ธปท.เผยการใช้จ่ายและยอดสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิตขยายตัวลดลงรับช่วงเศรษฐกิจซบเซา เผย ส.ค.ยอดสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มแค่ 3 พันล้านบาท ซึ่งผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลทุกประเภทต่างเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ปริมาณการใช้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นไม่ถึง 800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นแค่ 0.67%
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ส่งผลต่อการใช้จ่ายของประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งสะท้อนได้จากบริการทางการเงินหลายประเภท แม้ตัวเลขสำคัญไม่ได้หดตัว แต่อัตราการขยายตัวชะลอลง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล หรือแม้กระทั่งธุรกิจบัตรเครดิตที่ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเหตุผลสำคัญคนทั่วไประมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ทั้งนี้ จากตัวเลขของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับดูแลของ ธปท.ล่าสุด เดือน ส.ค.56 ซึ่งประกาศตัวเลขออกมาเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ยอดสินเชื่อและจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นไม่มาก เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 3.58 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.26% และมีปริมาณบัญชีเพิ่มขึ้น 1.11 แสนบัญชี คิดเป็นการเพิ่มแค่ 1.01% จากปัจจุบันที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 2.87 แสนล้านบาท และปริมาณบัญชี 11.12 ล้านบัญชี
โดยผู้ให้บริการแต่ละรายมียอดสินเชื่อส่วนบุคคล และจำนวนบัญชีไม่มากนัก ธนาคารพาณิชย์มียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 1.79 พันล้านบาท และมีบัญชีเพิ่มขึ้น 2.47 หมื่นบัญชี บริษัทไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) มีสินเชื่อเพิ่มขึ้น 1.60 พันล้านบาท ขณะที่จำนวนบัญชีเพิ่มขึ้น 8.59 หมื่นบัญชี ส่วนสาขาธนาคารต่างชาติมียอดสินเชื่อ และจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้น 192 ล้านบาท และ 865 บัญชี
เช่นเดียวกับธุรกิจบัตรเครดิต ข้อมูลล่าสุดในเดือน ส.ค.ของปีนี้ พบว่า ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร ยอดสินเชื่อ รวมทั้งจำนวนบัตรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยปริมาณการใช้จ่ายเพิ่มแค่ 791.52 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นในสัดส่วน 0.67% เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก ขณะสินเชื่อเพิ่มขึ้น 2.9 พันล้านบาท คิดเป็น 1.15% และปริมาณบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 1.04 แสนใบ หรือเพิ่มขึ้น 0.58% จากปัจจุบันที่มีปริมาณการใช้จ่ายบัตรเครดิตจริง 1.19 แสนล้านบาท ยอดคงค้างสินเชื่อ 2.55 แสนล้านบาท และจำนวนบัตรในระบบทั้งสิ้น 17.97 ล้านใบ
***ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุหนี้ครัวเรือนชะลอตัว
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงปาฐกถาพิเศษ “วินัยกับความมั่นคงทางการเงินของครอบครัวไทย” ว่า ในปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนในช่วง 2-3 เดือน มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี และในระยะหลังประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากต้องนำเงินไปชำระหนี้คืนจากการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายในโครงการของภาครัฐในปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ยังต้องติดตามคือ สัดส่วนการออมต่อรายได้ที่ลดลง
ทั้งนี้ ข้อมูลของบัญชีรายได้ประชาชาติที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า สัดส่วนการออมต่อรายได้ (saving rate) ของครัวเรือนไทยลดลงจากค่าเฉลี่ยในอดีต (ช่วงปี 2533-2553) ที่ 11.3% เป็น 9.2%ในปี 2554 ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงภูมิคุ้มกันของภาคครัวเรือนไทยที่เริ่มพร่องลง โดยเมื่อภูมิคุ้มกันในระยะสั้นไม่ดีพอ การมีภูมิคุ้มกันในระยะยาวรองรับการเกษียณอายุย่อมเป็นไปได้ยาก
นอกจากนี้ จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุนในปี 2555 เรื่อง “การวิเคราะห์พอร์ตการลงทุนของมนุษย์เงินเดือนก่อนวันเกษียณกับการเพิ่มโอกาสเกษียณสุข” จะพบว่า แรงงานในระบบช่วงอายุ 40-60 ปีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งน่าจะเป็นตัวแทนของกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันที่ดี กลับพบว่าสัดส่วนของคนออมไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพภายหลังเกษียณมีสัดส่วน 39% โดยสาเหตุหนึ่งเป็นผลจากภาระค่าใช้จ่าย และหนี้สินที่มากกว่ากลุ่มที่มีการออมเพียงพอ
การกระตุ้นให้ครัวเรือนไทยเพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยสร้างวินัยทางการเงินจึงเป็นสิ่งสาคัญยิ่ง การใช้จ่ายและก่อหนี้เกินตัวในระยะสั้น หากรู้ตัว และปรับตัวได้เร็วก็อาจส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลงในระยะสั้น แต่ก็ถือเป็นการปรับตัวเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันที่พร่องลง อย่างไรก็ดี หากมีการกระตุ้นให้มีการใช้จ่าย และก่อหนี้อย่างต่อเนื่อง แม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แต่ก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันครอบครัวพร่องลงไปอีก