xs
xsm
sm
md
lg

อัยการเลือกช่วงปิดสภา12ธ.ค. ส่งฟ้อง"มาร์ค-เทือก"ฆ่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 08.00 น.วานนี้ (31 ต.ค.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ผู้ต้องหาที่ 1-2 ในข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิด ฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84, 90 และ 288 จากกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค. 53 ได้เดินทางเข้าพบ นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายภาณุพงษ์ โชติสิน รองอธิบดีอัยการคดีพิเศษ เพื่อรับทราบคำสั่งฟ้องของ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุดอย่างเป็นทางการ โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที จึงเสร็จสิ้น
นายนันทศักดิ์ พูลสุข เปิดเผยว่า ได้แจ้งผลการสั่งฟ้องคดีของอัยการสูงสุด ให้นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ รับทราบอย่างเป็นทางการ แต่เนื่องจากวันนี้มีการประชุมสภานัดพิเศษ เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองจะต้องรีบเดินทางกลับไปประชุมสภา จึงนัดส่งตัวฟ้องต่อศาลใน วันที่ 12 ธ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. โดยมีอัยการคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ส่วนเรื่องการประกันตัวขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล แต่ในสำนวนก็ไม่ได้คัดค้านการประกันตัว โดยอัยการคดีพิเศษได้ร่างคำฟ้องเสร็จสิ้นแล้ว และได้ส่งให้อัยการสูงสุดตรวจสอบแล้ว ซึ่งชั้นศาล อัยการได้เตรียมพยานนำสืบประมาณ 100 ปาก แต่จะมีการตัดพยานรายใดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล คดีนี้ตนไม่หนักใจแต่อย่างใด เพราะถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องทำหน้าที่โจทก์ในการฟ้องคดีอาญา ทุกอย่างอยู่ในสำนวนหมดแล้ว ซึ่งการฟ้องครั้งนี้เป็นการฟ้องกระทำผิดกรรมเดียว จากเหตุการณ์ภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่เป็นการฟ้องเจาะจงเฉพาะเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง หรือผู้เสียชีวิตรายใดรายหนึ่ง ขณะที่การบรรยายฟ้อง จะต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่าทั้งสองกระทำการในลักษณะก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นด้วยวิธีอะไรเช่น ด้วยการออกคำสั่ง หรือการบอกกล่าว และมีผู้เสียชีวิตหรือไม่
เมื่อถามว่า หากผู้ต้องหาเรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุมใหญ่ในการเป่านกหวีดช่วงเย็นวันที่ 31ต.ค. แล้วจะส่งผลต่อการให้ประกันตัวหรือไม่ นายนันทศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องยื่นคัดค้านประกันตัว จะต้องรายงานผ่านพนักงานสอบสวนดีเอสไอ แต่หากไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือ มีการข่มขู่พยานให้ตกใจกลัว ก็คงไม่ส่งผลกระทบต่อการประกันตัว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการจับกุมผู้ที่ยิงประชาชนจนเสียชีวิตในคดีนี้ จะมีการรวมสำนวนเป็นคดีเดียวกันหรือไม่ นายนันทศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อทางดีเอสไอ ส่งสำนวนอื่นมาให้กับพนักงานอัยการ ตนก็จะรายงานไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้พิจารณาขอให้นำไปรวมเป็นสำนวนเดียวกันในชั้นศาล ซึ่งภายหลังหากมีการสอบสวนจับกุมผู้ที่ลงมือยิงจากการออกคำสั่งดังกล่าว ผู้นั้นก็จะต้องถูกดำเนินคดีข้อหาฆ่าผู้อื่นไม่ต่างกัน ยกตัวอย่าง เช่น คดีน้องฟลุ๊ค ซึ่งเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมเหมือนกันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ปฏิบัติหน้าที่สกัดคดียาเสพติด ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ แต่การกระทำนั้นเกินกว่าเหตุ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต
ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนและนายสุเทพได้มาพบอัยการตามที่นัดหมาย แต่เนื่องจากต้องไปประชุมสภา อัยการจึงได้นัดส่งตัวฟ้องต่อศาลอีกครั้ง หลังปิดสมัยประชุมสภา ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ซึ่งตนยืนยันว่า เหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 53 ส่งผลกระทบรุนแรง และเกิดการสูญเสียของประชาชน จึงต้องมีกระบวนการค้นหาความจริง เพื่อหาคำตอบให้กับสังคม และตนยืนยันว่า พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง และจะต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมทั้งขอย้ำว่า ผู้กระทำผิดจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย หรือหลบหนีความผิดได้ เพื่อให้บ้านเมืองก้าวต่อไปข้างหน้า
ดังนั้นขอเรียกร้องให้รัฐบาลเคารพกฎหมาย หยุดนำตนเองและครอบครัวอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งทางรัฐบาลควรจะต้องเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ใช่ล้างผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคืนเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการสร้างหนี้สินให้กับประเทศ รวมทั้งล้างความผิดให้คนในครอบครัว
เมื่อถามถึงกรณีที่ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาฯ นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลาออกเพื่อมาต่อสู้นอกสภา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนจะต้องทำหน้าที่คัดค้านกฎหมายอีกหลายฉบับ ซึ่งรัฐบาลพยายามจะผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และกฎหมายอื่นๆ ให้ผ่านสภา ซึ่งหากตนยังอยู่ในสภา นายสุภรณ์ คงหวั่นไหวว่าจะทำงานไม่สะดวก โดยตนและเพื่อน ส.ส.คนอื่น จะดูรูปแบบ แนวทางการต่อสู้ เพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และให้นายสุภรณ์ ไปแนะนำหัวหน้ารัฐบาลดีกว่า
เมื่อถามว่า อยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้ากลับมาก็จะเท่ห์ดี

