xs
xsm
sm
md
lg

“คปท.”คึกคนล้นอุรุพงษ์ ยิ่งลักษณ์หวั่นเอาไม่อยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- คปท. ลั่นไม่ย้ายออกจากแยกอุรุพงษ์ จี้รัฐบาลเลิกให้"แม้ว"มาบงการ  ข้องใจอัยการสั่งไม่ฟ้อง ด้าน ศอ.รส.ยอมเปิดเส้นทาง 4 เส้น หลังโดนด่าหนักเป็นตัวการทำรถติด  ยันใช้พ.ร.บ.มั่นคงคุมม็อบต่อถึง 18 ต.ค.  "ยิ่งลักษณ์"ขอเวลา 1 สัปดาห์ประเมินสถานการณ์ "มาร์ค" ปลุกประชาชนลุกขึ้นสู้พวกที่อ่างประชาธิปไตย ใช้เสียงมากลากไป    กทม.อัดผบ.ชน.อย่าก้าวล่วงอำนาจ ด้านศธ.ไม่ห้ามนร.ร่วมชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล

    นายอุทัย ยอดมณี แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ได้ยืนยันที่จะปักหลักชุมนุมอยู่ที่บริเวณแยกอุรุพงษ์ต่อไป และจะไม่กระจายไปที่ไหน เพราะการชุมนุมไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายใดๆ แต่ถ้ามีประชาชนมาร่วมจำนวนมากขึ้น อาจจะต้องขยายพื้นที่ออกไปอีก แต่ไม่มีการปิดถนน จึงอยากขอให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจในเรื่องการจราจรติดขัด
ส่วนถ้ารัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงพื้นที่รอบทำเนียบฯ ทางกลุ่ม คปท. พร้อมที่จะกลับไปชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบฯอีกแน่นอน แต่ถ้ารัฐบาลขยายพื้นที่การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาถึงแยกอุรุพงษ์ ก็จะไม่สลายการชุมนุม และพร้อมมอบตัว    ส่วนการยกระดับการชุมนุม หรือจะเคลื่อนขบวนไปที่ไหน หรือไม่ ต้องประเมินสถานการณ์จากความพร้อมของผู้ร่วมชุมนุม
สำหรับข้อเรียกร้องของคปท.ที่มีต่อรัฐบาล คือ ขอให้หยุดการติดต่อกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอย่าให้เข้ามาแทรกแซงการทำงานของรัฐบาล และขอตรวจสอบคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุดโดยละเอียด ถึงสาเหตุที่สั่งไม่ฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณ ในข้อหาก่อการร้าย และไม่ให้แต่งตั้งนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ไปดำรงตำแหน่งใดทางการเมือง และองค์กรอื่นๆ
ขณะที่ตำรวจเตรียมรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะเข้ามาในพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง โดยการนำแท่งปูนซีเมนต์ขนาดสูงประมาณ 1.50 เมตร มาวางเรียงทำเป็นกำแพง ปิดช่องทางจราจร บนถนนที่สามารถสัญจรเข้าผ่านบริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา รวมทั้งวางกำลังเจ้าหน้าที่ตามจุดต่างๆ โดยผลัดเวรกันตลอด 24 ชั่วโมง
ยอมเปิด 4 เส้นทาง หลังถูกด่าหนัก
    
    เมื่อเวลา 11.30 น. วานนี้(14ต.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงศักดิ์ รอง ผบช.น. ฐานะโฆษก บช.น. เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ได้มีประกาศฉบับที่ 2/2556 เรื่องห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ 14 เส้นทาง ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ของวันที่ 13 ต.ค. นั้น เนื่องจากวันนี้เวลา สภาพของการจราจรช่วงเช้าที่ผ่านมา ตั้งแต่ 06.00 น.-7 .00 น. มีการจราจรคับคั่ง บริเวณสะพานพระราม 8 จนถึงการจราจรบนสะพานกรุงธน  ศอ.รส.จึงได้มีการประชุมร่วมกัน สรุปสถานการณ์ไว้ เนื่องจากเป็นวันเปิดทำการของราชการ และเอกชนต่างๆ เป็นเหตุให้การจราจรติดขัด จึงได้มีการสั่งการให้เปิดเส้นทางจราจรผ่อนผันชั่วคราว 2 เส้นทาง ได้แก่ ถนนศรีอยุธยา ตั้งแต่แยก พล.1 ถึง แยกวัดเบญจฯ และถนนราชวิถี ตั้งแต่แยกการเรือน ถึงแยกราชวิถี และเปิดเส้นทางการถาวรอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ ถนนสุโขทัย ตั้งแต่ แยกสวนรื่นฤดี ถึงแยกสุโขทัย ถนนราชสีมา ตั้งแต่แยกสวนรื่นฤดี ถึงแยกประชาเกษม

