“อรรถพล ใหญ่สว่าง” อสส.เผย สั่งฟ้อง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ระบุพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ไม่มีการเมืองกดดัน ด้านโฆษกอัยการ ยันไม่โต้แย้งอำนาจ ป.ป.ช.รับไต่สวนคดีสั่งสลายม็อบ นปช.ปี 53 ชี้ไม่กระทบคดีอาญาที่ อสส.สั่งฟ้องส่วนประเด็นมีอำนาจฟ้องหรือไม่ สุดท้ายศาลจะวินิจฉัยเอง
วันนี้ (31 ต.ค.) นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด กล่าวถึงการพิจารณาสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ คดีวิสามัญฆาตกรรม ข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ว่า ได้พิจารณาอย่างรอบคอบตามอำนาจหน้าที่ ไม่ใช่การสั่งคดีตามกระแสบ้านเมือง เพราะตนไม่ใช่นักการเมือง โดยรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ให้อิสระอัยการในการสั่งคดี และมั่นใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามข้อกฎหมาย พยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ที่ปรากฏตามสำนวนโดยไม่มีอะไรกดดัน ขณะที่การสั่งคดีก็ได้ให้ความเป็นธรรม และกระทำด้วยความรอบคอบแล้ว คือ พิจารณาและมีความเห็นสั่งฟ้องว่า เป็นการกระทำกรรมเดียวเพราะการออกคำสั่งเป็นการออกครั้งเดียว แต่ครอบคลุมถึงการเสียชีวิตและบาดเจ็บทุกราย มิใช่เป็นการกระทำหลายกรรม ตามความเห็นของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
“การสั่งคดีของอัยการไม่มีอะไรที่เป็นความเสี่ยง ขออย่างเดียวให้ยึดความถูกต้อง ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ก็จะเป็นเกราะคุ้มครองพวกเราในการทำงานทั้งสิ้น เราต้องอย่างเอียงข้าง เปรียบเสมือนยืนอยู่บนสันเหรียญที่ตั้งตรง ถ้าเป็นกลางก็ไม่มีวันที่จะหล่นแน่นอน และหากผมไม่เป็นกลาง สุดท้ายความจริงก็ย่อมจะปรากฏให้เห็น และไม่หนักใจการสั่งคดีต่างๆ ในอนาคตด้วย” อัยการสูงสุดกล่าว
เมื่อถามถึงกรณีก่อนหน้านี้กลุ่มกรีน (การเมืองสีเขียว) ยื่นหนังสือขอให้อัยการสูงสุด ทบทวนความเห็นสั่งคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีก่อการร้าย ของนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุดนั้น นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด กล่าวว่า ตนมีคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าการสั่งคดีนั้นถูกต้องตามข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน และข้อกฎหมายหรือไม่ ส่วนจะใช้ระยะเวลานานเท่าใดยังตอบไม่ได้ แต่ได้สั่งให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ส่วนผลการตรวจสอบที่ออกมาจะสามารถหักล้างคำสั่งเดิมหรือไม่ ตนยังตอบไม่ได้เช่นกัน ต้องรอรายงานความเห็นของคณะทำงาน ถ้าตรวจสอบแล้วเป็นคำสั่งที่ชอบเราก็ต้องชี้แจงให้สังคมทราบว่าชอบแล้ว หากจะไม่ชอบแล้วถ้าสามารถทบทวนได้เราก็ต้องทบทวน
ส่วนกรณีที่ นายจุลสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ลาออกจากการเป็นอัยการอาวุโสนั้น นายอรรถพล อัยการสูงสุด กล่าวว่า การลาออกนั้นจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งการลาออกไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับการสั่งคดีอะไรเลย แต่เหตุผลที่ยื่นลาออกท่านอดีตอัยการสูงสุด กล่าวถึงภารกิจอื่นซึ่งท่านต้องดำเนินการที่มีหลายอย่าง
ด้าน นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษและโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.มีมติให้รับเรื่องไต่สวนการร้องขอให้ถอดถอน และการดำเนินคดีอาญา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่มีพฤติการณ์ส่อกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในการสั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน โดยสั่งสลายการชุมนุมของ นปช.เมื่อปี 2553 ว่า การรับเรื่องของ ป.ป.ช.ดังกล่าว ไม่กระทบต่อคำสั่งของนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด ที่มีคำสั่งฟ้องในคดีอาญา ฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เพราะการรับเรื่องของ ป.ป.ช.เป็นอำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช.ที่จะพิจารณาตรวจสอบเรื่องการถอดถอนจากตำแหน่ง ส่วนการดำเนินคดีอาญาของอัยการ ข้อหาก่อหรือให้ฆ่าผู้อื่นฯ นั้นตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาให้อำนาจอัยการสูงสุดสั่งฟ้องถือเป็นที่สุดเด็ดขาด ซึ่งอัยการก็ต้องยื่นฟ้องตามกระบวนการกฎหมายต่อไป
เมื่อถามว่า หากสุดท้ายการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ประเด็นการดำเนินคดีอาญา ชี้มูลว่านายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ กระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการในการสลายการชุมนุม ซึ่งคดีต้องยื่นฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วจะมีปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลและอำนาจฟ้องคดี ที่อัยการจะยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญาหรือไม่ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า การพิจารณาเรื่องกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น ป.ป.ช.เข้าใจว่า เป็นกล่าวหาว่าคำสั่งสลายม็อบ ชอบหรือไม่ชอบ คล้ายกับกรณีของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งหาก ป.ป.ช.ไต่สวนแล้วจะชี้ว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบแล้ว ขั้นตอนดำเนินคดีก็เป็นไปตามกฎหมาย ป.ป.ช.อย่างไรก็ตามสุดท้ายอัยการจะมีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งถ้าเป็นเรื่องการวินิจฉัยถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถือว่า ป.ป.ช.ที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ มีอำนาจไต่สวน ตรวจสอบอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า หากผลการไต่สวนของ ป.ป.ช.ออกมาว่าทั้งสองไม่มีความผิดที่จะถอดถอนจากตำแหน่งและดำเนินคดีอาญา จะสามารถนำมาผลนั้นมาใช้ประโยชน์ต่อสู้คดีอาญา มาตรา 288 ที่อัยการยื่นฟ้องได้หรือไม่ นายนันทศักดิ์ กล่าวว่า ก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งศาลจะวินิจฉัย ผลออกมาเป็นอย่างไรก็ถือเป็นดุลพินิจ
นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า อัยการจะไม่โต้แย้งเรื่องอำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะไต่สวนเรื่องถอดถอนจากตำแหน่ง แต่คดีอาญาที่อัยการสูงสุดสั่งให้ฟ้อง ก็ยืนยันที่จะยื่นฟ้องตามนั้น ส่วนถ้า ป.ป.ช.วินิจฉัยชี้มูลข้อกล่าวหาทางอาญาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการแล้ว ตามขั้นตอนก็ต้องส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาตามกฎหมาย และตามกระบวนการหากความเห็นไม่ตรงกัน ก็ต้องตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างอัยการ และ ป.ป.ช.เสนออัยการสูงสุดชี้ขาด ซึ่งหากอัยการมีความเห็นต่าง ป.ป.ช.ก็มีอำนาจยื่นฟ้องคดีเองได้ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ในที่สุดแล้วอำนาจการสอบสวนจะเป็นอย่างไร ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย ถ้าการสอบสวนจะไม่ชอบ อัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 และ 121