xs
xsm
sm
md
lg

“อารีพงศ์”เซ็นต์ทิ้งท้าย ปิดบัญชีจำนำข้าวเจ๊ง! ขาดทุนปีละ2แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - อดีตปลัดคลัง “อารีพงศ์” เซ็นต์ผลงานทิ้งทายตอกย้ำผลจำนำข้าวสองฤดูกาลขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท เตรียมเสนอกขช.-ครม.รับทราบเป็นขั้นตอนต่อไป ขณะที่แบงก์รัฐเตรียมจับมือ ช่วยเหลือโรงสีขาดสภาพคล่อง แถมหลักประกันไม่พอ ดึงบสย.ค้ำประกัน
 

    นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาข้าราชการพลเรือน(ก.พ.ร.)เปิดเผยในฐานะอดีตปลัดกระทรวงการคลังว่า ได้ลงนามผลสรุปของคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 2 ปี 3 รอบฤดูการผลิต  ทั้งปีการผลิต 2554/55 และ 2555/56 สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษาภาคม 2556 ตามที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีที่มีน.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังเสนอมาเรีบร้อยแล้ว  เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งทบทวนการปิดบัญชีในทุกๆ ไตรมาส จากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบต่อไป

    “ในรายงานผลสรุปไม่ได้มีการตั้งข้อสังเกตุของโครการว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ แต่ยืนยันว่า ในกระบวนการของคณะกรรมการปิดบัญชีนั้น มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย ทั้งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เพื่อดูแลไม่ให้มีผลกระทบต่อการเงินการคลังของประเทศ”นายอารีพงศ์กล่าวและว่า ในวันอำลาจากกระทรวงการคลังวันที่ 21 ตุลาคมนั้นก็ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเต็มที่ โดยให้ยึดมั่นต่อการรักษาวินัยการเงินการคลัง เพราะกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ต้องติดต่อ และสร้างความน่าเชื่อถือกับทั่วโลก และที่ผ่านมากระทรวงการคลังถือเป็นหน่วยงานเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือ

    ทั้งนี้น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวได้เปิดเผยข้อมูลว่า โครงการับจำนำข้าวมีผลขาดทุนเฉลี่ยปีการผลิตละ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ประมาณการณ์ไว้

    ด้านนายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอีแบงก์)กล่าวว่า ได้หารือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้เข้ามาช่วยค้ำประกันการกู้ยืมของโรงสีที่มีหลักประกันไม่เพียงพอ เพื่อให้โรงสีมีเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอในการจะไปรับซื้อข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกและสีเป็นเป็นข้าวสาร ซึ่งโรงสีต้องสำรองเงินไปบางส่วนก่อน และบางส่วนได้รับซื้อข้าวในโรงงานมากจนทำให้สภาพคล่องลดลง

    สำหรับโครงการสินเชื่อแฟกตอริ่งหรือผู้ประกอบการยิ้มได้ ที่ขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้ประกอบการโรงสี และเซอร์เวย์เยอร์ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้สามารถดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลว่า ขณะนี้สามารถปล่อยกดู้ให้กับโรงสีไปแล้วประมาณ 400 ล้านบาท ภายในสิ้นเดือนนี้น่าจะได้อีก 600 ล้านบาท และจะขยายามเร่งให้ได้ตามเป้าหมายที่ 5 พันล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งขณะนี้ก็เร่งทำประชาสัมพันธ์และมีโรงสีแสดงความสนใจเข้ามาเรื่อยๆ

    นายวัลลภ เตชะไพบูลย์  ผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)กล่าวว่า บสย.อยู่ระหว่างเจรจาความร่วมมือกับเอสเอ็มอีแบงก์ ที่จะเข้าไปค้ำประกันผู้ประกอบการโรงสีที่จะเข้าโครงการรับจำนำเข้าของรัฐบาลในปีการผลิต 2556/57 เพื่อให้โรงสีข้าวได้มีสภาพคล่องในการรับซื้อข้าวจากสต็อกของรัฐบาล และเป็นแนวทางหนึ่งในการระบายข้าวได้มากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ บสย.เองก็ดำเนินการปล่อยกู้ให้ปกติอยู่แล้ว แต่มองว่า ยังมีโรงสีบางส่วนที่มีความเสี่ยงมากขึ้น อาจจะเพราะการรับซื้อข้าวเข้ามา แต่ไม่ได้ระบายออกไป ทำให้สภาพคล่องลดลง จึงมีการหรือเบื้องต้นที่จะให้บสย.เข้าไปค้ำประกัน โรงสีมีความเสี่ยงหรือต้องการวงเงินที่สูงกว่าสินทรัพย์ค้ำประกัน  ซึ่งบสย.เองเห็นว่ายังมีวงเงินเหลือที่จะดำเนินการได้ภายใต้โครงการค้ำประกันรายพอร์ต ระยะที่ 5 (พีจีเอส5) ที่มีวงเงิน 2.4 แสนล้านบาทอยู่แล้ว

    นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.เองก็กำลังหารือกับบสย.ว่า หากให้บสย.เข้ามาช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้กับโรงสีที่มีหลักประกันไม่พอ ให้สามารถกู้ยืมเงินได้ ก็น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้โรงสีมีสภาพคล่องมากขึ้นและสามารถรับซื้อข้าวจากเกษตรกรที่จะเข้าโครงการรับจำนำข้าวได้มากขึ้น ซึ่งธ.ก.ส.เองมีวงเงินสำหรับการปล่อยกู้ให้กับโรงสีอยู่แล้ว 2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อปกติของธนาคาร
กำลังโหลดความคิดเห็น