ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ต้องบอกว่า เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรไทยกับลูกหลานพระยาละแวกนั้นดำเนินมาต่อเนื่องยาวนาน ก่อนที่จะมาจบลงที่นายอภิสิทธิ์และนางสาวยิ่งลักษณ์ ราชอาณาจักรกัมพูชาได้วางแผนฮุบผืนแผ่นดินไทยมาเป็นระยะๆ และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ มีการอำนวยความสะดวกหรือการให้ความร่วมมือจากฝ่ายไทยด้วยความยินยอมพร้อมใจมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ที่ไปลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกหรือที่รู้จักกันในชื่อ MOU 2543
ทั้งรัฐบาลนช.ทักษิณ ชินวัตร ที่สานต่อด้วยการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือที่รู้จักกันในชื่อ MOU 2544
โดยเฉพาะรัฐบาล นช.ทักษิณนั้นถือได้ว่าเป็นต้นตอแห่งการเสียดินแดนเลยก็ว่าได้
กล่าวคือในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ปรากฏว่าในช่วงปี พ.ศ.2547-2548 รัฐบาลกัมพูชาของนายฮุนเซนได้เปิดเกมรุกด้านปราสาทพระวิหารอย่างหนัก ได้มีการขยายตัวของชุมชนกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการก่อสร้างอาคารถาวรเพื่อเป็นที่ทำการเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของกัมพูชา และมีการสร้างถนนจากบ้านโกมุยของกัมพูชาขึ้นมายังเขาพระวิหาร ซึ่งถือเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดนของไทย
ทั้งนี้ แม้กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ทำหนังสือประท้วงต่อกัมพูชาหลายฉบับ แต่กัมพูชาก็นิ่งเฉยโดยอ้างว่า บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชา ขณะที่ฝ่ายไทยเองก็ไม่ได้ใช้มาตรการที่เข้มแข็งในการระงับกิจกรรมต่างๆ ของกัมพูชา
นอกจากนั้น ชุมชนกัมพูชายังสร้างปัญหามลภาวะปล่อยน้ำเสียทิ้งลงมา และไหลลงสู่สระตราวในเขตไทย ซึ่งชาวบ้านของไทยจำนวน 5 หมู่บ้านในพื้นที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เคยมีการประท้วงต่อจังหวัดศรีสะเกษเกี่ยวกับผลกระทบจากน้ำเสียไหลเข้ามาในพื้นที่ 5 หมู่บ้านดังกล่าว แต่กัมพูชาก็ยังไม่ได้มีการแก้ไขปัญหามลภาวะ ในขณะที่ฝ่ายไทยเองก็ไม่ได้ผลักดันอย่างจริงจังให้กัมพูชาแก้ไขปัญหา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหาร(บางคน) ผู้มีหน้าที่รักษาขอบขัณฑสีมาของประเทศ ซึ่งสนุกสนานกับการค้าตามแนวชายแดน และกระทรวงการต่างประเทศ ผู้มีหน้าที่ดูแลกิจการต่างประเทศของชาติ
แต่จุดใหญ่หรือจุดแตกหักที่สำคัญที่สุดก็คือ ประเทศกัมพูชาได้ยื่นเอกสารต่อศูนย์มรดกโลกเพื่อขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็น “มรดกโลก” ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2548
ทว่า การเจรจาตกลงยังไม่เป็นที่สิ้นสุด โดยประเด็นใหญ่ใจความในขณะนั้นมีอยู่ว่า รัฐบาลไทยมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับเขตแดนในบริเวณเขาพระวิหาร และเสนอให้จดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกันในลักษณะข้ามพรมแดน แต่กัมพูชาประกาศชัดเจนว่า ต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว
ในขณะนั้นไม่มีใครทราบว่า การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกันในลักษณะข้ามพรมแดนหรือให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนแต่เพียงผู้เดียว มีผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างกัน เนื่องจากท้ายที่สุดแล้ว แผนการที่กัมพูชาวางไว้มิได้อยู่เพียงแค่การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก หากแต่ต้องการใช้กรณีดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการรุกรานดินแดนของไทย ทั้งการจัดทำเขตแดนทางบกและการจัดทำเขตแดนทางทะเลที่เชื่อมโยงไปถึงทรัพยากรธรรมชาติอันมหาศาลในอ่าวไทยคือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาล นช.ทักษิณจะหลุดพ้นไปจากวงโคจรแห่งอำนาจ แต่ความพยายามของกัมพูชาก็ยังไม่หมดไป โดยความพยายามของกัมพูชาประสบความสำเร็จถึงขีดสุดในยุคที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อ “นายสมัคร สุนทรเวช” ผู้ที่จับผลัดจับผลูมาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยแรงสนับสนุนจาก นช.ทักษิณ และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ชื่อ “นายนพดล ปัทมะ” เมื่อกัมพูชายื่นขอจดทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อยูเนสโก(UNESCO) เกิดขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2550 ยื่นคำขอในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 ณ เมืองไครส์เชิร์ช(Chrischurch) ประเทศนิวซีแลนด์ โดยเมื่อปี พ.ศ.2549 กัมพูชาได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่อนุรักษ์ปราสาทพระวิหารพร้อมแผนที่ประกอบ ซึ่งบางส่วนของพื้นที่อนุรักษ์ดังกล่าวได้ก้าวล้ำเข้ามาใน ดินแดนไทย