    ส่วนการประเมินด้านการข่าวช่วงกลางคืนของวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา บริเวณแยกอุรุพงษ์ มีผู้มาร่วมชุมนุมมากถึง 2,000 คน ทางกลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้มีการตั้งเต็นท์จากเดิม 3 หลัง เป็น 8 หลัง

    สำหรับเส้นทางการจราจรที่ยังคงปิดใช้การอยู่ขณะนี้เหลือเพียง 10 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกวังแดง ถึงแยกพานิชยการ 2. ถนนอู่ทองใน ตั้งแต่แยกอู่ทองในถึงลานพระราชวังดุสิต ด้านหลังพระบรมรูปทรงม้า 3. ถนนลิขิต 4. ถนนพระราม 5 ตั้งแต่ สะพานอรทัย ถึงแยกสุโขทัย 5. ถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่แยกพระรูป ถึงแยกจปร.  6. ถนนลูกหลวง ตั้งแต่แยกสะพานวิศนุกรรมนฤมาน ถึงสะพานเทวกรรม 7. ถนนนครสวรรค์ ตั้งแต่บริเวณแยกพิษณุโลกถึงสะพานเทวกรรม  8. ถนนพิชัย ตั้งแต่ แยกขัตติยานี ถึงถนนราชวิถี 9. ถนนศรีอยุธยา ตั้งแต่แยกวัดเบญจมบพิตร ถึงแยกกองพล1 10. ถนนนครปฐม

ใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ คุมม็อบถึง 18 ต.ค.
          
                        วันเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.)  แถลงสรุปสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ โดยระบุว่า ขณะนี้ยังมีการชุมนุม 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. บริเวณแยกอุรุพงษ์, กลุ่มกองทัพประชาชน บริเวณสวนลุมพินี และกลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนา บริเวณกระทรวงการคลัง ซึ่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้จัดเจ้าหน้าที่ดูแลทุกจุด โดยยังคงประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จนถึงวันที่ 18 ต.ค.นี้  
          โฆษก ตร. กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังผู้ว่าฯกทม. ว่าได้อนุญาตให้กลุ่ม คปท. ติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะหรือไม่ หากไม่ได้รับอนุญาต กลุ่มผู้ชุมนุมจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท            

“ประชา”วอนคปท.ย้ายไปชุมนุมสวนลุมฯ
      
    พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงการชุมนุมที่อุรุพงษ์ว่า  ที่น่าห่วงคือ เป็นการชุมนุมในสถานที่ที่เปิดโล่ง จึงเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยของผู้ร่วมผู้ชุมนุม  เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอร้องให้ไปชุมนุมที่สวนลุมพินีเพียงจุดเดียว แต่เรายังเป็นห่วงเรื่องมือที่สาม ทั้งนี้ เรื่องการย้ายสถานที่ชุมนุม เราจะมีการพูดคุยกับแกนนำอย่างต่อเนื่อง

                เมื่อถามว่า ทางคปท.ยืนยันที่จะชุมนุมต่อ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีขยายระยะอายุ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ออกไปอีก รองนายกฯ กล่าวว่า คาดว่า ภายในวันที่ 1 - 2 วันนี้ คงมีการประเมินอีกครั้ง

                เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ เพราะการชุมนุมของคปท.เป็นกลุ่มของนักศึกษาที่มีปฏิกิริยารุนแรงต่อเรื่องทางการเมือง รองนายกฯ กล่าวว่า เท่าที่รับรายงานมีหลายกลุ่มผสมผสานกัน รวมถึงกลุ่มการเมืองด้วย ฉะนั้น รัฐบาลจะต้องดูแลตรงนี้ เพราะทำเนียบรัฐบาลเป็นศูนย์บริหารราชการแผ่นดินที่จะต้องดูแล
    
