xs
xsm
sm
md
lg

นักศึกษากับการเมือง จากรามคำแหงถึงอุรุพงษ์

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


เดิมตั้งใจว่าจะไม่แตะเรื่องการเมืองในคอลัมนิสต์ออนไลน์แห่งนี้ แต่วันนี้ขออนุญาตเขียนถึงเรื่องการเมืองสักครั้ง เพราะตลอดสัปดาห์-สองสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เจอเรื่องการเมืองแทบไม่ได้หยุดพัก อีกทั้งถ้าจะเขียนเรื่องอื่น เวลานี้ก็คิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไร กระทั่งเลยกำหนดส่งต้นฉบับบรรณาธิการพิจารณาไปแล้ว จึงขออนุญาตพูดถึงเรื่องการเมืองสักครั้ง แต่เกี่ยวข้องกับสายงานที่ทำอยู่เป็นประจำ หวังว่าคุณผู้อ่านคงจะเข้าใจ

ผมเว้นวรรคจากการทำข่าวชุมนุมทางการเมืองมานาน นับตั้งแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยุติการชุมนุมสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2554 แม้ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีการชุมนุมนับตั้งแต่องค์การพิทักษ์สยามเมื่อปลายปี 2555 มาถึงกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ในปีนี้ ผมไปที่ชุมนุมเพียงครั้งเดียวในช่วงที่ กปท. ปักหลักที่สวนลุมพินี แต่ก็ไม่ได้ไปทำข่าวเพราะช่วงนั้นลางานไปสอบที่รามคำแหง 2 แล้วแวะมาช่วงเย็น

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผมไม่มีเวลาไปสังเกตการณ์การชุมนุมทั้งองค์การพิทักษ์สยามและ กปท. เพราะหน้าที่การงานของผมประจำอยู่ในออฟฟิศตั้งแต่บ่ายยันค่ำ อีกทั้งถ้าไปหลังเลิกงานก็ไม่มีประเด็นอะไรนอกจากเวทีปราศรัย ที่สำคัญคือผมไม่รู้จักใครในที่ชุมนุม กปท. สักคน แต่ก็มีนักข่าวภาคสนามประจำออฟฟิศก็ตามประเด็นนี้ และ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ก็นำเสนอข่าวไปตามปกติ หากคุณผู้อ่านได้อ่านข่าวการเมืองของเราเป็นประจำคงจะเข้าใจดี

กระแสการชุมนุมของ กปท. หายเงียบไปพักใหญ่ๆ แม้จะมีกองทัพธรรมมาช่วยสนับสนุนการชุมนุมก็ตาม กระทั่งวันที่ 7 ตุลาคม 2556 กปท. อาศัยในช่วงการจัดงานทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ อุทิศส่วนกุศลผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2551 บริเวณแยกมิสกวัน กปท. ก็ไปดึงมวลชนที่มาทำบุญมาปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยที่ฝ่ายจัดงานทำบุญซึ่งก็คือฝั่งเอเอสทีวีไม่รู้ตัวมาก่อน เพราะตามกำหนดหลังเสร็จสิ้นพิธีก็จัดงานต่อที่บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์

กปท. ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลได้ไม่นานนัก ท่ามกลางตำรวจที่มาสกัดกั้นการชุมนุมทุกวิถีทาง ตัดเสบียงอาหารหวังให้ผู้ชุมนุมอดตายแบบโหดเหี้ยมอำมหิต เพราะขนาดผู้สั่งการรัฐตำรวจยุคนี้ยังเคยมีผลงานปล่อยให้กลุ่มคนเสื้อแดงล้มการประชุมอาเซียน แล้วหลังเสร็จงานก็พาลูกน้องไปจิบไวน์ฉลองกันที่ร้านมุมอร่อย พัทยา รวมทั้ง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ก็เคยฝากผลงานสลายม็อบท่อก๊าซจะนะ ด้วยสันดานที่ว่า ตีม็อบให้ตายแล้วค่อยไปว่ากันในศาล

