ASTVผู้จัดการรายวัน - “คอฟโก” รัฐวิสาหกิจที่ดูแลการนำเข้าข้าวของจีน ตอกหน้า “พาณิชย์” ปัดไม่รู้ เป่ยต้าหวง ซื้อข้าวไทย 1.2 ล้านตัน “ปู”หน้าแหก ด้าน “ยรรยง” เผยจีนตกลงซื้อข้าวไทยปีละ 1 ล้านตัน 5 ปี ช่วยระบายสต๊อก แต่ผู้ส่งออกสวน ไม่เชื่อจีนนำเข้ามากขนาดนั้น “มาร์ค” ท้ารอดูสัญญาซื้อขายจริง "จุรินทร์"ซัดแค่แผนโฆษณาชวนเชื่อ หวั่นโครงการข้าวแลกรถไฟ ซ้ำรอยลำไย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคเอกชนไทยได้มีการสอบถามไปบริษัท คอฟโก ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนที่รับผิดชอบในการซื้อข้าวจากต่างประเทศ ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยร่วมกับคณะของนายกรัฐมนตรีของจีน ได้ให้ข้อมูลว่าไม่ทราบว่าไทยมีการขายข้าว 1.2 ล้านตัน ให้กับบริษัท เป่ยต้าหวง กรุ๊ป ซึ่งตั้งอยู่เมืองเฮยหลงเจียง มณฑลฮาร์บิน และตั้งข้อสังเกตว่าปกติเมืองเฮยหลงเจียงที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน มีการนำเข้าในปริมาณน้อยมากไม่ถึง 1 ล้านตัน และบริโภคข้าวเมล็ดสั้น ไม่ใช่เมล็ดยาว
ทั้งนี้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า สาเหตุที่การเซ็นสัญญาซื้อขายข้าว 1.2 ล้านตันล่าช้า เพราะติดเงื่อนไขของการทำรายละเอียดสัญญา แต่ยืนยันว่าจะต้องมีการเซ็นสัญญากับจีนอย่างแน่นอนภายในเดือนต.ค.นี้ แต่ปริมาณที่จะมีการนำเข้าในช่วงสิ้นปีนี้อาจเป็นลักษณะการทยอยนำเข้าไม่มากหรือหลัก 2 แสนตัน
นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ข้อตกลงที่จีนจะซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยปีละ 1 ล้านตัน เป็นเวลา 5 ปี ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจีนเยือนไทย ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ารวมข้าวที่ซื้อจากเอกชนด้วยหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะซื้อจากรัฐบาลหรือเอกชนไทย ก็ถือว่าเป็นการซื้อข้าวไทย เพราะเอกชนไทยก็ต้องมาซื้อข้าวในสต๊อกของรัฐบาลแต่เจตนารมย์ของจีนที่มีการประกาศว่าจะซื้อข้าวจากไทย มองว่าเป็นการช่วยเหลือไทย เนื่องจากไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า การประกาศว่าจีนจะนำเข้าข้าวจากไทยปีละ 1 ล้านตันเป็นเวลา 5 ปี น่าจะเป็นความต้องการ ประชาสัมพันธ์ว่าข้าวไทยมีตลาดรองรับชัดเจน เพราะในทางปฎิบัติ จีนไม่เคยนำเข้าข้าวจากไทยเกินปีละ 5 แสนตัน มานานแล้ว ยกเว้นช่วง 10 ปีก่อนที่จีนประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมีการนำเข้ามากถึง 2 ล้านตัน แต่
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า จากการตรวจสอบตัวเลขของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พบว่าการส่งออกข้าวไทยไปจีนในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2552 ปริมาณส่งออก 3.28 แสนตัน ปี 2553 ปริมาณส่งออก 2.64 แสนตัน ปี 2554 ปริมาณส่งออก 2.67 แสนตัน ปี 2555 ปริมาณส่งออก 1.43 แสนตัน และการส่งออกช่วง 8 เดือน ปี 2556 (ม.ค.-ส.ค.) ปริมาณส่งออก 1.10 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา 44.16%
