xs
xsm
sm
md
lg

บสย.เดินหน้าหนุน SMEs วางเป้าค้ำสินเชื่อ 9 แสนล้านปี 59 ดันสร้างแบรนด์เอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กก.ผจก.ทั่วไป บสย.(ซ้าย) ,นายเลิศชัย กิตติรัตนไพบูลย์ ปธ.กก.บริหาร บสย.(กลาง)และนายวิเชษฐ วรกุล รองผจก.ทั่วไป สายงานธุรกิจ (บสย.) (ขวา) ย้ำเป้าหมายยอดค้ำประกันปี 56 ต้องทะลุ 84,000 ล้านบาท
พิษณุโลก - บสย.รุกนำผู้ประกอบการ SMEs เข้าระบบ ตั้งเป้าปี 59 อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อให้ได้ 6 แสนล้านบาท หนุนรายย่อยให้มี “แบรนด์” เป็นของตัวเอง เผยธุรกิจ 3 อันดับแรกในภาคเหนือที่ได้รับแรงหนุนสูงสุด คือ เกษตรกรรม แปรรูปอาหาร-เครื่องดื่ม และภาคการผลิตและบริการ

วันนี้ (7 ต.ค.) นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย.มีเป้าหมายเพิ่มยอดค้ำประกันสินเชื่อจาก 20% เป็น 30% ในปี 2559 จากผลดำเนินงานนับแต่เริ่มก่อตั้งที่มียอดการอนุมัติค้ำประกันสะสม 300,000 ล้านบาท จะเพิ่มเป็น 600,000 ล้านบาท ถือว่ารุกหนัก โดยทุกสาขาต้องเข้าถึง และช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนทางการเงินต่ำ พัฒนาสินค้าให้มีแบรนด์เป็นของตัวเอง

ด้านนายเลิศชัย กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานกรรมการบริหาร บสย. กล่าวว่า ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 20 กันยายน 2556 บสย.ค้ำประกันสินเชื่อแล้ว 99,537 ราย วงเงิน 303,694 ล้านบาท มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินแล้ว 490,445 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.6 เท่าของยอดอนุมัติค้ำประกันสะสม

โดยสำนักงานสาขาเชียงใหม่ดูแลผู้ประกอบการภาคเหนือตอนบนให้การค้ำประกันสินเชื่อแล้ว 8,423 ราย วงเงิน 23,413 ล้านบาท ส่วนสาขาพิษณุโลกดูแลเหนือตอนล่าง ให้การค้ำประกันสินเชื่อ 8,014 ราย วงเงิน 22,507 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจที่ บสย.ให้การค้ำประกันสูงสุด 3 อันดับแรกของภาคเหนือ ได้แก่ เกษตรกรรม 23% อาหารและเครื่องดื่ม 15% และการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 11%

ด้านนายชาญชัย เลิศมหรรพฤฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขา บสย. กล่าวว่า ไตรมาสสุดท้ายปี 2556 บสย.ได้เร่งให้ 9 สาขาวางแผนงานเชิงรุกเพิ่มยอดค้ำประกันสินเชื่อ ทำงานตามแผนที่กำหนดยอดค้ำประกันไว้ 84,000 ล้านบาทภายสิ้นปีนี้ เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนให้มากที่สุด

ซึ่งที่ผ่านมา บสย.ได้สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีธรรมดา เช่น นางพรพรรณ ภัทรนรากุล เจ้าของโรงงานแปรรูปหมึกที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนมีแบรนด์ “SEA ONE” เป็นของตัวเอง

ขณะที่นายคมสัน วัฒนวนาพงษ์ ผู้จัดการสำนักงานสาขา บสย. สำนักงานพิษณุโลก กล่าวว่า บสย.พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ขอวงเงินกับธนาคารอยู่แล้ว โดย บสย.จะเข้าค้ำประกันต่อผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนต้องการขอวงเงินหมุนเวียนเพิ่ม โดยไม่จำเป็นต้องไปกู้เงินนอกระบบ เพราะยิ่งทำให้ต้นทุนทางการเงินสูง โดยล่าสุด บสย.สามารถค้ำประกันวงเงินสินเชื่อ วงเงินระดับ 2 แสนบาทได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์เพิ่มขึ้น
นางพรพรรณ ภัทรนรากุล เจ้าของโรงงานแปรรูปปลาหมึก ที่ประจวบคีรีขันธ์ พัฒนาจนมีแบรนด์ “SEA ONE”เป็นของตัวเองแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น