ผมไม่อยากโทษลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาหรอกครับ เดิมทีเดียวเมื่อ 5 ปีที่แล้วในช่วงที่พันธมิตรฯ ถูกตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมตั้งแต่เช้ายันเย็น ผมเกลียดตำรวจมากกว่านี้ แต่ตอนนี้พยายามปล่อยวาง อาจเป็นเพราะผมได้เจอตำรวจที่นิสัยดีบนโลกไซเบอร์อย่างน้อยสาม-สี่คนเป็นมิตรกับผม ทำให้รู้สึกว่าคนที่ทำอาชีพตำรวจมันไม่ได้เลวร้ายไปซะทั้งหมด ในทางกลับกันก็ทำใจกับตำรวจภาพลักษณ์แย่ไปแล้ว คิดเสียแต่ว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามการกระทำ

10 ตุลาคม 2556 ผมตื่นนอนขึ้นมา นั่งอ่าน SMS ข่าวก็ทราบว่า กปท. ยอมสลายตัวจากหน้าทำเนียบรัฐบาลกลับไปยังสวนลุมพินี โดยอ้างว่าเห็นแก่หน้าตาประเทศ ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีของจีนจะมาเยือนประเทศไทย แต่ที่น่าตลกคือข้อเรียกร้องของ กปท. บอกว่าหลังนายกรัฐมนตรีจีนกลับไปแล้วจะกลับมาชุมนุมใหม่ ผมก็สบถในใจว่า แล้วใครมันจะบ้าให้กลับมาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลตามที่กลุ่ม กปท. เรียกร้องอีก แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก อาบน้ำไปทำงานตามปกติ

ช่วงเย็นวันนั้นมีข่าวเข้ามาว่า ผู้ชุมนุมประมาณสาม-สี่ร้อยคน เกิดความไม่พอใจที่ กปท. จู่ๆ นึกจะมาก็มา นึกจะหยุดก็หยุด แม้จะมีคำปลอบใจในทำนองว่ายอมแพ้ดีกว่าเสียเลือดเนื้อ อ้างหลักการธรรมะต่างๆ นานา แต่ผู้ชุมนุมและนักศึกษาอาชีวะต่างแสดงความไม่พอใจและวิจารณ์คณะเสนาธิการร่วมฯ ว่าไม่น่าเชื่อถือ ปลุกระดมมวลชนมาแล้วก็ให้กลับ ทำไมจึงยอมง่ายๆ ทำแบบนี้ ทำให้คนที่มาร่วมท้อและเสียกำลังใจ ขณะที่บางส่วนระบุว่าคราวหน้าจะไม่มาอีกแล้ว

พลันได้เห็นคนที่ผมรู้จักอยู่ตรงจุดนั้น ในช่วงที่ “ทนายนกเขา” นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความคดีสิทธิมนุษยชนกำลังอยู่ในช่วงเจรจา ซึ่งในตอนนั้นผู้ชุมนุมไปรวมตัวกันที่สี่แยกอุรุพงษ์กันหมดแล้ว หลังเลิกงานก็เลยตัดสินใจในทันทีว่า จะไปที่สี่แยกอุรุพงษ์ด้วยเหตุผลสอง-สามประการ คือ ไปสังเกตการณ์ในที่ชุมนุม ซึ่งคิดว่าน่าจะมีประเด็นอะไรมานำเสนอข่าวเพิ่มเติม ไปหาคนรู้จักในที่ชุมนุม และไปทดสอบกล้องดิจิตอลที่ทางออฟฟิศให้ยืมเพื่อใช้ในงานข่าวด้วย

ผมนั่งรถเมล์จากหน้ากองสลากฯ ไปถึงสี่แยกอุรุพงษ์สองทุ่มเศษๆ ช่วงนั้นการจราจรไม่วินาศสันตะโรเหมือนช่วงหลังที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) สั่งปิดถนน 14 สาย ผมเห็นรถกระบะติดเครื่องขยายเสียง มีน้องนักศึกษาปราศรัยบนเวที ทราบมาว่าคือ นายพานสุวรรณ ณ แก้ว นักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นพิธีกรจำเป็นบนรถกระบะ ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นรถ 6 ล้อติดเครื่องขยายเสียง จัดที่จัดทางเป็นที่เรียบร้อย

