xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ระบุยอดหนี้บุคคลแผ่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ธปท.เผยการใช้จ่ายและยอดสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตขยายตัวลดลงรับช่วงเศรษฐกิจซบเซา เผย ส.ค.ยอดสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มแค่ 3 พันล้านบาท ซึ่งผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลทุกประเภทต่างเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ปริมาณการใช้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นไม่ถึง 800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นแค่ 0.67%

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ส่งผลต่อการใช้จ่ายของประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งสะท้อนได้จากบริการทางการเงินหลายประเภท แม้ตัวเลขสำคัญไม่ได้หดตัว แต่อัตราการขยายตัวชะลอลงไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลหรือแม้กระทั่งธุรกิจบัตรเครดิตที่ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเหตุผลสำคัญคนทั่วไประมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ทั้งนี้ จากตัวเลขของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับดูแลของธปท.ล่าสุดเดือน ส.ค.56 ซึ่งประกาศตัวเลขออกมาเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ยอดสินเชื่อและจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นไม่มาก เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 3.58 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.26% และมีปริมาณบัญชีเพิ่มขึ้น 1.11 แสนบัญชี คิดเป็นการเพิ่มแค่ 1.01% จากปัจจุบันที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 2.87 แสนล้านบาท และปริมาณบัญชี 11.12 ล้านบัญชี
โดยผู้ให้บริการแต่ละรายมียอดสินเชื่อส่วนบุคคลและจำนวนบัญชีไม่มากนัก ธนาคารพาณิชย์มียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 1.79 พันล้านบาท และมีบัญชีเพิ่มขึ้น 2.47 หมื่นบัญชี บริษัทไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) มีสินเชื่อเพิ่มขึ้น 1.60 พันล้านบาท ขณะที่จำนวนบัญชีเพิ่มขึ้น 8.59 หมื่นบัญชี ส่วนสาขาธนาคารต่างชาติมียอดสินเชื่อและจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้น 192 ล้านบาท และ 865 บัญชี
เช่นเดียวกับธุรกิจบัตรเครดิตข้อมูลล่าสุดในเดือน ส.ค.ของปีนี้ พบว่า ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร ยอดสินเชื่อ รวมทั้งจำนวนบัตรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยปริมาณการใช้จ่ายเพิ่มแค่ 791.52 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นในสัดส่วน 0.67% เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก ขณะสินเชื่อเพิ่มขึ้น 2.9 พันล้านบาท คิดเป็น 1.15% และปริมาณบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 1.04 แสนใบ หรือเพิ่มขึ้น 0.58% จากปัจจุบันที่มีปริมาณการใช้จ่ายบัตรเครดิตจริง 1.19 แสนล้านบาท ยอดคงค้างสินเชื่อ 2.55 แสนล้านบาท และจำนวนบัตรในระบบทั้งสิ้น 17.97 ล้านใบ

***ผู้ว่าธปท.ระบุหนี้ครัวเรือนชะลอตัว

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ“วินัยกับความมั่นคงทางการเงินของครอบครัวไทย”ว่า ในปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนในช่วง 2-3 เดือน มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี และในระยะหลังประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากต้องนำเงินไปชำระหนี้คืนจากการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายในโครงการของภาครัฐในปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ยังต้องติดตามคือ สัดส่วนการออมต่อรายได้ที่ลดลง

ทั้งนี้ ข้อมูลของบัญชีรายได้ประชาชาติที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า สัดส่วนการออมต่อรายได้ (saving rate) ของครัวเรือนไทยลดลงจากค่าเฉลี่ยในอดีต (ช่วงปี 2533-2553) ที่ 11.3 %เป็น 9.2 %ในปี 2554 ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงภูมิคุ้มกันของภาคครัวเรือนไทยที่เริ่มพร่องลง โดยเมื่อภูมิคุ้มกันในระยะสั้นไม่ดีพอ การมีภูมิคุ้มกันในระยะยาวรองรับการเกษียณอายุย่อมเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุนในปี 2555 เรื่อง “การวิเคราะห์พอร์ตการลงทุนของมนุษย์เงินเดือนก่อนวันเกษียณกับการเพิ่มโอกาสเกษียณสุข” จะพบว่าแรงงานในระบบช่วงอายุ 40-60 ปีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งน่าจะเป็นตัวแทนของกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันที่ดี กลับพบว่าสัดส่วนของคนออมไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพภายหลังเกษียณมีสัดส่วน 39 %โดยสาเหตุหนึ่งเป็นผลจากภาระค่าใช้จ่าย และหนี้สินที่มากกว่ากลุ่มที่มีการออมเพียงพอ

การกระตุ้นให้ครัวเรือนไทยเพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยสร้างวินัยทางการเงินจึงเป็นสิ่งสาคัญยิ่ง การใช้จ่ายและก่อหนี้เกินตัวในระยะสั้น หากรู้ตัว และปรับตัวได้เร็วก็อาจส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลงในระยะสั้น แต่ก็ถือเป็นการปรับตัวเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันที่พร่องลง อย่างไรก็ดี หากมีการกระตุ้นให้มีการใช้จ่าย และก่อหนี้อย่างต่อเนื่อง แม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แต่ก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันครอบครัวพร่องลงไปอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น