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับบริษัท คอฟโก โดยสาระสำคัญ คือ การให้สิทธิพิเศษเฉพาะประเทศไทยในการส่งออกข้าวไปยังจีนปีละ 2 แสนตัน ระยะเวลา 5 ปี รวม 1 ล้านตัน ซึ่งเป็นไปตามโควตาที่จีนผูกพันกับองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ให้เก็บภาษีนำเข้าข้าวเพียง 1% จากภาษีปกติ 68% ปริมาณรวม 5 ล้านตัน เป็นข้าวเมล็ดสั้น 2.5 ล้านตันและข้าวเมล็ดยาว 2.5 ล้านตัน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงข่าวว่า จีนปรับการซื้อข้าวจากไทยเพิ่มเติม เป็นปีละ 1 ล้านตัน และจะรับซื้อยางพาราจากไทย ปีละ 2 แสนตัน ว่า ตนก็งง แม้รู้สึกว่ารัฐบาลนี้อยากจะพูดในสิ่งดีๆ ก็เข้าใจ แต่ก็แปลกใจว่าทำไมเรื่องนี้มาเกิดขึ้นทีหลังวันที่มีการพบปะกันอย่างเป็นทางการ หรือวันที่มีการลงนามในข้อตกลงต่างๆ แต่ข้อเท็จจริงคือ ทางจีนนั้นเขาซื้อข้าวจากเอกชน ไม่ได้ซื้อจากรัฐบาล แล้วข้อตกลงในลักษณะนี้ ก็เคยทำกันมาแล้ว และเข้าใจว่าปริมาณมากกว่านี้ด้วย
ดังนั้นขอดูของจริงดีกว่า ว่าจะมีการซื้อขายกันเมื่อไหร่ เอาสัญญาซื้อขายว่ากันมาเลย ว่ามีการซื้อเพิ่มจากปกติ ที่มีการซื้ออยู่แล้วมากน้อยแค่ไหน ก่อนที่จะดีอกดีใจว่า เป็นข่าวใหญ่โต ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องมุ่งทำคือ เรื่องการที่จะไปลดอุปสรรคปัญหาในเรื่องของการส่งสินค้าเกษตรออกไป แก้ปัญหาในเรื่องของด่าน หรือการขนส่งข้ามแดนเหมือนรัฐบาลที่แล้วทำ ซึ่งตนเชื่อว่าการขยายตัวของการส่งออกผลไม้ไปประเทศจีนนั้นยังทำได้มากขึ้น ดังนั้นต้องสนับสนุน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบคมนาคม
เมื่อถามว่า จากเดิมจีนซื้อข้าวจากเอกชนไทยตามราคาตลาดโลก แต่รัฐบาลนี้ดูจะดีใจ ที่จีนหันมาซื้อข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 5 ปี 5 ล้านตันนั้น อะไรจะเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่ากัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เวลานี้จะพูดตามหลักการปกติคงยาก เพราะสมัยก่อนตลาดข้าวก็ค้าขายกัน ภาคเอกชนเราก็เข้มแข็งในการทำเรื่องนี้ แต่หลังจากมีนโยบายจำนำข้าว ก็มีข้าวอยู่ในมือรัฐบาลมากมาย เพราะฉะนั้นถ้าระบายข้าวออกจากสต็อกได้ ก็ต้องดีใจแน่นอน เพราะถ้าเกิดรัฐขายไม่ได้เลย เราจะทำอะไรกับข้าวเกือบ 20 ล้านตัน ที่อยู่ในสต็อก แล้วก็ยังเก็บเข้ามาเรื่อยๆ ภายใต้นโยบายจำนำ ทั้งนี้เชื่อว่า น่าจะเป็นการขายซื้อข้าวในราคาต่ำ ซึ่งก็คงได้ไม่เยอะ ดังนั้นก็เป็นตัวบ่งชี้อยู่แล้วว่า นโยบายนี้กำลังทำให้อุตสาหกรรมข้าวไทย ซึ่งเคยสามารถทำเงินเข้าประเทศได้มากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวสุนทรพจน์ในรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า จะซื้อข้าวจากประเทศไทย จำนวน 1 ล้านตัน ในระยะเวลา 5 ปี แต่เมื่อเดินทางกลับแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลับพูดว่า จีนตกลงซื้อข้าวแบบจีทูจี ปีละ 1 ล้านตัน จากประเทศไทย ซึ่งวิปฝ่ายค้านยังไม่เคยเห็นการลงนามซื้อขายข้าว จึงเห็นว่าเป็นการพูดข้างเดียว อาจจะเข้าข่ายการโฆษณาชวนเชื่อหรือประสงค์ให้โครงการรับจำนำข้าวเดินหน้าได้ด้วยความชอบธรรม
