xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส่งออก 0% จีดีพี 3% เผาจริง “ยิ่งลักษณ์” ดิ่งนรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจที่ปั่นกันมาตั้งแต่ต้นปีจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง แต่ถึงวาระสุดท้ายในปลายปี ก็ไปไม่รอด ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าที่โม้ๆ นั้น มันโกหกทั้งเพ เพราะล่าสุด “สภาพัฒน์” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปั้นตัวเลขเอาใจรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัยได้ลดเป้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้เหลือเพียงแค่ 3% เท่านั้น จากที่คาดไว้เมื่อต้นปีว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.5-5.5% ขณะที่ตัวเลขส่งออกจากที่คุยโวจะโตถึง 11% กลับมีค่าเป็น 0% หรือไม่เติบโตขึ้นเลย

หลอกกันต่อไปไม่ไหว ถึงเวลาเผาจริง เดือดร้อนกันจริง ไม่ใช่แค่รู้สึกไปเอง อย่างที่มีรัฐมนตรีปากไวบางคนปัดสวะไม่กล้ายอมรับความจริงว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลนั้นไม่ได้เรื่อง ไม่สมราคาคุยโม้ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ว่าประชาชนจะอยู่ดีกินดี มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น

ในการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2556 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ บอกชัดๆ ว่า ภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3/2556 เติบโตเพียง 2.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.3% และคาดว่าไตรมาส 4/2556 จะเติบโตราว 1% กว่า เนื่องจากฐานที่สูงเกินปกติในไตรมาส 4/2555

สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน มีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1)การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนลดลง ร้อยละ 1.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการซื้อสินค้าคงทนประเภทยานยนต์ลดลงมากจากฐานที่สูงในปีก่อนโดยเฉพาะการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ลดลงร้อยละ 24.8 ตามการลดลงของแรงส่งจากมาตรการรถยนต์คันแรก ขณะที่การบริโภคสินค้าในหมวดอื่นๆ ชะลอตัวลงตามรายได้ที่ลดลงจากราคาสินค้าเกษตรและการส่งออกที่ตกต่ำลง

2)การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนลดลง ร้อยละ 6.5 จากที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 16.2 ส่วนภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 3.3%

3)การส่งออกต่ำกว่าคาดการณ์ โดยหดตัวลดลงร้อยละ 1.8 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่หดตัวลงร้อยละ 1.9 เนื่องจากตลาดโลกยังอยู่ในภาวะซบเซา

4)ภาคเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้าเพราะการลดลงของผลผลิตสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และกุ้งที่มีโรคระบาด

5)ภาคอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.4 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อน ตามการลดลงของอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออกและปริมาณการผลิตรถยนต์ที่สูงกว่าปกติในช่วงเดียวกันของปีก่อน

6)ภาคก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 2.2 ตามการลดลงของการก่อสร้างภาครัฐที่หดตัวร้อยละ 9.6 ขณะที่ภาคก่อสร้างของเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.8

ภาคส่วนที่ขยายตัวดีขึ้น มีเพียงสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 จากร้อยละ 14.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 6.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 มีรายรับประมาณ 3.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.7 โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวสูง 3 อันดับแรก ประกอบด้วย จีน ลาว และมาเลเซีย

สรุปรวม 9 เดือนแรกของปี 2556 ค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 1.9 การลงทนรวม ขยายตัวร้อยละ 1.1 การส่งออกสินค้า มีมูลค่าส่งออกเท่ากับ 169,708 ดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.2 ขณะที่มูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทลดลงร้อยละ 2.4 ส่วนภาคเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.9 ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 1.1 ภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.9 และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 14.7

ด้วยเหตุที่การขยายตัวแต่ละภาคส่วนดังกล่าวข้างต้นยกเว้นโรงแรมและภัตตาคารลดต่ำลง สภาพัฒน์ จึงปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2556 เหลือเพียง 3% ต่ำกว่าครั้งก่อนที่แถลงเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2556 ว่าจะขยายตัวในช่วง 3.8-4.3% เพราะการส่งออกขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์และปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งปีมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมายการผลิตของภาคเอกชนซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 2.5 ล้านคัน รวมทั้งการดำเนินการตามแผนการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้

สภาพัฒน์ ยังคาดการณ์มูลค่าการส่งออกในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐว่าจะไม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน หรือมีอัตราการเติบโตเท่ากับ 0% ส่วนการบริโภคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 0.9 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.4 และบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 0.9 ของ GDP

