xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.สอบข้อเท็จจริง “มาร์ค-เทือก” ลุยปราบแดงต่อ ยันมีอำนาจตามหน้าที่ ไม่ขัดแย้ง อสส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
“วิชา” แจงมติ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ลุยสลายแดงต่อ แม้ อสส.สั่งฟ้องศาลยุติธรรมแล้ว เหตุ ป.ป.ช.เท่านั้นมีอำนาจชงรายงานวุฒิสภา พร้อมไต่สวนคดีอาญา ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง พิจารณา เล็งเรียก 3 พยานที่ร่วม ศอฉ.ก่อนสรุป ยันทำตามหน้าที่ไม่ขัดแย้ง อสส.-ให้ จนท.สอบหลัง “สรวงศ์” แจงแก้ต่างปกปิดบัญชีทรัพย์สิน

วันนี้ (31 ต.ค.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมีการยื่นถอดถอน และขอให้ดำเนินคดีอาญานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลจากการที่ ศอฉ.มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.ระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.53 ต่อไปแม้อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จากประเด็นเดียวกันนี้ต่อศาลยุติธรรม

เนื่องจาก ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าวเริ่มต้นจากการร้องขอให้ถอดถอน นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ว่ามีพฤติการณ์กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในการสั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 271 ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 250(1) และมาตรา 272 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 19(1) และมาตรา 63 ระบุให้กรรมการ ป.ป.ช.เท่านั้นมีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงและจัดทำรายงาน เสนอต่อวุฒิสภา ป.ป.ช.จึงไม่อาจยุติการไต่สวนในเรื่องนี้ได้

ส่วนกรณีที่มีการร้องขอให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนว่ามีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาในการสั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนั้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 250(2)(3) ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 19(2)(4) มาตรา 66 ระบุให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนไม่ว่าจะเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 275 มิได้มีข้อห้ามมิให้ ป.ป.ช.พิจารณาในเรื่องกล่าวหาที่เป็นคดีในประเด็นเดียวกัน และศาลประทับฟ้อง หรือมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว เช่นการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 86(2) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองก็ยืนยันถึงอำนาจของ ป.ป.ช.ไว้ในมาตรา 24 ระบุว่า ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจศาล ให้ศาลรับพิจารณาพิพากษาข้อหาความผิดบทอื่นไว้ด้วย ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนจึงอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินการไต่สวนและอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงศาลเดียวเท่านั้น ป.ป.ช.จึงมีมติให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวต่อไป

นายวิชา กล่าวอีกว่า ข้อเท็จจริงยืนยันว่าตำแหน่งหน้าที่ของอดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นการสั่งการในตำแหน่งหน้าที่ ฉะนั้นข้อกล่าวหาที่เป็นการกระทำที่สืบเนื่องจากตำแหน่งหน้าที่ ป.ป.ช.ก็สามารถฟ้องตรงไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ทั้งเรื่องตำแหน่งหน้าที่และการก่อให้เกิดการกระทำผิดในการฆ่าและเรื่องอื่นๆ

เมื่อถามว่า เท่ากับว่ากรณีนี้นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ต้องถูกดำเนินคดีทั้งสองศาลหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า กรณีนี้เป็นเรื่องของการทำหน้าที่ เมื่อ ป.ป.ช.เห็นว่ามีอำนาจในการทำหน้าที่ก็ต้องทำต่อไป แต่หากอัยการสูงสุดระบุว่ามีอำนาจหน้าที่ก็ทำต่อไปเช่นกัน สุดท้ายเรื่องก็จะไปจบที่ศาลใดศาลหนึ่งเพียงศาลเดียว อัยการสูงสุดไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลฎีกาฯถ้าไม่ใช่เป็นกระบวนการไต่สวนที่มาจาก ป.ป.ช.เมื่อเรื่องมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษก็ต้องส่งเรื่องฟ้องไปยังศาลชั้นต้น ดังนั้นต่อจากนี้ก็ต้องจับตาไปที่ศาลชั้นต้นว่าจะพิจารณาออกมาเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอำนาจก็อยู่ในกระบวนการอยู่ที่ศาลยุติธรรมทั้งหมด

“ป.ป.ช.ทำตามหน้าที่ของเราโดยชอบโดยสุจริต ถ้าในที่สุดมีการฟ้องร้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลฯก็ต้องเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ แต่ในที่สุดก็จะมีเพียงศาลเดียวเท่านั้นที่จะรับเรื่องไว้พิจารณา” โฆษก ป.ป.ช.กล่าว

นายวิชา กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าของการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.ปี 53 นั้น ขณะนี้ ป.ป.ช.เตรียมที่จะเรียกพยานจำนวน 3 ปากเข้าไต่สวนเพิ่มเติม โดยเป็นพยานที่นั่งประชุมอยู่ใน ศอฉ.ด้วย โดย ป.ป.ช.ต้องการหาความจริงว่ากระบวนการสั่งการของ ศอฉ.ได้สั่งการที่เกี่ยวเนื่องกับการสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากได้ไต่สวนพยานเพิ่มเติมและมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอก็จะสามารถได้ข้อยุติภายในเดือน ธ.ค.นี้

ส่วนกรณีที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เคยเป็นหนึ่งในกรรมการ ศอฉ.และเป็นผู้กล่าวหาด้วยนั้นจะดำเนินการอย่างไร นายวิชา กล่าวว่า ป.ป.ช.ก็ต้องพิจารณาด้วยทั้งหมด ไม่เฉพาะนายอภิสิทธิ์ หรือนายสุเทพ ต้องพิจารณาศอฉ.ทั้งหมด เพราะอย่าลืมว่า ป.ป.ช.ไม่ได้พิจารณาเรื่องส่วนตัว แต่เป็นการพิจารณาเรื่องของการใช้อำนาจในการปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ นายวิชา ยังกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีคนมองว่าจะเป็นการขัดแย้งกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ตนมองว่าไม่ได้ขัดแย้ง เพราะ ป.ป.ช.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่อัยการสูงสุดเป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนความคืบหน้าในการตรวจสอบการปกปิดการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายสรวงศ์ เทียนทอง รมช.สาธารณสุข นั้น นายวิชา กล่าวว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่กลับไปตรวจสอบ หลังจากนายสรวงศ์และภรรยาได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องหุ้น จึงต้องนำกลับไปตรวจสอบ และให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายผู้ถูกร้อง

สำหรับการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อถอดถอนและตรวจสอบการกระทำอันมิชอบของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมทั้งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง กรณีกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ และการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน จำนวน 3.5 แสนล้านบาท นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประธานลงนามเพื่อหาข้อมูล และข้อสรุปในเบื้องต้นก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น