xs
xsm
sm
md
lg

คิดถึง “เปลื้อง คงแก้ว” หรือ “เทือก บรรทัด” (๒) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากอินเทอร์เน็ต)
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
เปลื้อง  คงแก้ว  มีหลายสถานภาพ และบทบาท  แต่ที่โดดเด่นและเป็นที่ร่ำลือคือ สถานภาพ และบทบาทความเป็นครู เป็นกวี/นักเขียน และเป็นนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม  ทั้งสามสถานภาพ และบทบาทนี้ไปด้วยกันอย่างผสมกลมกลืน และมีประจักษ์พยานเป็นที่รับรู้อยู่ทั่วไป 
 
ไม่เหมือนใครบางคนที่สถานภาพ และบทบาททั้งหลายทั้งปวงไม่ไปด้วยกัน  ขัดแย้งกันเป็น “สองแนวทาง” นั่นคือ  สถานภาพ และบทบาทหนึ่งสร้างภาพว่า เป็นนักเขียนกวีหัวก้าวหน้า  เป็นอาจารย์สอนลูกศิษย์ให้เป็นนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม  ท่องบ่นพยางค์ วลี และประโยคของพวกก้าวหน้า  แต่ชีวทัศน์ส่วนตัวกลับเลวชาติหมาไม่รับประทานก็มี
 
ในสถานภาพ และบทบาทของความเป็นครู  อาจารย์เปลื้อง  เป็นครูโดยการปฏิบัติ หรือใช้ชีวิตให้ลูกศิษย์ดู  เป็นครูที่รักและเข้าใจเด็ก  เป็นที่รักใคร่ชอบพอและกล่าวขวัญถึงของลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า  เท่าที่ข้าพเจ้ารู้จักมักคุ้นเป็นการส่วนตัว และเคยไปพึ่งพาอาศัยที่หลับที่นอน และที่กินมาแล้ว  เช่น  สุนทร  โต๊ะดำ  เจ้าหน้าที่  กวี  ศิลปินเขียนเพลงและร้องเพลงแห่งฮาลา-บาลา  และ วิสุทธิ์  ขาวเนียม กวีชั้นแนวหน้าของแวดวงกวีในปัจจุบัน ที่มีผลงานออกมาเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง และมีวิถีการดำเนินชีวิตตามรอยครูเปลื้องของเขาตลอดมา
 
ในสถานภาพ และบทบาทการเป็นกวีและนักเขียน  “เทือก  บรรทัด” มีโลกทัศน์ และชีวทัศน์ที่สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  บทกวีของเขาทุกชิ้นมีแรงบันดาลใจมาจากการใช้ชีวิต  การมองโลก  มองชีวิตในแง่มุมที่เขาคิด  เขาเห็น  เขาเชื่อ และเขาปรารถนาที่จะเห็นความสงบสุข  สันติภาพ  เสมอภาคโดยแท้  มิใช่เขียนเพียงให้ตัวเองดูดีมีรสนิยมร่วมสมัยน่านับถือ
 
เขาเคยรำคาญพวก “กวีเจ้าลีลา” ถึงขนาดเคยแนะนำตัวเองในวงสัมมนาแห่งหนึ่งแบบทีเล่นทีจริงตามอุปนิสัยปกติของเขาว่า “ผมเปลื้อง  คงแก้ว หรือ เทือก  บรรทัด  เคยเป็นกวี แต่ตอนนี้รักษาหายแล้ว”
 
บนสถานภาพและบทบาทการเป็นนักวิชาการท้องถิ่น หรือนักต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรม  นายเปลื้อง  คงแก้ว  เป็นแกนนำที่แข็งกร้าว  พูดจาโผงผาง  ตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อมตามประสาปกติวิสัยของคนใต้  โดยไม่สนใจว่าคนที่เขาพูดด้วยจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีคนที่คนใต้ให้ความเกรงใจอย่าง นายชวน  หลีกภัย  นายเปลื้อง เคยประคารมมาแล้วทั้งนั้น  โดยเฉพาะในคราวต่อสู้เพื่อปกป้องถิ่นฐานบ้านเกิดที่จังหวัดตรัง  หลายกรรมหลายวาระ  และการร่วมกับพี่น้องประชาชนชาวอำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลา  กรณีคัดค้านท่อก๊าซ และโรงแยกก๊าซ  และพี่น้องชาวบ้านบ่อนอก  หินกรูด  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
 