วันต่อมาได้ประกาศตั้ง “เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” หรือ คปท. มีองค์ประกอบสองส่วน คือ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (อศ.มร.) บริหารงานโดย พรรคสานแสงทอง ซึ่งมี นายอุทัย ยอดมณี เป็นแกนนำ อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของทนายนกเขา ที่มีพรรคพวกทั้งกลุ่มการเมืองสีเขียว (กลุ่มกรีน) ที่มี นายสุริยะใส กตะศิลา เป็นผู้ประสานงาน และสมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) ที่มี นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธาน

ส่วนแนวร่วมมีทั้ง กลุ่มอาชีวศึกษาปกป้องราชบัลลังก์ ที่แยกตัวออกมาจากกลุ่ม กปท. เพราะไม่พอใจในเหตุการณ์วันนั้น มีทั้งกลุ่มกองทัพนิรนาม แต่ที่ทำให้ผู้คนเข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลัง คือ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมสองช่องที่เป็นเครือข่ายพรรคเก่าแก่พรรคนี้ ส่งคนมาจัดรายการ และพยายามขึ้นเวทีปราศรัย กระทั่งถูกมองว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลัง เสียงจากหลังเวทีก็บ่นกับผมว่าออกจะดูถูกดูแคลนกันไปหน่อย

แต่หลังจากถูกมองว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลัง ฝั่งแกนนำ คปท. ระวังตัวมากยิ่งขึ้น นักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์มาเยี่ยมหลังเวที จะมาขึ้นเวทีก็ไม่ให้ขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแถลงการณ์ที่ออกมาระบุว่าไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง รวมทั้ง นายก อศ.มร. ที่เป็นหัวหอกร่วมกับทนายนกเขาก็วางตัวไม่ให้มีภาพของนักการเมืองบางคนเข้ามาตีกิน แสวงหาผลประโยชน์จากเวทีตรงนี้

ผมพยายามอ่านข่าวที่ฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยใช้สงครามจิตวิทยาแล้วผมขำดี ตัวอย่างเช่น ดีเจเสื้อแดงที่ผันตัวเป็นรองโฆษกพรรคเพื่อไทยอย่างนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ก็กล่าวหาว่าเป็นพวกเรียนไม่จบ ถูกคัดชื่อออก คำพูดนี้เหมือนจะเป็นการเหยียดหยามกันมากไป ซึ่งจริงๆ ถ้าจะโต้กลับก็โต้ได้ว่า ลูกพี่ตัวเองเรียนรามคำแหง 11 ปีกว่าไม่จบ ไปทำงานให้กับนายใหญ่ ก็มีการขอเคลียร์กับผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัย กระทั่งจบการศึกษาออกมาด้วยวิธีพิเศษ

ไม่เชื่อลองไปถามนายวัชระ เพชรทองดูก็ได้ว่า “ตู่ ศรัทธาธรรม” เป็นใคร?

หรือจะเป็นนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง แกนนำเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ ออกมากล่าวหาว่า นายก อศ.มร. สนิทสนมกันดีกับ ส.ส.ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ อักษรย่อ ถ.ถุง ซึ่งเคยออกมาเคลื่อนไหวช่วงม็อบยางพารามาแล้ว กระทั่งนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ท้าว่าถ้าแน่จริงให้พูดชื่อถาวรไปเลย นอกจากจะปฏิเสธแล้วยังด่ากลับอีกว่า “อย่ากีดกันนักศึกษา” อย่ารังแกเด็กที่จะออกมาชุมนุม

เว็บบอร์ดกลุ่มคนเสื้อแดงพยายามหาข้อมูลนักศึกษาที่เคลื่อนไหวในครั้งนี้ว่าเป็นใคร มาจากไหน ทั้งที่กลุ่มคนเสื้อแดงเนี่ยแหละเคยด่าอีกฝ่ายว่าเป็นพวกล่าแม่มด กรณีที่มีการประนาม “น้องก้านธูป” นักศึกษาสาวที่มีแนวคิดต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ตัวเองกลับทำเสียเอง มีทั้งโพสต์ใบหน้า ที่อยู่เฟซบุ๊กให้ไปส่งข้อความด่า หาภาพกิจกรรมเก่าๆ แล้วเจอภาพที่ไปร่วมกิจกรรมในแฟนเพจยุวประชาธิปัตย์ ก็โยงว่าเป็นยุวประชาธิปัตย์เฉยเลย