สมช.แฉปลุกม็อบล้มแก้ รธน.ม.190
                     พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาสมช. กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มต่างๆมีความสัมพันธ์กันทั้งหมด ทั้งการชุมนุมของกลุ่ม กปท. ที่สวนลุมพินี การชุมนุม คปท.ที่แยกอุรุพงษ์ โดยมีการชุมนุมกลุ่มประชาชนปฎิรูประเทศไทย (สปท.) ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นหัวหอก เชิญชวนกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐบาล อาทิ กลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่มหน้ากากขาว กลุ่มเกษตรกรสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เข้าร่วม แล้วสร้างสถานการณ์ปลุกม็อบปิดถนน ชุมนุมยืดเยื้อ เพื่อเอื้อสัมพันธ์ทางการเมือง โดยวันที่ 15-16 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 จึงเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้

"นายกฯปู"หวั่นปัญหาบานปลาย
     น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์ชุมนุมของกลุ่ม อปท. ว่า ได้ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ศอ.รส. ประเมินสถานการณ์อยู่ ส่วนจะขยายพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือไม่นั้น ต้องขอดูภาพรวมก่อน คงต้องดูสถานการณ์หลังจากอาทิตย์นี้ดีกว่า    เมื่อถามว่า แกนนำ คปท. ยืนยันแล้วว่า จะไม่มีการเคลื่อนย้ายสถานที่ชุมนุมจากอุรุพงษ์ ไปที่อื่น รัฐบาลจะประกาศขยายพื้นที่ควบคุมออกไป หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถ้าการชุมนุมไม่กีดขวางการจราจร และอยู่ภายใต้ข้อกฎหมายที่คงจะพึงกระทำได้ คงต้องว่าเป็นเฉพาะจุดไป เมื่อถามอีกว่า เวลานี้มีหลายกลุ่มที่จะข้ามาร่วมชุมนุมห่วงหรือไม่ว่าจะบานปลาย นายกฯ กล่าวว่า ห่วงอยู่แล้ว เพราะไม่อยากให้เหตุการณ์ทั้งหมดก่อให้เกิดความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น อยากจะขอร้องอะไรที่พูดคุยกันได้เรายินดีอยู่แล้ว

ปลุกปชช.ต่อสู้พวกใช้เสียงมากลากไป    
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า    กรณีรัฐบาลมีการตั้งกำแพงสูงท่วมหัวปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภานั้น ตนไม่ทราบว่ารัฐบาลมีข้อมูลอะไรที่บ่งบอกว่าจะเกิดความรุนแรงถึงกับต้องใช้มาตรการเช่นนี้ แต่เมื่อตัดสินใจแล้วต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้น เพราะประชาชนที่มีปัญหาสัญจรไปมากำลังตั้งคำถามเช่นกัน  แต่คิดว่าการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ไม่น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ ม.36 ว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพของประชาชน เพราะไม่ได้ใช้ในพื้นที่ที่มีการชุมนุม  

จี้รัฐบาลยกเลิกการใช้พ.ร.บ.มั่นคงฯ
    นายสมชาย แสวงการ ส.ว. สรรหา กล่าวถึงการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ระหว่างวันที่ 9-18 ต.ค. โดยอ้างถึงการเดินทางเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีจีน แต่ขณะนี้ก็ได้เดินทางกลับไปแล้ว และเมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา ยังได้มีการประกาศปิดถนน 14 เส้นทาง บริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) จะมีการบุกเข้ามา แต่ทางผู้ชุมนุมก็ยังยืนยันว่า จะยังชุมนุมที่ แยกอุรุพงษ์ ไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ขอให้รัฐบาลอย่าพิจารณาเรื่องนี้แบบสองมาตรฐาน ไม่ใช่ว่าม็อบที่สนับสนุนรัฐบาลไปชุมนุมที่ไหน มีการอำนวยความสะดวก แต่พอมีกลุ่มที่คัดค้านรัฐบาลขึ้นมา กลับประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ  ถือว่าเป็นการประกาศใช้ที่ฟุ่มเฟือยเกินควร และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติกับผู้ชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ที่มีสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ ดังนั้นขอเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรี ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคง และยกเลิกการปิดถนนทั้ง 14 เส้นทางด้วย