อย่างไรก็ตาม นายอาคม ยังวาดฝันเอาใจรัฐบาลว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0-5.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก การดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐทั้งการบริหารจัดการน้ำ และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง รวมทั้งราคาน้ำมันและเงินเฟ้อซึ่งอยู่ในระดับต่ำ สำหรับมูลค่าส่งออก คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7 การบริโภคครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.7 และ ร้อยละ 7.1 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 2.1 - 3.1 และบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ร้อยละ 0.6 ของ GDP

การปรับลดจีดีพีทั้งปีนี้ของสภาพพัฒน์ฯ เหลือ 3% ถือเป็นการคาดการณ์ที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับหน่วยทางการอื่นๆ ที่ปรับลดลงก่อนหน้านี้ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ไว้ที่ 3.7% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) 3.7% กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) 3.1% ธนาคารโลก 4% และธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) 3.8% และล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้อยู่ที่ 3% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.7%

ทันทีที่สิ้นเสียงเลขาธิการสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจที่เติบโตหลุดเป้า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมา “ตบกะโหลก” สภาพัฒน์ โทษฐานที่ไม่ปั้นตัวเลขเชลียร์รัฐบาล กลบเกลื่อนความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายกิตติรัตน์ ทำไขสือไม่รู้ว่าตัวเลขสภาพัฒนาที่ประกาศออกมาเป็นอย่างไร แต่ถือว่าเป็นตัวเลขในอดีต ตอนนี้ต้องดูปัจจุบันและอนาคต ราวกับว่า นายกิตติรัตน์ จับไม้สั้นไม้ยาวมาเป็นรัฐมนตรีคลัง จึงทำเหมือนไม่รู้ว่าเขามีหลักเกณฑ์ มีตัวแปร คิดคำนวณตัวเลขชี้วัดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกันอย่างไร

“ตอนนี้คนดูจีดีพีเขาดูข้ามช็อตไปหมดแล้ว เขาไม่มาดูอะไรย้อนหลัง ส่วนเศรษฐกิจจะชะลอตัวหรือไม่ ผมไม่รู้ แต่ผมเก็บภาษีได้เกินเป้า ส่วนภาษีศุลกากรที่เก็บได้ลดลงกลับเป็นเรื่องที่ดี คือนำเข้าน้อยลง ก็ทำให้ความเสี่ยงต่อการขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง” นายกิตติรัตน์ กล่าว

สำหรับกรณีที่ สศช.เตรียมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2556 ลงจากที่ประเมินว่าจะขยายตัว 3.8-4.3% นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องหมกมุ่นกับการที่ต้องมีอัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจที่สูง เพราะไม่มีปัญหาเรื่องอัตราการว่างงาน แต่มีปัญหาขาดแคลนแรงงานมากกว่า

การตอบโต้สภาพัฒน์ หน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจประเทศของนายกิตติรัตน์ ส่อแสดงให้เห็นรอยหยักในสมองของรัฐมนตรีคนนี้ และยังแสดงให้เห็นถึงการไม่ฟังใคร ถ้าหากพูดไม่ถูกใจ และวางอำนาจบาตรใหญ่อยู่ในที

แน่นอนว่า นายอาคม ไม่ลื่นไหลตอบสนองใบสั่งทางการเมืองได้ถึงอกถึงใจอย่างเช่นอดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ คนก่อนหน้านี้ คือ นายอำพล กิตติอำพน ที่ไต่เต้าจากเลขาธิการสภาพัฒน์ ไปเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และแซงโค้งแหกโผแบงก์ชาติขึ้นสู่ตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากการเสนอชื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นั่นเอง

ไม่แน่ว่า ชะตาอนาคตของนายอาคม จะซ้ำรอยกับนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ที่มีข่าวแว่วว่าจะถูกเตะโด่งไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงคลัง โทษฐานที่ออกมาเปิดเผยตัวเลขความอัปยศของโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจนทำให้นายกิตติรัตน์ ออกอาการหัวเสีย ขู่จะย้ายนางสาวสุภา ไปให้พ้นวงโคจรโครงการรับจำนำข้าวหลายครั้ง และสุดท้ายก็ทำสำเร็จด้วยการย้าย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ไปเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. เป็นผลให้นางสาวสุภา ต้องหลุดจากประธานโครงการปิดบัญชีรับจำนำข้าว เพราะปลัดคลังคนใหม่ คือ นาย รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ เป็นคนเข้ามาดูแลเรื่องนี้เอง

แต่ไม่ว่า รัฐบาลหรือนายกิตติรัตน์ จะฟาดงวงฟาดงาอย่างไรก็ตาม ความจริงมันฟ้องชัดๆ ว่า รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ กำลังนำพาประชาชนคนไทยทั้งประเทศดิ่งนรก เพราะความไร้ฝีมือ ผิดพลาด ที่กลบเกลื่อนอย่างไรก็ไม่มิดนั่นเอง



กำลังโหลดความคิดเห็น