จากข้อมูลดังกล่าว ทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ซึ่งนำโดย นายภูมิธรรม เวชยชัย เอามาใช้ คุยโวว่าตรวจสอบเชิงลึกมีแต่พวกยุวประชาธิปัตย์ ประเมินว่าที่ใช้นักศีกษาอาชีวะเป็นหลักเพราะต้องการจุดกระแสดึงนักศึกษาทั่วประเทศชุมนุม แสดงให้เห็นว่าประชาชนทั่วประเทศไม่ต้องการรัฐบาลแล้ว และประหยัดเงินที่หนุนหลังม็อบด้วย เพราะกลุ่มนักศึกษาหากจุดติดจะหลั่งไหลมาร่วมชุมนุมกันเอง แต่ก็เย้ยหยันว่านักศึกษาพวกนี้มีแต่คนใต้ จุดไม่ติด

แสดงว่าไม่เคยได้ยินคำว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว...

การเคลื่อนไหวในนามนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ปลุกกระแสการชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยร่วมก่อตั้งเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ครั้งนี้ นำมาซึ่งคำถามในส่วนของประชาคมรามคำแหงส่วนหนึ่ง มองว่าเหมาะสมหรือไม่ที่นำชื่อสถาบันมาใช้ในการชุมนุมครั้งนี้ แม้ในรั้วมหาวิทยาลัยจะมีเสรีภาพทางการเมืองไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นก็ตาม

อีกด้านหนึ่งยังมีความเคลื่อนไหวผ่านสื่อของนักกิจกรรมในรั้วรามคำแหง อาทิ เครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นใหม่หัวใจประชาธิปไตย และกลุ่มนักศึกษาเสรีประชาธิปไตย มอบดอกไม้ให้ พล.ต.ต.ปิยะอุทาโย ในฐานะโฆษก ศอ.รส. แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของ คปท. ซึ่งนายพุฒิชัยเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ รหัส 53 เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการ อศ.มร. ในนามพรรคตะวันใหม่ปีล่าสุด แต่แพ้การเลือกตั้ง

วันต่อมา นายนันทพงศ์ ปานมาศ รองเลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) รองประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (สมร.) ใช้ห้องประชุมสภานักศึกษา นำเลขาธิการ สนนท. และรองประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี ร่วมกันออกแถลงการณ์ประณามกลุ่ม คปท. ว่าเป็นพวกเผด็จการหลงยุค เพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และยังกล่าวหาว่ามี อศ.มร. ไปร่วมเคลื่อนไหวเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น

ทีนี้ มีรายงานข่าวจากแวดวงกิจกรรมนักศึกษาในมหาวิทยาลัยระบุว่า การแถลงข่าวของนายนันทพงศ์นั้น มีนักการเมืองซึ่งเป็น ส.ว. ที่สนิทสนมกับกันอยู่เบื้องหลังในการจัดฉากแถลงข่าว ซึ่งภายในพรรคสานแสงทองบรรดานักกิจกรรมในพรรคไม่ได้มีความเป็นเอกภาพ บางส่วนมีแนวคิดสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง บางส่วนอยู่ฝั่งตรงข้ามเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งแม้ผมจะไม่คิดว่าเป็นการจัดฉาก แต่เพราะการห้ำหั่นกันจากจุดยืนทางการเมืองก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนรายงานข่าวก็ระบุว่า นายนันทพงศ์เป็นชาว จ.นครศรีธรรมราช เป็นสมาชิกกลุ่มกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พีเอ็นวายเอส) เคยมีบุญคุณกันกับนายสุธรรม แสงประทุม อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยมาก่อน สนิทสนมกับ นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช อดีตนายก อศ.มร. พรรคสานแสงทอง ปี 2534 ซึ่งขณะนี้มีทัศนะทางการเมืองเอนเอียงไปทางสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และกลุ่มคนเสื้อแดง

