xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“คปท.” ม็อบที่ไม่ธรรมดา แต่ระวัง “แมลงสาบ” ทำฉิบหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า ผลพวงแห่งความพ่ายแพ้ของ “แกนนำ” กลุ่ม “กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ” หรือ “กปท.” ที่ถอดใจยอมถอยทัพออกจากหน้าทำเนียบรัฐบาลกลับฐานที่มั่นเก่า “สวนลุมพินี” หลังเคลื่อนทัพพิสดารเหยียบหน้ารัฐบาล และตำรวจ จะทำให้มวลชนที่รับไม่ได้ ตัดสินใจแยกตัวออกมาเป็นอิสระ พร้อมแปรสภาพความคับแค้นที่อัดแน่นอยู่ในใจรวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มใหม่ในนาม “เครือข่ายนักศึกษา ประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” หรือ “คปท.” และปักหลักชุมนุมอยู่ที่บริเวณใต้ทางด่วนสี่แยกอุรุพงษ์ กระทั่งกลายเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่ทรงพลังและกำลังสร้างความกลัดกลุ้มใจให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอยู่ในขณะนี้

ความน่าสนใจของ “ม็อบ คปท.” มีหลายประการด้วยกัน

แต่ที่สำคัญที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นการที่ม็อบนี้มีแกนนำการชุมนุมเป็นนักศึกษาชื่อ “อุทัย ยอดมณี” ซึ่งปัจจุบันสวมหมวกเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง(อศ.มร.) และมีที่ปรึกษาซึ่งคอการเมืองรู้จักกันดีในชื่อของ “ทนายนกเขา” หรือ “นิติธร ล้ำเหลือ”

และด้วยความที่แกนนำของการชุมนุมเป็นนักศึกษานี่เองจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์การรวมตัวของ “คนรู้ทันทักษิณ” จากแม่น้ำ สายเล็กร้อยสาย กลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่รัฐบาลมิอาจมองข้ามได้

ยิ่งการปักหลักยึดชัยภูมิบริเวณแยกอุรุพงษ์ ซึ่งอยู่ชายขอบของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นในภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่ถือเป็นอาวุธเด็ดในการจัดการกับม็อบของรัฐบาลด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้หน่วยงานความมั่นคงเกิดความละล้าละลังในการจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่าจะเลือกใช้วิธีไหน ยิ่งแกนนำเป็นนักศึกษาด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้รัฐบาลต้องคิดหนัก จะยัดข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือล้มล้างรัฐบาลเหมือนที่เคยใช้กับม็อบอื่นๆ ก่อนหน้านี้ก็ไม่สามารถทำได้

นี่คือทัพพิสดารที่ไม่ธรรมดา

ไม่เช่นนั้นแล้วก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา คงไม่เห็นภาพ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศอ.รส. เข้ารายงานสถานการณ์การชุมนุมกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่แยกอุรุพงษ์ ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รับทราบ โดยมีหน่วยงานความมั่นคงเข้าร่วมอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

ไม่เช่นนั้นคงไม่ต้องใช้ปฏิบัติการข่มขู่กลุ่มผู้ชุมนุมทุกรูปแบบ ทั้งการโยนระเบิดเพลิงใส่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2556 หรือมีผู้นำต้นหมามุ่ยมาโปรยในพื้นที่ชุมนุมเมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม 2556 รวมทั้งสร้างประเด็นใหญ่โตว่าชาวบ้านร้านตลาดที่อยู่ในย่านนั้นไม่พอใจกลุ่มผู้ชุมนุมจนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี

ที่ร้ายไปกกว่านั้นคือ มีการใช้นักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งนำโดย นายสุพัฒน์ อาษาศรี เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) พร้อมด้วยนายนันทพงศ์ ปานมาศ รองเลขาฯ สนนท. ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านการอ้างชื่อ ม.รามคำแหง ไปเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลในนาม คปท. ซึ่งก็เป็นรับรู้กันในแวดวงกิจกรรมนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรามคำแหงระบุว่า การแถลงข่าวของนายนันทพงศ์นั้น มีนักการเมืองซึ่งเป็น ส.ว.ที่มีความสนิทสนมกับนายนันทพงศ์อยู่เบื้องหลังในการจัดฉากแถลงข่าว

ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งได้ไปยื่นหนังสือต่อ ผบ.ตร.เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับ คปท.ที่ปักหลักชุมนุมปิดถนนบริเวณแยกอุรุพงษ์ ด้วยข้ออ้างสิ้นคิดว่า สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน

ทั้งนี้ กรณีของการก่อสงครามในรั้วรามคำแหงต้องบอกว่า เป็นการเมืองน้ำเน่าในรูปแบบเก่าๆ ที่หลายคนคุ้นชิน เพราะต้องไม่ลืมว่า สถาบันการศึกษา แห่งนี้ได้ผลิตผู้นำนักศึกษาที่ผันตัวกลายมาเป็นผู้นำทางการเมืองหลายต่อหลายคน

ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดงที่ถวายตัวรับใช้นักโทษชายหนีคดีก็คืออดีตหัวหน้าพรรคศรัทธาธรรม

แจ็ค- วัชระ เพชรทอง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็คืออดีตหัวหน้าพรรคสัจธรรม

และทั้งแจ็คและตู่ต่างก็ล้วนแล้วแต่เคลื่อนไหวในทางการเมืองมาโดยตลอดตั้งแต่ครั้งที่เป็นนักศึกษา

ดังนั้น จะแปลกอะไรถ้า “อุ้ย-อุทัย ยอดมณี” จะกระโดดลงมาเป็นผู้นำม็อบในครั้งนี้ เหมือนดังเช่นที่ ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง(มร.) ประกาศเอาไว้ชัดเจนว่า ถือเป็นเสรีภาพที่จะไปแสดงออก เพราะการไปร่วมชุมนุมถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล

กระนั้นก็ดี ต้องบอกว่าการก้าวขึ้นมาสู่เส้นทางการเมืองของเขาเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำรงตำแหน่งนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง(อศ.มร.) เพราะถ้าดูเส้นทางประวัติศาสตร์แล้ว ไม่บ่อยครั้งนักที่ตัวแทนจาก “พรรคสานแสงทอง” ที่อุทัยสังกัดอยู่จะสามารถดำรงตำแหน่งนี้ได้ ยิ่งในช่วงที่ “รังสรรค์ แสงสุข” เป็นอธิการบดีด้วยแล้ว พรรคที่ผูกขาดอำนาจมายาวนานก็คือพรรคศรัทธาธรรมของตู่-จตุพร พรหมพันธุ์ หรือถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างก็เป็นพรรคเล็กพรรคน้อยที่อำนาจฝ่ายบริหารสามารถควบคุมได้

เฉกเช่นเดียวกับนิติธร ล้ำเหลือที่ความจัดเจนในความเป็นนักกฎหมาย ของเขา ทำให้ข้าทาสระบอบทักษิณไม่สามารถจัดการม็อบ คปท.ได้โดยง่าย เพราะต้องไม่ลืมว่านิติธรเคยสร้างผลงานอันลือลั่นเอาไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นทนายเจ้าของสำนวนในการฟ้องร้องเพื่อหยุดการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และได้ชัยชนะในการทวงทรัพย์สมบัติที่เป็นของแผ่นดินคืนมาจาก บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่จะต้องจับตามองต่อไปก็คือ บรรดากลุ่มการเมืองกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พรรคแมลงสาบ” ที่ขณะนี้สำแดงตนออกมาอย่างชัดเจนว่า ปรารถนาจะเข้ามาแทรกแซงการชุมนุมของ คปท.อย่างออกนอกหน้า ดังเช่นที่รัฐบาลพยายามกล่าวหาในขณะนี้

คำถามมีอยู่ว่า ทำไมพรรคแมลงสาบถึงต้องกระเหี้ยนกระหือรือเข้ามาข้องเกี่ยวกับม็อบอย่างออกหน้า

คำถามมีอยู่ว่า ถ้าพรรคแมลงสาบอยากจะโค่นรัฐบาล ทำไมพรรคแมลงสาบถึงไม่ยอมเปิดหน้านำม็อบจัดตั้งของตัวเองออกมา แต่ชอบที่จะยืนอยู่เบื้องหลังรอคอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากหยาดเหงื่อและเลือดเนื้อของผู้ชุมนุม ทั้งๆ ที่ตัวเองก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำได้ แต่สุดท้ายก็ทำได้แค่เพียงการนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่จัดตั้งเดินมาส่ง ส.ส.ที่รัฐสภา

ทำไมพรรคแมลงสาบถึงไม่ปล่อยให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวโดยธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลทำให้การชุมนุมพัฒนาตัวเองทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ

พรรคแมลงสาบลืมไปแล้วหรือว่า เมื่อครั้งที่ภาคประชาชนรวมตัวกันต่อต้านระบอบทักษิณในนามของ “กลุ่มหน้ากากขาว” และกำลังขยายแนวร่วมเพิ่มออกไปเรื่อยๆ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ แต่ฉับพลันทันทีที่พรรคแมลงสาบพยายามเข้ามาแทรกแซงการนำ เพราะเห็นว่าประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ได้ส่งผลทำให้ม็อบหน้ากากขาวสลายตัวไปโดยปริยายกระทั่งถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถรวบรวมผู้คนได้มากเหมือนเช่นในช่วงแรกๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ประชาชนไม่ไว้ใจพรรคการเมือง และไม่อยากให้ใครมองว่า ตกเป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใด พวกเขาปรารถนาจะให้การชุมนุมเกิดขึ้นด้วยพลังอันบริสุทธิ์ของภาคประชาชนอย่างแท้จริง

