xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” เผยต้นเหตุ ศก.ไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยโดยที่ยังไม่มีวิกฤตอะไรมาเป็นตัวฉุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กรณ์” ยอมรับ ศก.ไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการ ถือเป็นครั้งแรกหลังเกิดวิกฤตปี 51-52 ซัดอัดรัฐบาลบริหารล้มเหลว นโยบายประชานิยมเงินไม่ถึงมือชาวบ้าน แถมเพิ่มภาระหนี้ และสร้างภาระงบประมาณมหาศาล ยันไม่ได้มองในแง่ลบเกินไปพร้อมตั้งข้อสังเกต ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีวิกฤตอะไรมาเป็นตัวฉุด ประกอบกับยังไม่ได้เห็นผลจากการถอนเงินทุนโดยต่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นถ้าสหรัฐฯ ส่งสัญญาณยกเลิกการกระตุ้นด้วยนโยบายการเงิน

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Korn Chatikavanij แสดงความเห็นว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดอย (Recession) ครั้งแรกตั้งแต่เกิดวิกฤตในปี 2551-2552 โดยได้ชี้ให้เห็นว่า วันนี้ถือว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สร้างความตกใจให้แก่นักลงทุนพอสมควร คือไตรมาส 2/2556 เศรษฐกิจไทยขยายตัวติดลบ 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2556 และไตรมาส 1/2556 ติดลบ 1.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/55 ถือว่าเป็นการเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งแรกตั้งแต่ช่วงวิกฤตปี 2551-2552

“ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ วิธีวัดทางเทคนิคคือ การเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของ GDP ในแต่ละไตรมาสเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านั้น และถือว่าเข้าสู่ภาวะถดถอย ถ้าการเปรียบเทียบเช่นนี้ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน”

ทั้งนี้ นายกรณ์ ชี้แจงว่า หากมองว่าเทียบกับปีที่แล้ว ภาพโดยรวมเศรษฐกิจยังเติบโตอยู่ เพียงแต่อัตราการขยายตัวชะลอลงอย่างมาก และที่เป็นเช่นนั้นเพราะตัวขับเคลื่อนทุกตัวชะลอตัวหมด ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภค การลงทุน การส่งออก หรือการลงทุนโดยรัฐ

สถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดผลกระทบมาก โดยอันดับแรก ธุรกิจต่างๆซบเซาทำให้เงินฝืดขาดความคล่องตัว รายได้ทุกคนลดลง มนุษย์เงินเดือนขาดโอที ขาดโบนัส และเลวร้ายกว่านั้นก็คืออาจถูกลดเงินเดือน หรือถูกปลดออกจากตำแหน่ง นักศึกษาจบมาใหม่ก็จะหางานยากขึ้น ประชาชนจำนวนมากวันนี้รับภาระหนี้อยู่หนักอึ้งอยู่แล้วก็จะลำบากมากขึ้น เพราะภาระหนี้ยังคงอยู่แต่รายได้ลดลง

ส่วนในแง่ของภาครัฐ รายได้ภาษีก็จะลดลง นอกจากจะรีดภาษีหนักมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ไปลดภาษีกำไรให้ผู้ประกอบการไปแล้วปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท นอกจากนั้น จะขาดดุลมากขึ้นก็คือ ต้องกู้มากขึ้น และเมื่อ GDP โตช้า ฐานคำนวณหนี้สาธารณะก็จะเล็กลง ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเพิ่มขึ้น มีผลต่อเครดิตของประเทศ และระดับความเชื่อมั่น ต้นทุนการกู้ยืมของประเทศจะสูงขึ้น และขีดความสามารถในการแข่งขันก็จะลดลง

นายกรณ์ ยืนยันว่า ทั้งหมดฝ่ายค้านไม่ได้มองในแง่ลบเกินไป แต่เป็นข้อเท็จจริงตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นแน่หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ที่น่าแปลกใจคือ ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะนี้ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีวิกฤตอะไรมาเป็นตัวฉุด ประกอบกับยังไม่ได้เห็นผลจากการถอนเงินทุนโดยต่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นถ้าสหรัฐฯ ส่งสัญญาณยกเลิกการกระตุ้นด้วยนโยบายการเงิน(QE)

“ที่ปฏิเสธไม่ได้อีกก็คือ นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ประชานิยมที่เงินไม่ถึงมือชาวบ้าน ซ้ำร้ายกลายเป็นการเพิ่มภาระหนี้ และเป็นภาระมหาศาลต่องบประมาณแผ่นดิน”

นายกรณ์ ยังได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาว่า ต้องหาวิธีเพิ่มรายได้ และต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดการกินหัวคิว เพิ่มราคาพืชผลการเกษตร พัฒนาทักษะแรงงานไทยทุกระดับ ลดภาระหนี้ของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณโดยภาครัฐ และลดเงื่อนไขขัดแย้งทางการเมืองที่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม
กำลังโหลดความคิดเห็น