ในสมัยของนายสมัครและนายนพดล ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ต้องบันทึกไว้ก็คือ การลงนามในแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชาที่กระทำอย่างเร่งรีบและเต็มไปด้วยข้อพิรุธด้วยข้ออ้างข้างๆ คูๆ ของนายนพดลว่า ต้องรีบดำเนินการยอมรับแผนที่ดังกล่าวให้เสร็จสิ้น เพราะกัมพูชาต้องรีบขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกให้ทัน เดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้
ขณะเดียวกันหากลำดับภาพตั้งแต่ต้น จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้เร่งรีบอย่างประหลาดเพราะมีการตรวจสอบแผนที่ 3 วัน จากนั้นนำเข้าที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสร็จแล้ววันรุ่งขึ้นก็นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และวันถัดมาคือ 18 มิถุนายน 2551 ก็ลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับกับกัมพูชา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงนามในวันที่ 18 มิถุนายน 2551 นั้น มีข้อมูลยืนยันอย่างชัดเจนว่า ใช้ระบบการรับ-ส่งเอกสารด้วยผู้นำสารและทางบริการส่งเอกสารเร่งด่วน
ที่สำคัญคือ ขณะที่นายนพดลลงนามยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทวิหารเป็นมรดกโลก ร่วมกับนายอึง เซียน เอกอัครราชทูตกัมพูชา ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นั้น ไม่มีการอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปในห้องดังกล่าวเลย โดยนายนพดล อ้างว่า ทางกัมพูชาไม่สะดวกให้เข้าถ่ายภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติเป็นอย่างมาก
กระทั่งลงนามเสร็จสิ้นนายนพดลจึงได้เปิดตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาลแถลงข่าวร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศ เจ้ากรมแผนที่ทหาร ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติว่าได้ลงนามยินยอมให้กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเรียบร้อย โดยยืนยันตัวปราสาทพระวิหารทั้งหมดเป็นของกัมพูชาที่ไทยแพ้คดี โดยศาลโลกตัดสินให้ตัวประสาทเป็นของกัมพูชาทั้งหมดตั้งแต่ปี 2405
นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 เหตุการณ์ที่ทำให้เชื่อได้ว่า การลงนามในแถลงการณ์ร่วมนั้น มีการเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า คือ
1.การโยกย้ายนายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้เจรจาเรื่องเขาพระวิหาร ไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นการโยกย้ายนอกฤดูกาล เพราะนายวีรชัย กำลังจะเจรจากับกัมพูชาในเรื่องสำคัญ จากนั้นได้แต่งตั้งให้นายกฤต ไกรจิตติ มาเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย
และ 2.การโยกย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2551 จาก พล.ท.ศิรพงศ์ บุญพัฒน์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และแต่งตั้ง พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาฯ สมช.สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ มาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งจากนั้นไม่นานกระบวนการรับรองแผนที่ กระบวนการต่างๆ เพื่อลงนามในแถลงการณ์ร่วมก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
เดชะบุญของประเทศไทยที่ภาคประชาชนเล็งเห็นการเสียอธิปไตยที่เกิดขึ้น และดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อทำให้ Joint communiqué แถลงการณ์ขายชาติฉบับนี้เป็นโมฆะไปในที่สุด แต่ในที่สุดก็มิอาจหยุดยั้งกัมพูชาได้
วันนี้ คนไทยคงต้องบันทึกรายชื่อของคนเหล่านี้เอาไว้และบอกต่อให้ลูกให้หลานได้จดจำอย่าได้ลืมเลือน