xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์-สุเทพ” รับทราบคำสั่งฟ้อง คดีสลายม็อบเสื้อแดง ปี 53

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“อภิสิทธิ์-สุเทพ” รับทราบคำสั่งฟ้อง คดีสั่งสลายการชุมนุม นปช.ปี 53 โดยอัยการนัดส่งตัวฟ้องศาล 12 ธ.ค.นี้ เหตุทั้งสองติดประชุมสภา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

เมื่อเวลา 08.00 น.วันนี้ (31 ต.ค.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ผู้ต้องหาที่ 1-2 ในข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84, 90 และ 288 จากกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อวันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค. 2553 ได้เดินทางเข้าพบ นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายภาณุพงษ์ โชติสิน รองอธิบดีอัยการคดีพิเศษ เพื่อรับทราบคำสั่งฟ้องของนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุดอย่างเป็นทางการ โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาทีจึงเสร็จสิ้น

โดยนายนันทศักดิ์ พูลสุข เปิดเผยว่า วันนี้ได้แจ้งผลการสั่งฟ้องคดีของอัยการสูงสุด ให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพรับทราบอย่างเป็นทางการ แต่เนื่องจากวันนี้มีการประชุมสภานัดพิเศษเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองจะต้องรีบเดินทางกลับไปประชุมสภา จึงนัดส่งตัวฟ้องต่อศาลใน วันที่ 12 ธ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. โดยมีอัยการคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ส่วนเรื่องการประกันตัวขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล แต่ในสำนวนก็ไม่ได้คัดค้านการประกันตัว โดยอัยการคดีพิเศษได้ร่างคำฟ้องเสร็จสิ้นแล้ว และได้ส่งให้อัยการสูงสุดตรวจสอบแล้ว ซึ่งชั้นศาล อัยการได้เตรียมพยานนำสืบประมาณ 100 ปาก แต่จะมีการตัดพยานรายใดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล คดีนี้ตนไม่หนักใจแต่อย่างใด เพราะถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องทำหน้าที่โจทก์ในการฟ้องคดีอาญา ทุกอย่างอยู่ในสำนวนหมดแล้ว ซึ่งการฟ้องครั้งนี้เป็นการฟ้องกระทำผิดกรรมเดียว จากเหตุการณ์ภาพรวมทั้งหมดไม่ใช่เป็นการฟ้องเจาะจงเฉพาะเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง หรือผู้เสียชีวิตรายใดรายหนึ่ง ขณะที่การบรรยายฟ้องจะต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่าทั้งสองกระทำการในลักษณะก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นด้วยวิธีอะไรเช่น ด้วยการออกคำสั่ง หรือการบอกกล่าว และมีผู้เสียชีวิตหรือไม่

เมื่อถามว่า หากผู้ต้องหาเรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุมใหญ่ในการเป่านกหวีดช่วงเย็นวันนี้ แล้วจะส่งผลต่อการให้ประกันตัวหรือไม่ นายนันทศักดิ์กล่าวว่า เรื่องยื่นคัดค้านประกันตัวจะต้องรายงานผ่านพนักงานสอบสวนดีเอสไอ แต่หากไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือ มีการข่มขู่พยานให้ตกใจกลัวก็คงไม่ส่งผลกระทบต่อการประกันตัว ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการตามข้อกฎหมายในการปล่อยตัวชั่วคราว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการจับกุมผู้ที่ยิงประชาชนจนเสียชีวิตในคดีนี้ จะมีการรวมสำนวนเป็นคดีเดียวกันหรือไม่ นายนันทศักดิ์กล่าวว่า เมื่อทางดีเอสไอส่งสำนวนอื่นมาให้กับพนักงานอัยการ ตนก็จะรายงานไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้พิจารณาขอให้นำไปรวมเป็นสำนวนเดียวกันในชั้นศาล ซึ่งภายหลังหากมีการสอบสวนจับกุมผู้ที่ลงมือยิงจากการออกคำสั่งดังกล่าวผู้นั้นก็จะต้องถูกดำเนินคดีข้อหาฆ่าผู้อื่นไม่ต่างกัน ยกตัวอย่าง เช่น คดีน้องฟลุ๊ค ซึ่งเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมเหมือนกันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ปฏิบัติหน้าที่สกัดคดียาเสพติดซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ แต่การกระทำนั้นเกินกว่าเหตุ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในวันนี้ตนและนายสุเทพได้มาพบอัยการตามที่นัดหมาย แต่เนื่องจากต้องไปประชุมสภา อัยการจึงได้นัดส่งตัวฟ้องต่อศาลอีกครั้ง หลังปิดสมัยประชุมสภา ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ซึ่งตนยืนยันว่าเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 ส่งผลกระทบรุนแรง และเกิดการสูญเสียของประชาชน จึงต้องมีกระบวนการค้นหาความจริงเพื่อหาคำตอบให้กับสังคม และตนยืนยันว่าพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง และจะต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมทั้งขอย้ำว่าผู้กระทำผิดจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย หรือหลบหนีความผิดได้ เพื่อให้บ้านเมืองก้าวต่อไปข้างหน้า

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเคารพกฎหมาย ให้หยุดนำตนเองและครอบครัวอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งทางรัฐบาลควรจะต้องเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ใช่ล้างผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคืนเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการสร้างหนี้สินให้กับประเทศ รวมทั้งล้างความผิดให้คนในครอบครัว

เมื่อถามถึงกรณีที่นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาฯ นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลาออกเพื่อมาต่อสู้นอกสภา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนจะต้องทำหน้าที่คัดค้านกฎหมายอีกหลายฉบับ ซึ่งรัฐบาลพยายามจะผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและกฎหมายอื่นๆ ให้ผ่านสภา ซึ่งหากตนยังอยู่ในสภา นายสุภรณ์คงหวั่นไหว ว่าจะทำงานไม่สะดวก โดยตนและเพื่อน ส.ส.คนอื่น จะดูรูปแบบ แนวทางการต่อสู้ เพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และให้นายสุภรณ์ไปแนะนำหัวหน้ารัฐบาลดีกว่า

เมื่อถามว่าอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้ากลับมาก็จะเท่ห์ดี









กำลังโหลดความคิดเห็น