xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.กับความไม่รับผิดชอบต่อสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นิตยสารฟอร์จูน ซึ่งเป็นนิตยสารข่าวธุรกิจชั้นนำในเครือไทมส์ อิงค์ จัดอันดับบริษัทขนาดใหญ่ของโลก 500 อันดับ ( Fortune Global 500 )ประจำปีนี้ จัดให้ บริษัท ปตท. จำ กัด (มหาชน) อยู่ในอันดับที่ 81 ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ที่อยู่ในอันดับ 95 และเป็นบริษัทไทยรายเดียวที่อยู่ใน Fortune Global 500

การจัดอันดับนี้วัดกันที่ขนาดของรายได้ กับกำไรปีต่อปี การจัดอันดับของฟอร์จูน ซึ่งแตกแขนงออกไปมากมาย เป็นเครื่องมือทางการตลาดในการสร้างอิทธิพล และความเป็นที่ยอมรับในยี่ห้อ เพื่อนำไปแสวงหารายได้จากการโฆษณาต่อไป เป็นเรื่องการตลาดที่ฉาบฉวย มิได้สะท้อนคุณภาพของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับอย่างแท้จริง

เอนรอน ซึ่งเคยเป็นยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐฯ ติดอันดับทั้งบริษัทใหญ่ที่สุดของอเมริกา และบริษัทใหญ่ที่สุดของโลกติดต่อกันหลายปี ได้รับการยกย่องจากฟอร์จูนให้เป็นบริษัทอเมริกันที่มีนวตกรรมมากที่สุดติดต่อกัน 6 ปี แต่สุดท้ายแล้ว ความจริงของเอนรอนก็คือ บริษัทที่มีการตกแต่ง ปลอมบัญชี โกหกผู้ถือหุ้นนักลงทุนและประชาชน เป็นคดีอิ้อฉาวที่สุดคดีหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ที่ซีอีโอถูกลงโทษจำคุก

ปตท. ยังได้รับรางวัล Asia’ Icon On Corporate Governance ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีเด่นของเอเชีย จัดโดยนิตยสาร Corporate Governance Asia ปตท.ได้รับรางวัลนี้ติดต่อกันเป็นปีที่ 8 แล้ว

เหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ ปตท ถือหุ้นใหญ่ 48 เปอร์เซ็นต์ รั่วไหลออกจากทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเลลงสู่อ่าวไทยเมื่อตอนเช้าวันที่ 27 กรกฎาคมเป็นประจักษ์พยานว่าการจัดอันดับและรางวัลที่ได้รับมานี้ เป็นเรื่องของการสร้างภาพจอมปลอมให้สาธารณชนหลงเชื่อเท่านั้น

เช่นเดียวกับที่ ปตท.เจียดเงินจากกำไรปีละแสนล้านบาท ตั้งรางวัลลูกโลกสีเขียว ทำโครงการปลูกป่า สนับสนุนการสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนรักษ์ทะเลไทย รวมทั้งกิจกรรมสนับสนุนสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย ก็เป็นเรื่องของการสร้างภาพตามกระแส Good Governance ของระบบทุนนิยม เพื่อปิดบังความละโมบความเห็นแก่กำไรสูงสุด

เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงทะเลนั้นเป็นอุบัติเหตุที่อาจเกิดจากความประมาทเลินเล่อ หรือเป็นเหตุสุดวิสัย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เสมอทั้งในประเทศอื่นๆ และในอ่าวไทย

แต่ปัญหาอยู่ที่ท่าทีของ ปตท. และบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล ที่สะท้อนว่า ไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เหมือนที่สร้างภาพไว้เลย คำให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารพีทีที โกลบอลฯ ในครั้งแรกๆ ที่บอกว่า กำจัดคราบน้ำมันได้เรียบร้อยแล้ว ท้องทะเลจะกลับมาใสเหมือนเดิม แต่อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาคราบน้ำมันดิบส่วนหนึ่งของน้ำมัน 5 หมื่นลิตรที่รั่ว ก็เคลื่อนเข้าสู่ชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด และกระจายไปยังอ่าวใกล้เคียง

เป็นเพราะเจตนาโกหก หรือด่วนสรุป เพราะความไม่รู้ก็ตามแต่ คำให้สัมภาษณ์นี้ รวมทั้งข่าวที่ออกมาจาก พีทีทีฯ ในเวลาต่อมาที่เน้นไปที่ประเด็นว่า กำจัดคราบน้ำมันได้แล้ว ทะเลกลับมาใสแล้ว เป็นท่าทีของการปัดสวะให้พ้นตัวแก้ปัญหาเอาหน้ารอดของ ปตท. ด้วยการพูดความจริงครึ่งเดียว

เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วลงทะเล ผลกระทบเฉพาะหน้าที่เห็นได้ชัดคือ คราบน้ำมันบนผิวน้ำที่ถูกคลื่นซัดเข้าฝั่ง แต่ผลกระทบระยาวที่รุนแรงกว่า คือ น้ำมันดิบที่ถูกทำให้แตกตัวและจมลงสู่ผิวดินใต้ทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ส่งผลต่ออาชีพของประชาชนที่ทำการประมงชายฝั่ง

ปตท. ไม่อยากพูดถึงความจริงข้อนี้ พยายามสื่อสารกับสังคมว่า น้ำใสแล้ว คราบน้ำมันหมดแล้ว แต่ไม่กล้าพูดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นใต้ผิวน้ำต่อไป

เป็นเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์แล้วที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแต่ไม่มีผู้บริหาร ปตท แม้แต่คนเดียว ไม่ว่า จะเป็นประธานกรรมการ นายปรานปรีย์ พหิตทานุกร และซีอีโอ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ออกมาพูดถึงเรื่องนี้เลย

ปตท.ไม่มีทางปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยอ้างว่า เป็นเรื่องของ พีทีที โกลบอล ได้เลย เพราะปตท. คือเจ้าของพีทีที โกลบอล นอกจากนี้ เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบที่กว้างขวาง แต่ทั้งนายปรานปรีย์ และนายไพรินทร์ไม่กล้าออกมาเผชิญหน้ากับปัญหา สื่อสารกับสังคมอย่างตรงไปตรงมาว่าจะรับผิดชอบอย่างไร แต่ใช้วิธีลอยตัวหนีปัญหา ปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแก้ปัญหากันเองด้วยการโกหกว่าทะเลใสแล้ว

นี่คือ ปตท.บริษัทผูกขาดน้ำมันครบวงจรที่อ้างว่า ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม แต่ได้เปิดเผยธาตุแท้ออกมาโดยไม่รู้ตัวแล้วว่าไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ไม่รับผิดชอบต่อสังคม
นายไพรินทร์  ชูโชติถาวร ซีอีโอ ปตท.
นายปรานปรีย์  พหิตทานุกร ประธานกรรมการ ปตท.
กำลังโหลดความคิดเห็น