โวยพท.พาลหาเรื่องผู้ว่าฯกทม.
    นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย พยายามที่จะยื่นถอดถอน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.โดยอ้างว่า มีการสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุม เนื่องจากมีการส่งรถพยาบาล รถดับเพลิง รถสุขาของกทม.  อำนวยความสะดวกต่อการชุมนุมนั้น อยากให้พรรคเพื่อไทยกลับไปทบทวนให้ดีว่า ในการชุมนุมปี 52- 53 ที่ผ่านมานั้น กทม. ก็มีการนำรถพยาบาล รถดับเพลิง รถสุขา ของกทม. อำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งมีการอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมมาโดยตลอด ไม่ใช่อำนวยความสะดวกกับกลุ่มที่ล้มรัฐบาลเท่านั้น

"ถาวร"ข้องใจอัยการไม่สั่งฟ้อง“ทักษิณ”  
    เมื่อวานนี้ ( 14 ต.ค.) มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันการทุจริตและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ  ทำหน้าที่ประธานการชุม เพื่อพิจารณาศึกษาการใช้อำนาจรัฐ กรณีการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการในการสั่งไม่ฟ้องคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  โดยเชิญ นายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 และนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เข้าชี้แจง

    นายถาวร กล่าวว่า ตนรู้สึกเห็นใจนายรุจ ในการที่ผู้บังคับบัญชาสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ สิ่งที่ปรากฏและเกิดขึ้นเป็นระยะๆ คือ คดีที่เกี่ยวข้องกับระบอบทักษิณ ทางอัยการทำขึงขังในบางโอกาส แต่ 2 ปีที่ผ่านมา กลับสั่งไม่ฟ้อง ไม่ฎีกา อัยการเป็นทนายแผ่นดิน การสั่งในแต่ละคดีต้องนึกถึงความสงบสุข และผลประโยชน์กฎหมายเป็นที่ตั้ง  คดีก่อการร้ายกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนให้อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหา จำนวน 26 คนนั้น จึงอยากให้คณะอนุกรรมาธิการฯ ออกคำสั่งเรียกสำนวนคดีที่อยู่ในมืออัยการ รวมทั้งออกคำสั่งเรียกแนวทางการวินิจฉัยอัยการสูงสุด ออกคำสั่งเรียกความเห็นพนักงานอัยการ ทั้งหมด 4 คดี และออกคำสั่งเรียกสำเนาคำฟ้อง 4 คดี และให้ตรวจสอบดุลพินิจอัยการสูงสุดโดยดูจากสำนวนของดีเอสไอด้วย

    ด้านนายรุจ ชี้แจงว่า คดีก่อการร้ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ แยกออกจากผู้ต้องหาคนอื่น และมอบให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแยก เพราะเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ยืนยันว่า วิธีปฏิบัติของอัยการต่อคดีนี้ ปฏิบัติบนพื้นฐานเดียวกับคดีอื่นๆ แนวทางการปฏิบัติของอัยการสูงสุด ทำถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว ส่วนจะมีความผิดหรือไม่ ก็อยู่ที่การวินิจฉัยคำสั่ง