**ป.ป.ช.เดินหน้าสอบคดีสั่งสลายชุมนุมแดง

ในวันเดียวกันนี้ นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมีการยื่นถอดถอน และขอให้ดำเนินคดีอาญา นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ ใน ข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลจากการที่ ศอฉ. มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ระหว่างเดือนเม.ย.-พ.ค. 53 ต่อไป แม้อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ จากประเด็นเดียวกันนี้ต่อศาลยุติธรรมแล้ว
เนื่องจาก ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเริ่มต้นจากการร้องขอให้ถอดถอน นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ว่ามีพฤติการณ์กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในการสั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มนปช. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 271 ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 250(1) และมาตรา 272 ประกอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 19 (1) และมาตรา 63 ระบุให้กรรมการป.ป.ช.เท่านั้นมีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริง และจัดทำรายงาน เสนอต่อวุฒิสภา ป.ป.ช.จึงไม่อาจยุติการไต่สวนในเรื่องนี้ได้
ส่วนกรณีที่มีการร้องขอให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนว่ามี ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา ในการสั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนั้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 250 (2)(3) ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 19(2) (4) มาตรา 66 ระบุให้เป็นอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวน ไม่ว่าจะเป็นความผิดต่อ ตำแหน่งหน้าที่หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 275 มิได้มีข้อห้ามมิให้ป.ป.ช. พิจารณาในเรื่องกล่าวหาที่เป็นคดีในประเด็นเดียว กันและศาลประทับฟ้องหรือมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว เช่น การตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 86 (2) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองก็ยืนยันถึงอำนาจของป.ป.ช.ไว้ในมาตรา 24 ระบุว่า ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจศาล ให้ศาลรับพิจารณาพิพากษาข้อหาความผิดบทอื่นไว้ด้วย ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนจึงอยู่ในอำนาจของป.ป.ช.ที่จะดำเนินการไต่สวนและอยู่ ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงศาล เดียวเท่านั้นป.ป.ช.จึงมีมติให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ต่อไป
นายวิชา กล่าวอีกว่า ข้อเท็จจริงยืนยันว่าตำแหน่งหน้าที่ของอดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรองนายก รัฐมนตรี เป็นการสั่งการในตำแหน่งหน้าที่ ฉะนั้นข้อกล่าวหาที่เป็นการกระทำที่สืบ เนื่องจากตำแหน่งหน้าที่ ป.ป.ช. ก็สามารถฟ้องตรงไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ทั้งเรื่องตำแหน่งหน้าที่และการก่อให้เกิดการกระทำผิดในการฆ่าและเรื่อง อื่นๆ
เมื่อถามว่า เท่ากับว่ากรณีนี้นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ต้องถูกดำเนินคดีทั้ง สองศาลหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า กรณีนี้เป็นเรื่องของการทำหน้าที่ เมื่อป.ป.ช.เห็นว่ามีอำนาจในการทำหน้าที่ก็ต้องทำต่อไป แต่หากอัยการสูงสุดระบุว่า มีอำนาจหน้าที่ก็ทำต่อไปเช่นกัน สุดท้ายเรื่องก็จะไปจบที่ศาลใดศาลหนึ่งเพียงศาลเดียว อัยการสูงสุดไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ถ้าไม่ใช่เป็นกระบวนการไต่สวนที่มา จากป.ป.ช. เมื่อเรื่องมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็ต้องส่งเรื่องฟ้องไปยังศาล ชั้นต้น ดังนั้นต่อจากนี้ก็ต้องจับตาไปที่ศาลชั้นต้น ว่าจะพิจารณาออกมาเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอำนาจก็อยู่ในกระบวนการอยู่ที่ศาลยุติธรรมทั้งหมด
"ป.ป.ช .ทำตามหน้าที่ของเราโดยชอบโดยสุจริต ถ้าในที่สุดมีการฟ้องร้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ เมือง ศาลฯก็ต้องเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ แต่ในที่สุดก็จะมีเพียงศาลเดียวเท่านั้นที่จะรับเรื่องไว้พิจารณา " โฆษกป.ป.ช. กล่าว
สำหรับความคืบหน้าของการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ปี 53นั้น ขณะนี้ป.ป.ช.เตรียมที่จะเรียกพยานจำนวน3ปากเข้าไต่สวนเพิ่มเติม โดยเป็นพยานที่นั่งประชุมอยู่ใน ศอฉ.ด้วย โดยป.ป.ช.ต้องการหาความจริงว่า กระบวนการสั่งการของ ศอฉ.ได้สั่งการที่เกี่ยวเนื่องกับการสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากได้ไต่สวนพยานเพิ่มเติมและมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอก็จะสามารถ ได้ข้อยุติภายในเดือนธ.ค.นี้
ส่วนกรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เคยเป็นหนึ่งในกรรมการศอฉ. และเป็นผู้กล่าวหาด้วยนั้นจะดำเนินการอย่างไร นายวิชา กล่าวว่า ป.ป.ช.ก็ต้องพิจารณาด้วยทั้งหมด ไม่เฉพาะนายอภิสิทธิ์หรือนายสุเทพ ต้องพิจารณา ศอฉ.ทั้งหมด เพราะอย่าลืมว่า ป.ป.ช.ไม่ได้พิจารณาเรื่องส่วนตัว แต่เป็นการพิจารณาเรื่องของการใช้อำนาจในการปฏิบัติหน้าที่
นอกจากนี้ นายวิชา ยังกล่าวอีกว่า กรณีที่มีคนมองว่า จะเป็นการขัดแย้งกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ตนมองว่าไม่ได้ขัดแย้งเพราะ ป.ป.ช.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่อัยการสูงสุดเป็นองค์กรอื่น ตามรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น