ดังนั้นต้องดูว่ามีการซื้อขายจริงหรือไม่ ทั้งนี้ในอดีตรัฐบาลเคยโกหกประชาชนว่า เคยมีการทำสัญญาซื้อขายข้าวกับจีน แต่เมื่อตรวจสอบก็ไม่พบตัวเลขส่งออกข้าวให้จีน และหากขายให้จีนได้จริง ก็ยังแก้ไขปัญหาข้าวล้นสต็อกในโกดังไม่ได้
หวั่นโครงการข้าวแลกรถไฟ ซ้ำรอยลำใย
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่รัฐบาลมีแนวคิดเอาข้าวแลกกับรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีน ว่า ตนขอให้รัฐบาลรีบทำการปิดสต๊อก และแจ้งประชาชนว่ามีสต๊อกเท่าไร คุณภาพข้าวเป็นอย่างไร ซึ่งรัฐบาลต้องออกแถลงการณ์โดยละเอียด เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้โครงการจำนำข้าวนั้น รัฐบาลไม่ได้เปิดเผยตัวเลขข้าวในสต๊อกที่ชัดเจน ซึ่งกรณีอย่างนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต คือโครงการลำไยแลกรถไฟ ในปี 2548 ซึ่งไม่มีการตรวจสภาพและสต๊อกลำใยก่อน แต่กลับมีการไปตกลงกับประเทศจีนว่า จะนำลำไย 56,794 ตัน มูลค่า 1,615 ล้านบาท แลกกับหัวรถจักร 7 คัน แต่ปรากฏว่า สุดท้ายต้องยกเลิกโครงการไป เพราะรัฐบาลไม่เคยมีการประกาศคุณภาพลำไย ส่งผลให้ประเทศจีนตีกลับลำใย เพราะไม่ได้มาตรฐาน
“ผมเห็นด้วยที่รัฐบาลจะเอาข้าว หรือยางพาราไปแลกกับรถไฟ หรือความช่วยเหลืออื่นๆ จากจีน แต่รัฐบาลต้องบอกว่าสต๊อกข้าวในตอนนี้มีเท่าไหร่ คุณภาพเป็นอย่างไร เพราะโอกาสที่จะเป็นเหมือนโครงการลำไยแลกรถไฟนั้นมีสูง เพราะรัฐบาลไม่มีการเปิดเผยสต๊อกข้าว ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถทำได้จริง และจะเป็นเพียงการโฆษณาหาเสียงเท่านั้น”นายอรรถวิชช์ กล่าว
นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาแถลงรายละเอียดของสัญญาดังกล่าวให้ครบถ้วน ไม่ใช่เอาแค่ส่วนดีมาพูด เพราะในสัญญาดังกล่าวมีรายละเอียดอีกมาก รวมทั้งเรื่องที่เป็นผลเสียด้วย เพราะที่ผ่านมาในอดีตมีการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA)เรื่องการส่งออกเหล็กไปยังประเทศจีนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องสูญเสียในเรื่องการนำเข้าสินค้าหมวดเซรามิก ที่ทำให้ผู้ผลิตภายในประเทศไม่สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ จนเกิดปัญหาการทำธุรกิจขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงให้ครบถ้วนทั้งส่วนดีส่วนเสียของสัญญานี้ รวมทั้งชี้แจงรายละเอียดวิธีการรับซื้อมีกระบวนการอย่างไร ระยะเวลา และวิธีการจ่ายเงินเป็นอย่างไรต้องชี้แจงให้เกิดความชัดเจน