**โค่นทักษิณเสียงแตก
    เวลา 14.45 น. พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี แกนนำคณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทุกษิณ(กปท.) โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว Vachara Riddhagni ว่า ขอประกาศว่าการที่มีเพจที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณเรียกตัวเองว่า "คณะเสนาธิการร่วม" จัดการโดยวิทยุวิหกเรดิโอและเป็นเพจที่ผมได้เคยชี้แจงแถลงแล้วหลายครั้งว่า ไม่ได้เป็นเพจของคณะเสนาธิการร่วม กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ แม้แต่น้อย จึงขอให้ชั่งใจกันด้วยครับว่าเป็น "ประกาศระดมพลเถื่อน" ไม่เกี่ยวของกับคณะเสนาธิการร่วมครับ กิจการนี้เป็นการกระทำของ "ไทกร" เพียงคนเดียว คณะเสนาธิการร่วมคนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ คุณพิเชษฐ์ พัฒนโชติ และผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบของ "ไทกร" เพียงคนเดียว จะเป็นวีรบุรุษก็เป็นคนเดียว อย่างน้อยผมได้ติดต่อกับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องอื่นๆ และยืนยันตามที่ผมชี้แจงไปครับ
" ตอนนี้ผู้คนไปกันที่อุรุพงษ์เพราะว่าต้นทุนทางสังคมของนกเขาสูง ขณะที่กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณก็ยังคงปักหลักเป็นปกติที่สวนลุมพินีครับ และจะปฏิบัติตามที่พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณที่ชี้นำ โดยยึดหลักอหิงสาของพ่อท่านสมณะโพธิรักษณ์ และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหลักในการดำเนินการต่อไปครับ " ข้อความที่ พล.อ.ท.วัชระ ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเวลาประมาณ 16.00 น. ที่บริเวณแยกอุรุพงษ์ เกิดไฟฟ้าดับ เนื่องจากน้ำมันเครื่องปั่นไฟหมด ผู้ชุมนุมจึงได้มีการนำขวดที่บรรจุเมล็ดถั่วเขียว รวมทั้งมือตบ หรืออุปกรณ์ที่หาได้ มาเคาะประกอบจังหวะ และร้องเพลงปลุกใจ
โค่นทักษิณ ซัด ไทกร นัดรวมตัวสนามหลวงไม่ใช่มติกปท.
    พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี แกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) กล่าวว่า ทางกลุ่ม กปท.ยังไม่มีมติเคลื่อนไหวไปที่ไหน แต่จะยังปักหลักชุมนุมที่สวนลุมพินีเช่นเดิม
"สำหรับกระแสข่าวนายไทกร พลสุวรรณ เตรียมรวมนักศึกษา และนักเรียนอาชีวะที่สนามหลวง ก่อนจะเคลื่อนไหวไปที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงเย็นนั้น ขอยืนยันว่าเป็นแค่ความเห็นส่วนตัวเพียงฝ่ายเดียวของนายไทกร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมติของ กปท.อย่างแน่นอน " พล.อ.ท.วัชระ กล่าว
 ด้านนายไทกร กล่าวว่า ขอยืนยันว่าตนเองไม่ได้ขัดแย้งกับกลุ่มแกนนำ กปท.และยังไม่ได้ถอนตัวออกจากการทำหน้าที่เป็นแกนนำแต่อย่างใด
"ส่วนการนัดรวมตัวนักศึกษาที่สนามหลวงนั้น ขอชี้แจงว่าวันนี้ตนได้เดินทางมาดูงานครบรอบ 14 ตุลาฯ ที่แยกคอกวัว จึงเห็นว่ามีเด็กนักศึกษา และเด็กอาชีวะมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก จึงเชิญชวนไปแสดงพลังที่สนามหลวงเท่านั้น และคงจะไม่มีการเคลื่อนไหวไปที่ทำเนียบแต่อย่างใด" นายไทกร ชี้แจง

กทม.ยันหากพบว่าม็อบทำผิดจริงพร้อมดำเนินการ

       วานนี้ (14 ต.ค.) นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกประจำตัวผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึึงกรณีที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชากาตำรวจนครบาล(ผบ.ชน.)ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯกทม. เพื่อถามถึงกรณีที่กลุ่มเครื่อข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.)ได้ตัั้งเวทีปราศัย เต้นท์ รวมทั้งมีการตาก วาง หรือแขวนสิ่งของต่างๆ ในที่สาธารณะ บริเวณถนนพระราม6 ขาออก แยกอุรุพงศ์ ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม ว่าได้มีการขออนุญาตกทม.หรือไม่ และกทม. ได้ดำเนินการอย่างไร ว่า ผู้ชุมนุมไม่ได้ดำเนินการเรื่องขออนุญาต และที่ผ่านมาที่มีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ก็ไม่ได้มีการขออนุญาตกทม. มาก่อน ซึ่งกทม.ได้ทำหน้าที่บริการสาธารณะเรื่องต่างๆ ทั้งการจัดรถสุขาเคลื่อนที่ รถน้ำ รถไฟฟ้าส่องสว่าง ให้กับผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม ส่วนการดำเนินการทางกฎหมาย ก็ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง ซึ่งก็ต้องใช้เวลา หากมีทรัพย์สินของกทม.เสียหายจากการชุมนุมก็ต้องดำเนินคดีอยู่แล้ว เชื่อว่าพล.ต.ท.คำรณวิทย์ คงเข้าใจ เพราะวิธีการทำงานของตำรวจก็มีลักษณะเดียวกัน ที่ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงและหลักฐาน

"ก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่เคยทำหนังสือมาสอบถามถึงการทำงานของกทม. ก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงมาถามตอนนี้ ผมอยากให้ทุกฝ่ายทำงานด้วยการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ก้าวล่วงกัน หากมีเรื่องที่ต้องการความร่วมมือ ก็ประสานงานกันได้ ไม่ทราบว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ต้องการอะไร ส่งหนังสือมาเองหรือลูกพี่สั่งให้ทำ หากอยากให้กทม.ดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มผู้ชุมนุม ถ้าเช่นนั้นคงต้องย้อนกลับไปดำเนินการกับกลุ่มอื่นๆ ก่อนหน้านี้ด้วย" นายวสันต์ กล่าว

และว่า ส่วนเรื่องที่มีการกล่าวหาว่า กทม.เป็นผู้สนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุม ตนอยากให้ย้อนกลับไปคิดถึงเมื่อตอนที่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุม กทม.ก็ได้ส่งรถบริการต่างๆ และปฏิบัติเช่นเดียวกัน ก็ไม่เห็นมีใครพูดอะไร อย่างไรก็ตาม กทม. คงไม่เข้าไปเจรจากับผู้ชุมนุม เพราะสิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องการได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลไม่ใช่ กทม

                    นางสุทธิศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ได้วางมาตราการดูแลรักษาความปลอดภัยโดยรอบหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยให้ฝ่ายอาคารสถานที่ศธ.จัดเวรยามเพื่อเฝ้าระวังอักคีภัยตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานกิจการพิเศษของ ศธ. ให้มีการจัดเจ้าหน้าที่เดินตรวจตราอาคารต่าง ๆภายใน ศธ.อย่างเข้มงวดด้วย ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือพบสิ่งผิดปกติก็ให้ส่งข้อความแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาและผู้บริหารรับทราบทันที
“รมช.ศธ.ได้กำชับในที่ประชุมโดยให้ผู้บริหารองค์กรหลัก ว่า ในช่วงนี้ ผู้บริหารโรงเรียนและสถานศึกษา ควรช่วยสอดส่องดูแลนักเรียน นักศึกษา รวมถึงให้นำนักเรียนไปเข้าค่ายหรือร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เช่น อบรมภาษาอังกฤษ หรือกิจกรรมจิตอาสา และหากจะไปร่วมชุมนุมก็คงไปในนามส่วนตัว และไม่ควรสวมเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนไปร่วมชุมนุม ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้นักเรียนตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง
 
         ด้านนายอภิชาติ จรีะวุฒิ  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ระหว่างปิดภาคเรียน จึงไม่น่ากังวลและไม่ส่งผลกระทบกับนักเรียนมากนัก  แต่หากสถานการณ์การชุมนุมยืดเยื้อออกไปอีก และกลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้เครื่องเสียงในช่วงหลังเปิดเทอมแล้ว ก็อาจสร้างความรำคาญให้กับการเรียนของเด็กได้  ดังนั้น จึงให้เป็นดุลพินิจของโรงเรียนในพื้นที่ติกกับการชุมนุม ว่าสามารถเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไปก่อนได้  ส่วนโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว คือ โรงเรียนราชวินิตมัธยมศึกษา และโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร อย่างไรก็ตาม การทไปร่วมชุมนุมทางการเมืองถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ขอร้องนักเรียนว่าอย่านำชื่อของสถาบันเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปสังเกตุการณ์ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น