อย่างไรก็ตาม ผมได้สอบถามนักกิจกรรมในรามคำแหงอีกส่วนหนึ่ง เขาเล่าว่านายนันทพงศ์อาศัยชื่อพรรคสานแสงทองลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมร. ตอนหลังกลับไปอยู่พรรคพิทักษ์ธรรม ต่อมาผมกลับไปดูการเลือกตั้งนายก อศ.มร. และ สมร. ปี 2556 เป็นการแข่งขันที่เหลือแค่ 3 พรรค ได้แก่ พรรคสานแสงทอง ซึ่งมี พรรคพิทักษ์ธรรม พรรคศรัทธาธรรม พรรคสันติภาพ รวมถึงกลุ่มพีเอ็นวายเอสเป็นพรรคร่วม แข่งกับ พรรคตะวันใหม่ และพรรคพลังราม

ปรากฏว่าพรรคตะวันใหม่ที่ครองมา 5 สมัยซ้อน แพ้พรรคสานแสงทองแบบเฉียดฉิวแค่ 11 คะแนน โดยพรรคสานทองได้ 3,326 คะแนน พรรคตะวันใหม่ได้ 3,315 คะแนน และพรรคพลังรามได้ 1,469 คะแนน

อีกด้านหนึ่ง เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ได้ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของนักศึกษารามคำแหง ที่ไม่เห็นด้วยกับนายอุทัยในภาพรวม พบว่า พรรคที่เคยสนับสนุนพรรคสานแสงทอง ให้ได้รับเลือกเป็นนายกองค์การนักศึกษา อย่างเช่น พรรคพิทักษ์ธรรม พรรคศรัทธาธรรม พรรคสันติภาพ รวมถึงกลุ่มพีเอ็นวายเอส ต่างไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของนายอุทัยครั้งนี้ เช่นเดียวกับพรรคตะวันใหม่ ที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม

ขณะเดียวกัน เกือบทุกพรรคในมหาวิทยาลัย ก็มีกลุ่มการเมืองระดับชาติคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง โดยพรรคที่มีความชัดเจนมากที่สุด คือ พรรคสานแสงทอง ที่ได้รับการสนับสนุนจากรุ่นพี่ที่เป็น ส.ส.ภาคใต้ ของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคศรัทธาธรรม ได้รับการสนับสนุนจากรุ่นพี่ อย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เช่นเดียวกับพรรคตะวันใหม่ ที่มีคนของพรรคเพื่อไทยให้การสนับสนุน

การเมืองในมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้นเปรียบเสมือนภาพจำลองของการเมืองระดับชาติ องค์การนักศึกษาเปรียบเสมือนรัฐบาลที่เข้ามาบริหารกิจการของนักศึกษา มีนายก อศ.มร. และคณะกรรมการรวม 12 คน โดยในแต่ละปีมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนงบประมาณหลักสิบล้านบาท ซึ่งมาจากค่าเทอมที่นักศึกษาจ่าย อีกด้านหนึ่งก็จะมีสมาชิกสภานักศึกษา (สมร.) ซึ่งแบ่งออกเป็น สมร.มาจากพรรค และจากการเลือกตั้งระบุบุคคล

หากไล่เรียงทำเนียบนายก อศ.มร. ในระยะหลัง ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา จะพบว่าเป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรคตะวันใหม่กับพรรคสานแสงทองมาโดยตลอด โดยพรรคตะวันใหม่มักจะเป็นนายก อศ.มร. ซ้อนกัน 4 ปีบ้าง 5 ปีบ้าง ส่วนพรรคสานแสงทองจะเข้ามาบริการองค์การนักศึกษาในช่วงสั้นๆ อย่างน้อยสมัยสองสมัย ซึ่งจุดแข็งของพรรคตะวันใหม่คือกิจกรรมนักศึกษาพวกคอนเสิร์ตต่างๆ และนโยบายประชานิยมอย่างรถเมล์ฟรีช่วงสอบ แจกบาร์โค้ตฟรี ฯลฯ

ส่วนพรรคสานแสงทองนั้นมักจะมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อปี 2549 ยุคของนายสมโชค มีชนะ ก็เคยเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง มาที่ทำการพรรคไทยรักไทยในช่วงขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือจะเป็นนายสิกขนันต์ หนูเล็ก หลังจากหมดวาระก็เคยเคลื่อนไหวเดินขบวนไปยังบ้านพักนายสมัคร สุนทรเวช เพื่อขับไล่รัฐบาลเมื่อปี 2551 ปรากฏว่ามีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ

