xs
xsm
sm
md
lg

“ชมรม ส.ส.ร.50” ค้านนิรโทษกรรม ชี้ชัดไม่สอดคล้องหลักนิติธรรม-ขัด รธน.-เผด็จการเสียงข้างมาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชมรม ส.ส.ร.50 ออกแถลงการณ์คัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ชี้ขัดต่อหลักนิติธรรมและนิรโทษกรรมสากล หนำซ้ำขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง อาศัยเสียงข้างมากในรัฐสภาเป็นเครื่องมือเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บุคคล เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง

วันนี้ (4 พ.ย.) ได้มีแถลงการณ์ชมรม ส.ส.ร.50 เรื่องคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ระบุว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในการประชุมวาระที่ 3 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... โดยมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมหลักการในวาระที่ 2 จากการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมืองให้กลายเป็นการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญาแผ่นดินที่เป็นความผิดทุจริตต่อหน้าที่ราชการหรือการคอร์รัปชัน รวมถึงการกระทำความผิดมหันตโทษ แต่กลับอ้างว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้มุ่งหวังต่อการสร้างความปรองดองของคนในชาติ เพื่อจะทำให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบเรียบร้อย

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ชมรม ส.ส.ร.50) ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใย และเห็นพ้องต้องกันว่า การผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ส่งผลกระทบต่อหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวที่นิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดอาญาที่เป็นความผิดมหันตโทษและความผิดเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันไม่สอดคล้องกับ “หลักนิติธรรม” อย่างร้ายแรง และไม่เป็นไปตามหลักการนิรโทษกรรมสากล เพราะโดยหลักการทั่วไปแล้วการนิรโทษกรรมจะกระทำแต่เฉพาะความผิดทางการเมืองที่ไม่ใช้ความรุนแรงและไม่เป็นความผิดที่ผู้กระทำประสงค์ร้ายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทั้งนี้เพราะรัฐมีหน้าที่จะต้องปกป้องชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลต่างๆ รวมทั้งการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงและมีเจตนาเป็นการ “ทรยศ” ต่อความไว้วางใจของประชาชน ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถให้การนิรโทษกรรมได้ การที่สภาผู้แทนราษฎรโดยเผด็จการเสียงข้างมากบัญญัติให้มีการนิรโทษกรรมดังกล่าวแบบยกเข่ง ทั้งที่อยู่ในระหว่างการสอบสวน การพิจารณาคดีขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม หรือที่ศาล ได้ตัดสินเด็ดขาดแล้ว จึงเป็นการใช้อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นเผด็จการรัฐสภาที่ขัดต่อ “หลักนิติธรรม” และ “หลักการนิรโทษกรรมสากล”

2. เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง อาทิ การขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยตามมาตรา ๓ โดยออกกฎหมายลบล้างความผิดและคดีที่องค์กรตรวจสอบและศาลได้พิจารณาอยู่จนหมดสิ้น เท่ากับเป็นการล้มล้างการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการและองค์กรตรวจสอบ ที่เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยที่มาจากปวงชนจนไม่สามารถตรวจสอบการกระทำความผิดของ บรรดานักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่นโกงบ้างกินเมืองได้ และทำการขัดต่อมาตรา 30 หลักแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เพราะเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่นักการเมืองบางกลุ่มและพวกพ้องให้ได้การนิรโทษกรรมในความผิดมหันตโทษและคอร์รัปชัน เป็นการ “ทรยศ” ต่อความไว้วางใจของประชาชนแอบแฝงในการนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนโดยทั่วไป นอกจากนี้ยังละเมิดต่อหลักการในการใช้สิทธิทางศาลของบุคคลที่ได้รับการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายตามมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 32 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เสนอและพิจารณาร่างกฎหมายมีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องการลบล้างความผิดให้แก่ตนเองอันเป็นการขัดต่อมาตรา 122 และร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาไปล้มล้างบทบัญญัติมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญที่รับรองการกระทำขององค์กรที่ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมและการตรวจสอบอันเป็นการร่างกฎหมายให้มีผลเป็นการยกเลิกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ชอบด้วยหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ

3. ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวถูกตราโดยอ้างหลักการประชาธิปไตยโดยอาศัยเสียงข้างมากในรัฐสภาเป็นเครื่องมือเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บุคคล แต่กระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีความพยายามในการสร้างบรรทัดฐานการบิดเบือนกระบวนการตราพระราชบัญญัติดังที่ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของประเทศไทยมาโดยตลอด ดังเห็นได้จากการที่คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติในลักษณะที่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติที่รับหลักการในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง และไม่เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านได้ทำการโต้แย้งแสดงเหตุผลที่ ไม่เห็นด้วยอย่างเต็มที่ในการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีลักษณะเป็น “เผด็จการ” เสียงข้างมากไม่รับฟังเสียงข้างน้อย เพียงเพื่อประโยชน์ของคนเพียงบางกลุ่ม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ชมรม ส.ส.ร.50) จึงขอประกาศคัดค้านและต่อต้านร่างพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... และร้องเรียนวุฒิสภาซึ่งเป็นองค์กรของผู้ทรงคุณวุฒิ จะได้ใช้ “สติ” และ “ปัญญา” ในการพิจารณา และยังยั้งร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ที่มีหลักการอันไม่ชอบธรรมดังกล่าวมาข้างต้น และขอให้ศาลทุกศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลและขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญ หลักนิติธรรม และหลักความเป็นธรรมต่างๆในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างกล้าหาญและเที่ยงธรรมต่อไป

ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550
4 พฤศจิกายน 2556
กำลังโหลดความคิดเห็น