xs
xsm
sm
md
lg

ตะแบงคืนพาสปอร์ตแม้ว อ้างไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานข่าวแจ้งว่า นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือตอบกลับไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการและชี้แจงเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้นายกรัฐมนตรี พิจารณากรณีกระทรวงการต่างประเทศไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ให้ทบทวนการออกหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นนักโทษหลบหนีคดี โดยหนังสือที่นายพงศ์เทพ แจ้งกลับมายังผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ระบุว่า กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้รายงานต่อคณะทำงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งขึ้น ยืนยันว่า การใช้ดุลยพินิจในการออกหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามระเบียบฯ ดังกล่าวนั้น เป็นการคืนสิทธิเดิมในการมีหนังสือเดินทางที่ถูกคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทาง โดยรัฐบาลชุดก่อน
เพราะก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณ มีหนังสือเดินทางอยู่แล้ว คือออกให้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.50 และถูกยกเลิกเมื่อ 12 เม.ย. 52 ตามการวินิจฉัยและสั่งการของ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 23(7) ของระเบียบฯ ที่กำหนดว่า พิจารณาเห็นว่าหากให้ผู้ถือหนังสือเดินทางยังคงอยู่ในต่างประเทศต่อไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทย หรือต่างประเทศได้ ซึ่งต่อมา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ได้มีข้อวินิจฉัยและมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ว่า นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันเห็นว่าการคงอยู่ในต่างประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ขอหนังสือเดินทาง ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทย หรือต่างประเทศ ตามข้อ 23(7) ของระเบียบ จึงยกเลิกคำสั่งเดิมในเรื่องนี้ และให้ออกหนังสือเดินทางทั่วไปให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ
“ในกรณีของหนังสือเดินทางทุกประเภท เมื่อถูกยกเลิกไปแล้วไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ เช่น ยกเลิกโดยคำสั่งของกระทรวงฯ หรือการแจ้งสูญหาย กระทรวงจะยกเลิกการใช้งานของหนังสือเดินทางดังกล่าว เมื่อได้รับคืนสิทธิให้มีหนังสือเดินทาง บุคคลนั้นก็ไม่สามารถนำหนังสือเดินทางเล่มเดิมกลับมาใช้งานได้อีก การคืนสิทธิ จึงจำเป็นต้องออกหนังสือเดินทางเล่มใหม่ให้เท่านั้น ซึ่งมื่อกระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่า การใช้ดุลพินิจในการออกหนังสือเดินทางให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นไปตามระเบียบฯ แล้ว จึงเป็นกรณีที่คณะทำงานไม่อาจก้าวล่วงไปยังการใช้ดุลยพินิจดังกล่าวของกระทรวงต่างประเทศได้ ”
ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 โดยเฉพาะในข้อ 21 (2) ที่กำหนดในลักษณะให้ พนักพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลยพินิจปฏิเสธ หรือยับยั้งการขอ หรือแก้ไขหนังสือเดินทางได้ ในกรณีได้รับแจ้งว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซึ่งกำลังรับโทษในคดีอาญา หรือ อยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว หรือเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ได้มีการออกหมายจับไว้แล้ว ซึ่งศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจเห็นว่าไม่ควรจะออกหนังสือเดินทางให้นั้น ทางคณะทำงานของสำนักงานนายกรัฐมนตรี มีข้อสังเกตว่า การที่ระเบียบฯ มีลักษณะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจที่จะเลือกตัดสินใจวินิจฉัยในส่วนที่เป็นผลทางกฎหมายนั้น อาจเป็นเพราะการหนังสือเดินทางเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การวางระเบียบเกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิดังกล่าวย่อมไม่สามารถวางระเบียบให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตางเคร่งครัด แต่ต้องวางระเบียบให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลพินิจตัดสินใจตามแต่ละกรณีที่มีข้อเท็จจริงแตกต่างกัน การใช้ดุลพินิจจึงย่อมแตกต่างเช่นกัน
นอกจากนี้ข้อ 21 (2) ของระเบียบดังกล่าว ถือเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ซึ่งกำลังรับโทษในคดีอาญา หรืออยู่ระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ได้ออกหมายจับแล้วหลบหนี แต่กรณีบุคคลที่บุคคลดังกล่าวได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว มาตรการดังกล่าวอาจหมดความจำเป็นที่ศาลหรือฝ่ายปคกรองจะมีความเห้นมายังกระทรวงต่างประเทศว่าไม่ควรออกหนังสือเดินทางให้
“ในทางกลับกัน การคืนสิทธิในการมีหนังสือเดินทางกลับจะทำให้เป็นการสะดวกในการทรวบถึงความเคลื่อนไหว และสืบหาถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศของบุคคลประเภทนี้ได้ ซึ่งน่าจะตรงกับวัตถุประสงค์ของข้อ 21(2) ของระเบียบฯ ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในทางปฏบัติและตัดสินใจได้หลายอย่าง และแต่ละอย่างย่อมต้องถือว่าชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน และโดยที่กระทรวงการต่างประเทศยังยืนยันว่า ได้ใช้ดุลยพินิจในการออกหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกต้องตามระเบียบแล้ว และเมื่อกระทรวงต่างประเทศ ยืนยันว่า การใช้ดุลพินิจคืนสิทธิเดิมของการมีหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกต้องตามระเบียบฯแล้ว คณะทำงานจึงเห็นควรเป็นที่ยุติ และในส่วนของข้อเสนอให้มีการปรับปรุงระเบียบฯข้อ 21 (2) นั้น ทางกระทรวงต่างประเทศ กำลังจะตั้งคณะทำงานขึ้น คณะทำงานของสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้จะส่งข้อสังเกตไปให้พิจารณาต่อไป”
ด้านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวยอมรับว่า สำนักงานฯ ได้รับหนังสือดังจากนายพงศ์เทพ และได้มีการนำเข้าที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งหนังสือของนายพงศ์เทพ ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า การออกหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกต้องตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 โดยเป็นการคืนสิทธิเดิมการมีหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงมีมติใช้อำนาจตาม มาตรา 33 วรรค 2 และวรรค3 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 ทำรายงานผลการตรวจสอบ และดำเนินการ แจ้งต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา เพื่อให้กลไกรัฐสภา ได้ดำเนินการต่อ ซึ่งขณะนี้สำนักงานฯ อยู่ระหว่างการยกร่างรายงานฯ เพื่อเสนอต่อครม.และรัฐสภา
เมื่อถามว่า เหตุใดผู้ตรวจฯ จึงไม่ยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในเมื่อมีวินิจฉัยว่า การออกหนังสือเดินทางไม่ชอบ นายรักษเกชา กล่าวว่า ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 14 (2) ให้ผู้ตรวจฯ อาจเสนอเรื่องต่อศาลปกครองได้ในกรณี กฎ ระเบียบ หรือการกระทำใด ๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย ซึ่งกรณีนี้ ไม่ใช่เรื่องการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือกฎระเบียบขัดรัฐธรรมนูญ แต่ เพราะระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทางข้อ 21 (2) มีลักษณะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลยพินิจว่า สมควรจะออกหนังสือเดินทางให้กับบุคคลที่มีปัญหาทางกฎหมาย เช่น เป็นผู้ต้องหาคดีอาญา หรือไม่ก็ได้ จึงไม่ใช่เรื่องของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ผู้ตรวจฯ จะเสนอศาลปกครองวินิจฉัยได้
กำลังโหลดความคิดเห็น