แต่การเคลื่อนไหวแบบนี้ไม่ใช่มีแค่พรรคสานแสงทองเท่านั้น หากจำความได้ ปี 2550 การเลือกตั้งนายก อศ.มร. ตอนนั้นพรรคพิทักษ์ธรรม และพรรคศรัทธาธรรม หยิบประเด็น “ต้านรัฐประหาร” มาใช้หาเสียง แต่ทีนี้โปสเตอร์ที่ทั้งสองพรรคนำมาติดนับหมื่นใบกลับมีลักษณะคล้ายป้ายหาเสียงของพรรคไทยรักไทย และมีกระแสข่าวว่า นักการเมืองระดับชาติซึ่งเป็นศิษย์เก่าศรัทธาธรรม ให้การสนับสนุนนักศึกษาบางกลุ่ม เพื่อให้เคลื่อนไหวทางการเมืองสูงถึง 2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในยุคนั้น ปรากฏว่าพรรคสานแสงทองชนะการเลือกตั้ง โดยมีปัจจัยสำคัญคือ หลังจากปี 2546 ที่นายชนินทร์ หวันกะมา เป็นนายก อศ.มร. พรรคศรัทธาธรรมไม่เคยชนะการเลือกตั้งอีกเลย ประกอบกับนักศึกษามองว่าหากพรรคศรัทธาธรรมชนะการเลือกตั้ง เกรงว่าจะนำทัพ อศ.มร. ออกมาต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง เปรียบเสมือนการใช้นักศึกษารามคำแหงเป็นเครื่องมือ

ผมได้พูดคุยกับตัวแทนพรรคสานแสงทองที่หลังเวที คปท. เพื่อสอบถามถึงความเคลื่อนไหวขององค์การนักศึกษาในช่วงที่ผ่านมา เขาบอกว่า อศ.มร. ยุคนี้จะรื้อฟื้นกิจกรรมที่ปลุกจิตสำนึกส่วนรวมแก่นักศึกษา อย่างการจัดงาน 40 ปี 14 ตุลา ประชาธิปไตยไทยไปถึงไหน เมื่อวันที่ 24 ก.ย. การเคลื่อนไหวร่วมกับเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ จ.นครศรีธรรมราช การไปร่วมเดินขบวนรณรงค์คัดค้านการทำอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ ฯลฯ

ส่วนการเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยนั้น ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อ ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยปรับลดค่าธรรมเนียมการศึกษาแต่ละชั้นปีลง เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับเพื่อนนักศึกษา เพราะในปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ นักศึกษาส่วนมากเป็นลูกหลานเกษตรกร แต่เขาก็บ่นน้อยใจว่าทางมหาวิทยาลัยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าที่ควร

แม้การเคลื่อนไหวของนายอุทัย ซึ่งวันนี้เขาก้าวข้ามไปเป็นแกนนำ คปก. อาจทำให้ประชาคมรามคำแหงส่วนหนึ่งไม่สบายใจก็ตาม แต่การที่นักการเมืองระดับชาติพยายามป้ายสีโดยหยิบประเด็นว่ามีนักการเมืองระดับชาติอย่างพรรคประชาธิปัตย์ให้การสนับสนุน ก็ออกจะเป็นการดูถูกกันเกินไป ผมเชื่อว่าการที่เขาโดดมาดูแลมวลชนขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในครั้งนี้ น่าจะได้เรียนรู้ถึงการเมืองที่ไม่ได้มีแค่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ยังเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม

คนที่ออกมาดูถูกกันเรื่องแบบนี้คงไม่รู้หรอกว่า เด็กรามนั้นมีความพิเศษกว่ามหาวิทยาลัยอื่น คงจะเคยได้ยินคำว่า “อัตตาหิ อัตโนนาโถ” หรือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ซึ่งชาวรามคำแหงแทบทุกคนยึดถือคตินี้เป็นคติประจำใจ เพราะที่นี่สอนให้รู้จักความรับผิดชอบ โดยเฉพาะการเรียนที่มีคนบอกว่า “รามคำแหงเข้าง่ายแต่ออกยาก” ผมเชื่อว่าการที่นายก อศ.มร. ตัดสินใจแบกรับอารมณ์มวลชนในการชุมนุมครั้งนี้ ย่อมเป็นความรับผิดชอบอย่างมหาศาลที่ไม่คุ้มกับการที่นักการเมืองให้การสนับสนุน ผมเชื่อว่าถ้าไม่ได้ทำด้วยอุดมการณ์คงไม่ได้ทุ่มเทมากขนาดนี้