กล่าวสำหรับม็อบ คปท.นั้น ถ้าหากวิเคราะห์ทางด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธีแล้ว ก็ต้องบอกว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากพวกเขาปฏิบัติการด้วยความระมัดระวัง และกระทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

การที่ประกาศชัดว่าจะปักหลักอยู่ที่อุรุพงษ์โดยไม่ยอมเคลื่อนที่ไปยังทำเนียบรัฐบาล ต้องถือว่า เป็นยุทธศาสตร์ที่สร้างความปวดหัวให้กับรัฐบาลไม่น้อย เพราะตราบใดที่ยังไม่เคลื่อนเข้าสู่พื้นที่ พ.ร.บ.ความมั่นคง ฯ รัฐบาลก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากเป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติและปราศจากอาวุธ ขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐบาลตื่นตูมจนต้องประกาศปิดถนนเพิ่มเติม ก่อนที่จะยอมถอยทัพเพราะถูกคนก่นด่ากันทั้งบ้านทั้งเมืองว่า ทำให้เกิดวิกฤติจราจรวินาศสันตะโร เนื่องจากปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า จำนวนม็อบที่มีอยู่มิได้ส่งผลต่อการจราจร หากแต่เป็นเพราะปริมาณตำรวจที่ยกโขยงกันมานับหมื่นคน รวมถึงแท่งปูนขนาดใหญ่ที่ยกไปปิดถนนเกลื่อนกลาดต่างหากที่เป็นตัวปัญหา

แถมยังต้องสูญเสียงบประมาณเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

นอกจากนี้การเคลื่อนไหวของ คปท.ก็เป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีคำสั่งย้าย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลออกจากตำแหน่งเนื่องจากไม่สามารถดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมได้เพราะเกิดทั้งการปาระเบิดเพลิงเข้าใส่และการโปรยหมามุ่ย

รวมถึงขยายประเด็นเพิ่มเติมจากสถานการณ์การเมืองเฉพาะหน้าด้วยการไปยื่นหนังสือที่ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อทบทวน กรณีที่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีก่อการร้าย เเละเดินทางไปที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการกับสำนักงานอัยการสูงสุดที่ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่กรณีดังกล่าว

ทั้งนี้ นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษา คปท. ประกาศชัดเจนว่าพร้อมให้เวลาดำเนินการถึงวันอาทิตย์ที่ 20 ต.ค.นี้ หากไม่มีความคืบหน้า จะกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหว รวมทั้งหากนายกฯ ไม่ดำเนินการ ทางกลุ่ม คปท.จะขอมติจากผู้ชุมนุม เพื่อนำไปสู่การขับไล่นายกรัฐมนตรีต่อไป ก็ถือเป็นยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

ขณะเดียวกันการปักหลักอยู่กับที่ก็ส่งผลในทางอ้อม เพราะเป็นไปตามธรรมชาติของม็อบที่จะต้องนับหนึ่งเรื่อยไปจนถึงสิบ ไม่ใช่นับหนึ่งแล้วกระโดดข้ามไปสิบเลย ทั้งนี้ ก็เพื่อวัตถุประสงค์สำคัญคือรอเวลาให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความห่วยแตกจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนตัดสินใจยุติความเป็น “ไทยเฉย” และลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การที่กลุ่มคนดีศรีอยุธยา จาก 16 อำเภอ จ.อยุธยา กว่า 2 คันรถบัสที่เดินทางเข้าร่วมชุมนุม พร้อมทั้งขึ้นปราศรัยบนเวที ว่า เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงกลับใจ มาเข้าร่วมชุมนุมเนื่องจากทนไม่ไหวกับการทำงานของรัฐบาลที่ไม่สามารถช่วยประชาชนได้ รวมไปถึงนโยบายต่างๆโดยเฉพาะ นโยบายจำนำข้าว และการเรื่องมาตรการป้องกันน้ำท่วม ที่ไม่สามารถทำได้

นี่คือการเคลื่อนไหวที่ไม่อาจกระพริบตาได้เลยทีเดียว เพียงแต่ระวังอย่าให้ “พรรคแมลงสาบ” มาทำให้เสียของก่อนปฏิบัติการใหญ่สำเร็จก็เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น