xs
xsm
sm
md
lg

ทบ.ระนองตั้งโต๊ะพิสูจน์ DNA มอบให้ผู้ด้อยโอกาสคนไทยไร้สัญชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระนอง - เทศบาลเมืองระนอง เปิดพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจน คนยากไร้ ที่เป็นคนไทยแต่ไม่มีเอกสารราชการราชการ ใน 5 อำเภอ จำนวน 39 ราย

วันนี้ (24 ส.ค) ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองระนอง นายประสงค์ นุรักษ์ ส.ว.สรรหา และโฆษกคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและภารกิจ เด็ก เยาวชน และสตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส เป็นประธานเปิดการพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจน คนยากไร้ ที่เป็นคนไทย แต่ไม่มีเอกสารราชการราชการที่แสดงว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยขณะนี้ มีผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจน คนยากไร้ในพื้นที่ 5 อำเภอ ในจังหวัดระนอง มาขึ้นทะเบียนขอรับการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) แล้ว 39 คน

นายชัยภัทร เศรษฐยุกานนท์ ส.ว.ระนอง กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงพบมีคนไทยจำนวนมากที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เนื่องจากขาดความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการรับรองสถานะทางทะเบียน รวมถึงปราศจากเอกสารทางราชการ หรือบุคคลที่สามารถมาเป็นพยานเพื่อยืนยันสถานภาพ ทำให้บุคคลเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ตามบทบัญญัติ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จนกลายเป็นบุคคลผู้ยากไร้ มีสถานะไม่ต่างอะไรกับคนต่างด้าว จากกรณีปัญหาดังกล่าว หน่วยงานราชการจึงเลือกใช้วิธีการการพิสูจน์สารพันธุกรรม หรือการตรวจดีเอ็นเอ (DNA) ซึ่งเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถยืนยันตัวบุคคล หรือความสัมพันธ์ทางสายโลหิตได้มีความแม่นยำ มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ทั้งกระบวนการ เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการรับรองสถานะทางทะเบียนต่อไป

สำหรับโครงการดังกล่าว ผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นคนไทยที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือคนไทยที่ถูกลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรเป็นคนไทยไม่มีสัญชาติไทย และจะต้องเป็นบุคคลผู้ยากจน ผู้ยากไร้ โดยเป็นบุคคลผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้แต่ไม่เพียงพอตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการฯ กำหนด มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และตามบทบัญญัติของกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และต้องเป็นบุคคลที่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานทางปกครอง ก่อนเข้าสู่กระบวนการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม หรือตรวจดีเอ็นเอ (DNA)

ส่วนขั้นตอนการดำเนินการ เริ่มจากการประสานสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อสำรวจข้อมูลประชาชนที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม หรือการตรวจดีเอ็นเอ (DNA) ประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงานเพื่อจัดทำแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน ประสานกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยตรวจดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อดำเนินการจัดเก็บเนื้อเยื่อจากกลุ่มเป้าหมาย และนำมาตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ ส่งผลการตรวจพิสูจน์ให้สำนักทะเบียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน และจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น