วันก่อนคุยกับพี่ที่ทำงาน เล่าให้ฟังว่า คุณวสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางสังคม มองการชุมนุมของ คปท. ว่า นักเรียนนักศึกษายุคนี้ ต่างกับอดีต เขาเพิ่งตื่นขึ้นมามีบทบาท จะมาเรียนรู้ปัญหาสังคมไทย เมื่อเขามาที่เวทีเรา เราควรให้เขามีพื้นที่ ให้บทบาท สร้างกิจกรรมที่จะได้เติบโตทางความคิด อย่าไปเน้นแต่เรื่องการเคลื่อนไหวที่มีภาพของกลุ่มเยาวชนประกอบเท่านั้น

ในฐานะที่ผมเคยเคลื่อนไหวการเมืองนักศึกษามาก่อน (ปัจจุบันวางมือด้วยเหตุผลที่ว่าผมแก่ตัวแล้ว) ผมคิดว่าถ้ากลุ่ม คปท. จะฟื้นฟูขบวนการนักศึกษา จะต้องแสวงหาแนวร่วมจากสถาบันอื่น จำได้ว่าในสมัยที่ทำกลุ่มยังก์พีเอดี (Young PAD.) แกนนำซึ่งก็คือเพื่อนกันนี่แหละ เคยไปดาวกระจายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แม้องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ในยุคนั้นจะมีแนวคิดต่อต้านพวกเราโดยไปเข้าพวกกับ สนนท. ก็ตาม

แต่ในยุคที่วัยรุ่นไทยต่างมีชีวิตแบบปัจเจก ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง มีโลกส่วนตัวมากกว่าโลกส่วนรวม การจะยึดติดความเป็นสถาบันโดยคิดว่าจะต้องมาในนามตัวแทนมหาวิทยาลัยต่างๆ คงเป็นไปได้ยาก นอกจากต้องแสวงหาเยาวชนที่มีแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกัน ไม่เอาระบอบทักษิณเหมือนกัน ทำอย่างไรให้เขาได้มีส่วนร่วมมากกว่าการเข้าร่วมชุมนุม หรือการกดไลค์กดแชร์ในโซเชียลมีเดีย

เรื่องขบวนการนักศึกษาผมคงไม่สันทัดกรณีเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับคนยุคก่อนซึ่งคงจะให้ความเห็นได้ดีกว่านี้ แต่ผมเห็นว่าการที่นายก อศ.มร. ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ น่าจะได้เรียนรู้ถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการส่งเสริมประชาธิปไตยที่ไม่ได้ผูกขาดแต่กิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย และผมเชื่อว่าไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม เขาคงจะได้ประสบการณ์ที่จะถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการเมืองไทย

เปรียบดังคติพจน์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ไม่ได้เพียงแค่คำว่า “รู้จักอภัย ตั้งใจศึกษา บูชาพ่อขุน” แต่ยังรวมถึง “สนองคุณชาติ” ซึ่งก็คือชาติบ้านเมืองนั่นเองครับ

