุกฝ่ายอ้างกันนั้นคืออะไรถ้าไม่ใช่ลดความขัดแย้ง

แต่ทุกวันนี้พอเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกมา ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ก็ทวีความร้อนแรงขึ้นทันที เพราะอะไรเล่า ไม่ใช่เพราะต่างฝ่ายต่างก็เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมโดยซ่อนความต้องการของฝ่ายตนไว้ลึก ๆ หรือบางทีก็ตื้น ๆ ก็อ่านผ่านตาก็เห็นทะลุแล้วหรอกหรือ ต่างฝ่ายต่างก็อ้างคำหรู ๆ ไว้เป็นวัตถุประสงค์ของการเสนอร่างกฎหมายของตน ไม่พยายามพูดถึงวาระที่ต้องการที่แท้จริง หรือพูดก็พูดด้วยน้ำเสียงเบา ๆ เท่านั้น

ถามว่าแล้วใครจะเป็นผู้เริ่มต้นกระบวนการพูดคุย ?

หลักคิดผมมีง่าย ๆ ครับว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้มี 2 เงื่อนไขเท่านั้น เงื่อนไขหนึ่งคือผู้มีอำนาจบารมีที่ทุกฝ่ายเคารพเกรงใจเรียกทุกฝ่ายมาพูดคุย ทุบโต๊ะ บอกว่าเลิกกันได้แล้วได้ที่จะครองอำนาจแบบเอาแต่ได้น่ะ ทุกฝ่ายต้องยอมสูญเสีย แล้วหากติกาที่มีที่ยืนให้ทุกฝ่าย ถ้าเงื่อนไขนี้ไม่เกิดไม่ว่าจะด้วยประการใด ก็ต้องเป็นไปโดยอีกเงื่อนไขหนึ่งเท่านั้น คือผู้ชนะที่ครองอำนาจเหนือทุกฝ่ายตระหนักดีว่าชัยชนะที่แท้จริงที่ยั่งยืนคือการให้ทุกฝ่ายมีที่ยืน ไม่ใช่ว่าเราชนะแล้วทุกอย่างต้องเป็นของเราของโคตรเหง้าเรา ถ้าตระหนักได้อย่างนี้ก็เรียกทุกฝ่ายมาพูดคุย ทุบโต๊ะ เปิดอกบอกว่าเราจะยอมเสียสละอย่างนี้ ไอ้ที่ท่านต่อสู้มาน่ะเอาแค่นี้ได้ไหม อย่าเอาหมดเลย

ผมไม่แน่ใจว่า ณ วันนี้หรือวันหน้า เงื่อนไขข้อแรกยังจะเกิดขึ้นได้อีกอยู่หรือไม่ในสังคมนี้ ก็เลยเสนอว่าน่าจะต้องมาพิจารณาในเงื่อนไขที่สอง

อันที่จริงผมเสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2553 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแล้ว

คำตอบคือรัฐบาล !

ถึงที่สุดแล้วสังคมไทยจะต้องเติบโต จะมัวหวังให้มีผู้ไกล่เกลี่ยที่มีบารมีสูงทุกคนทุกฝ่ายเคารพและเกรงใจต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดเห็นจะไม่ได้แล้ว เพราะสภาพสังคมเปลี่ยนไปมาก ทำให้โอกาสที่จะแสวงหากลไกอุดมคติเช่นนั้นแทบจะไม่มีไม่เหลือในปัจจุบัน

ถ้ารัฐบาลไม่ทำ และทำด้วยความจริงจังและจริงใจ ความขัดแย้งก็ไม่มีวันจบหรอก

แต่คำว่ารัฐบาลไม่ได้หมายความเฉพาะรัฐบาลนี้ รัฐบาลนี้ไม่ทำก็ต้องมีรัฐบาลต่อไป อาจจะเป็นกลุ่มเดียวกับรัฐบาลนี้หรือต่างกลุ่มก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าในที่สุดไม่ว่าปีนี้หรือปีไหน ๆ ก็อาจจะเกิดกระบวนการเริ่มต้นการพูดคุยกันจนได้ อาจจะล้มเหลว อาจจะสำเร็จบ้างยังไม่สำเร็จบ้าง อาจจะใช้เวลายาวนาน แต่อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้น

รัฐบาลต้องไม่ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา

รัฐบาลในฐานะผู้ชนะ อย่างน้อยก็ชนะการเลือกตั้ง หรือไม่ก็ชนะด้วยวิถีทางอื่นขึ้นมา เงื่อนไขข้อแรกสุดในการเริ่มต้นการพูดคุยก็คือการแสดงออกให้ชัดเจนถึงความจริงจัง ความจริงใจ และความพร้อมที่จะเสียสละ

สถานการณ์ทุกวันนี้คนในประเทศมีความคิดเห็นแตกต่างกันครึ่งต่อครึ่ง จะประณามจะกล่าวหากันอย่างไรก็ตามแต่ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ และไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่อาจลบอีกฝ่ายหนึ่งออกไปจากสังคมไทยได้ คุณอาจจะชนะเลือกตั้งได้ตลอดไป แต่ไม่อาจลบความเกลียดชังที่เกิดจากคนอีกครึ่งประเทศได้ เช่นกันว่าคุณอาจจะได้อำนาจมาโดยวิธีพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งได้อีก แต่ก็ไม่อาจลบความเกลียดชังจากคนอีกครึ่งประเทศได้เช่นกัน

มีแต่การปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่เท่านั้นที่จะสลายความขัดแย้งนี้ได้

การปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่จะเป็นสิ่งที่รัฐบาลที่ครองอำนาจต้องกระทำไปพร้อม ๆ กับการเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยเพื่อนำมาสู่การนิรโทษกรรม

รัฐบาลไหนจะเริ่มต้นทำได้ ?

รัฐบาลนี้ ??


เกินความสามารถที่ผมจะตอบได้จริง ๆ

ณ ที่นี้ผมเพียงอยากจะบอกเล่ามุมมองความคิดเห็นของตัวเองที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันผ่านวิวาทะเรื่องร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับต่าง ๆ และความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

แต่ก็ไม่ถึงกับยาวนานเท่าไรนักหรอกหากเทียบกับประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์ไทย

ตั้งแต่ปี 2475 ประเทศไทยมีกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้วรวมทั้งหมดจริง ๆ ก็ 24 ฉบับ ถ้าไม่นับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309 ก็เหลือ 23 ฉบับ และถ้าไม่นับกฎหมายนิรโทษกรรมที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเสีย 2 ฉบับ ก็จะเหลือ 21 ฉบับ

จากการศึกษาเตรียมการไว้รับมือเมื่อสภาเปิดผมพบว่ามีข้อน่าสังเกตหลายประเด็นด้วยกัน

แต่วันนี้ขอพูดถึงประเด็นเดียว

กฎหมายนิรโทษกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นไม่นานนักหลังเหตุการณ์ แต่มีอยู่ฉบับเดียวคือกฎหมายนิรโทษกรรมในปี 2488 ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์นานมาก

เป็นการนิรโทษกรรมกับการกระทำในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า 12 ปี

เป็นการนิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับกระบวนการความพยายามปฏิรูปประเทศครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในปีต่อมา


น่าเสียดายที่ไม่สำเร็จ แต่ก็น่าศึกษาไว้เป็นบทเรียน
กำลังโหลดความคิดเห็น