xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติ กระตุ้นภาคการออมให้มากขึ้น รับมือความไม่แน่นอนเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล (แฟ้มภาพ)
ธปท.แนะคนไทยควรมีวินัยการออมเพื่อรับมือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ พร้อมยอมรับมาตรการภาครัฐทำครัวเรือนไทยออมต่ำเหลือ 9.2%

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงปาฐกถาพิเศษ “วินัยกับความมั่นคงทางการเงินของครอบครัวไทย” โดยระบุว่า ในปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนในช่วง 2-3 เดือน มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี และในระยะหลังประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากต้องนำเงินไปชำระหนี้คืนจากการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายในโครงการของภาครัฐในปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ยังต้องติดตามคือ สัดส่วนการออมต่อรายได้ที่ลดลง

ทั้งนี้ ข้อมูลของบัญชีรายได้ประชาชาติที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า สัดส่วนการออมต่อรายได้ (saving rate) ของครัวเรือนไทยลดลงจากค่าเฉลี่ยในอดีต (ช่วงปี 2533-2553) ที่ร้อยละ 11.3 เป็นร้อยละ 9.2 ในปี 2554 ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงภูมิคุ้มกันของภาคครัวเรือนไทยที่เริ่มพร่องลง โดยเมื่อภูมิคุ้มกันในระยะสั้นไม่ดีพอ การมีภูมิคุ้มกันในระยะยาวรองรับการเกษียณอายุย่อมเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุนในปี 2555 เรื่อง “การวิเคราะห์พอร์ตการลงทุนของมนุษย์เงินเดือนก่อนวันเกษียณกับการเพิ่มโอกาสเกษียณสุข” จะพบว่าแรงงานในระบบช่วงอายุ 40-60 ปีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งน่าจะเป็นตัวแทนของกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันที่ดี กลับพบว่าสัดส่วนของคนออมไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพภายหลังเกษียณมีสัดส่วนร้อยละ 39 โดยสาเหตุหนึ่งเป็นผลจากภาระค่าใช้จ่าย และหนี้สินที่มากกว่ากลุ่มที่มีการออมเพียงพอ

การกระตุ้นให้ครัวเรือนไทยเพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยสร้างวินัยทางการเงินจึงเป็นสิ่งสาคัญยิ่ง การใช้จ่ายและก่อหนี้เกินตัวในระยะสั้น หากรู้ตัว และปรับตัวได้เร็วก็อาจส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลงในระยะสั้น แต่ก็ถือเป็นการปรับตัวเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันที่พร่องลง อย่างไรก็ดี หากมีการกระตุ้นให้มีการใช้จ่าย และก่อหนี้อย่างต่อเนื่อง แม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แต่ก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันครอบครัวพร่องลงไปอีก

นายประสาร กล่าวว่า ในส่วนของภาครัฐซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะต้องช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และความยั่งยืนให้แก่ภาคครัวเรือน เช่น การดูแลสวัสดิการในระยะยาวให้สังคม เนื่องจากพบว่าสังคมไทยเข้าสู่วัยผู้สูงอายุมากขึ้น ในขณะที่ภาคธุรกิจควรออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เน้นการออมระยะยาวมากขึ้น ให้ข้อมูลลูกค้าที่โปร่งใส และเปิดเผย โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ทั้งการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและบัตรเครดิต เพราะหากสถาบันการเงินมุ่งเน้นแต่ปล่อยสินเชื่อให้ได้มากที่สุด ก็จะทำให้ผู้กู้ยืมไม่สามารถชำระหนี้ได้ และจะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา และยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินในอนาคตได้

โดยวินัยทั่วไปอาจเกิดได้จาก 3 แหล่ง คือ การมีกรอบเกณฑ์บังคับ การมีความรู้ถึงกรอบและประโยชน์ในการทำตามวินัย และการมีทัศนคติที่ถูกต้อง

สำหรับกรณีปัญหาวิกฤตคลังในสหรัฐฯ มองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ทำให้สถานการณ์ของสหรัฐฯ ดีขึ้นไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2557 ดังนั้น ในช่วงนี้จะเห็นว่านักลงทุนเริ่มเปิดรับความเสี่ยง และหันเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ของไทยมากขึ้น แต่คงประเมินได้ยากว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามามากน้อยแค่ไหน เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนยังมีความระมัดระวังในสถานการณ์ แต่ยืนยันว่าธนาคารแห่งประเทศไทย มีเครื่องมือในการดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาจัดตั้งกองทุนความมั่นคั่งแห่งชาตินั้น ยืนยัน ธปท. ยังไม่มีแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว เพราะปัจจุบัน ธปท. มีการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่หลากหลาย และสามารถบริหารความเสี่ยงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น