รายชื่อนายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ถึงปัจจุบัน
พ.ศ.2514 - นายไพรัช สร้างถิ่น - กลุ่มลายสือไทย
พ.ศ.2515 - นายพินิจ จารุสมบัติ - กลุ่มพระร่วง
พ.ศ.2516 - นายราชันย์ วีระพันธ์ - กลุ่มพลังงาน
พ.ศ.2517 - นายสมพงษ์ สระกวี - กลุ่มแนวร่วมราม
พ.ศ.2518 - นายไพฑูรย์ จิตตรา - พรรครามธรรม
พ.ศ.2519 - นายวิบูลย์ คุณพงษ์ลิขิต - พรรคสัจธรรม
พ.ศ.2520 - นายมหินทร์ ตันบุญเพิ่ม - พรรคสัจธรรม
พ.ศ.2521 - งดกิจกรรมตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ปร.42) ปี 2520
พ.ศ.2522 - นายโชค น้อยศิริ - พรรคนักศึกษา 7 คณะ
พ.ศ.2523 - นายอวิรุทธิ์ สุดมากศรี - พรรคนักศึกษา 7 คณะ
พ.ศ.2524 - นายวิสูตร สุจิระกุล - พรรคนักศึกษา 7 คณะ
พ.ศ.2525 - นายเจษฎา วิสุทธิศักดิ์ชัย - พรรคนักศึกษา 7 คณะ
พ.ศ.2526 - นายวีระพงศ์ นุ่มวงศ์ - พรรคกระแสธรรม
พ.ศ.2527 - นายเทพไท เสนพงศ์ - พรรคนักศึกษา 7 คณะ
พ.ศ.2528 - นายวันเลิศ กิติธรกุล - พรรคนักศึกษา 7 คณะ
พ.ศ.2529 - นายบุญทวี พรรณราย - พรรคนักศึกษา 7 คณะ
พ.ศ.2530 - นายบัญชา แซ่ชอ (ไชยสัตยารักษ์) - พรรคเทิดราม
พ.ศ.2531 - นายสมบูรณ์ เชาวนา - พรรคอธิปัตย์
พ.ศ.2532 - นายจักรพันธุ์ แย้มวงษ์ศรี- พรรคอธิปัตย์
พ.ศ.2533 - นายสมศักดิ์ วิเชียรฉาย - พรรคพิทักษ์ธรรม
พ.ศ.2534 - นายสิริวัฒน์ ไกรสินธ์ - พรรคสานแสงทอง
พ.ศ.2535 - นายไพศาล เชาวนะ - พรรคพิทักษ์ธรรม
พ.ศ.2536 - นายสถาพร อ่อนสง - พรรคพิทักษ์ธรรม
พ.ศ.2537 - นายธำมรงค์ บ่อถ้ำ - พรรคศรัทธาธรรม
พ.ศ.2538 - นายเด่น เทพกล่ำ - พรรคพิทักษ์ธรรม
พ.ศ.2539 - นายเตชาติ์ มีชัย - พรรคสานแสงทอง
พ.ศ.2540 - นายสมควร พรหมทอง - พรรคศรัทธาธรรม
พ.ศ.2541 - นายอภิชาติ สังขาชาติ - พรรคตะวันใหม่
พ.ศ.2542 - นายอภิชาติ สังขาชาติ - พรรคตะวันใหม่
พ.ศ.2543 - นายรณชัย จันทร์เล็ก - พรรคตะวันใหม่
พ.ศ.2544 - นายชาญณรงค์ ละอองเพชร - พรรคตะวันใหม่
พ.ศ.2545 - นายอนุชิต สกุลบุญมา - พรรคสานแสงทอง
พ.ศ.2546 - นายชนินทร์ หวันกะมา - พรรคศรัทธาธรรม
พ.ศ.2547 - นายสุนทร คิรีเดช - พรรคสานแสงทอง
พ.ศ.2548 - นายสุรศักดิ์ เนืองพันธุ์ - พรรคตะวันใหม่
พ.ศ.2549 - นายสมโชค มีชนะ - พรรคสานแสงทอง
พ.ศ.2550 - นายสิกขนันต์ หนูเล็ก - พรรคสานแสงทอง
พ.ศ.2551 - นายจุมพล แพรกม่วง - พรรคตะวันใหม่
พ.ศ.2552 - นายกุลรัตน์ สุขธาร - พรรคตะวันใหม่
พ.ศ.2553 - นายตนัย หนูชู - พรรคตะวันใหม่
พ.ศ.2554 - นายชัยชนะ ศิรหัส - พรรคตะวันใหม่
พ.ศ.2555 - นายนาราวินทร์ แพรกม่วง - พรรคตะวันใหม่
พ.ศ.2556 - นายอุทัย ยอดมณี - พรรคสานแสงทอง


กำลังโหลดความคิดเห็น