ข้าพเจ้าเคยร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น  ทั้งในเรื่องทางการเมือง  สังคม  วรรณกรรม และกิจกรรมนักศึกษาชมรมอาสาพัฒนา  โดยเฉพาะชมรมอาสาพัฒนาของนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ที่มักจะจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับวรรณกรรมเป็นประจำทุกปี  และเชิญข้าพเจ้ากับอาจารย์เปลื้อง ไปพูดคุยให้ความคิดความเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมนักศึกษา  และงานวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่มีส่วนในการปลุกจิตสำนึกการรับใช้สังคมของนิสิตนักศึกษา
 
ก่อนอาจารย์เปลื้องจะเสียชีวิตเมื่อไม่นานมานี้  ข้าพเจ้าในฐานะประธานสมัชชาจังหวัดสงขลาเพื่อการปฏิรูปการเมือง  ได้เชิญอาจารย์เปลื้องมาร่วมอภิปรายเรื่อง “๗๓ ปีการเมืองไทย  ใครเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ที่โรงแรมลีการ์เด้นส์  หาดใหญ่  ถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑ เมื่อวันที่  ๓๐  กรกฎาคม  ๒๕๔๘  ร่วมกับ  ผศ.ดร.วิชัย  กาญจนสุวรรณ (ตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น) อดีตประธานสมัชชาจังหวัดสงขลาเพื่อการปฏิรูปการเมือง  อาจารย์สังกัดคณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  นายสุริยะใส  กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)  นายศุภสันห์  หนูสวัสดิ์  นายกเทศมนตรีเทศบาลนาทวี  โดยมีข้าพเจ้าเป็นผู้ดำเนินรายการ  อาจารย์เปลื้อง ได้แสดงทัศนะทางการเมืองเป็นครั้งสุดท้ายในเวทีร่วมกับข้าพเจ้า และกัลยาณมิตรทางสังคมอย่างน่าสนใจว่า
 
“ผมพูดด้วยความรู้สึก…อารมณ์แห่งความรู้สึกของชีวิตมนุษย์  ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผมรู้สึกอย่างไรต่อการเมือง  ในสมัยเด็กๆ ผมมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักการเมือง  รู้สึกว่ามันดี  เพราะว่าที่ตรังมีต้นแบบหลายคน  เช่น  คุณประภาส  คงสมัย  นายก่อเกียรติ  ตรังคเสน…หรือนักหนังสือพิมพ์อย่างเสถียร  วีรวรรณ  ผมก็อยากเป็นนักการเมือง  อ่านหนังสือลัทธิการเมืองตั้งแต่ยังอยู่มัธยมฯ  แล้วก็อยากเห็นการเมืองตามอุดมการณ์พอสมควร...

“แต่ว่าพอยิ่งอ่านไป  ยิ่งเรียกร้องไป  ยิ่งโถมตัวเข้าไปมากเท่าไร  ก็ยิ่งมองเห็นอะไรบางสิ่งบางอย่างที่รู้สึกว่า  เหมือนกับว่ายิ่งเดิน ยิ่งไกล  ถึงจะเข้าไปใกล้ มันก็ยิ่งไกล…ผมมีความรู้สึกว่าการเป็นนักการเมือง  ธาตุแท้นักการเมือง หรือว่าการเมืองภาคการเมือง  มันมีอัตลักษณ์ของมันอย่างนี้ทั่วโลก  ตอนนี้ผมเริ่มสงสัย หรือว่าการเมืองมันเป็นอย่างนั้น  ผมยังไม่มีคำตอบให้ตัวเอง…
 
“ในส่วนของผมแล้ว  ๗๓  ปีการเมืองไทย  มันเปลี่ยนรูป  เปลี่ยนหน้า  เปลี่ยนตา  แต่ว่ามันยังคงสถานะแห่งการเป็นอำนาจ…เพราะว่าขึ้นชื่อว่าการปกครอง  ก็ต้องใช้อำนาจ  โดยธาตุแท้ของมันต้องออกระเบียบ  ต้องมีอะไรทั้งหลายสิ่งหลายอย่าง  เพราะว่าผมไม่เชื่ออย่างนักปราชญ์ว่า  มนุษย์สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ปกครอง  เค้าไม่ค่อยเชื่อเหมือนอย่างพวกศิลปินทั้งหลายที่บอกว่า  ปกครองโดยไม่ต้องปกครอง...
 
“เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีการจัดการ  ยิ่งจัดการไป  ยิ่งเข้าใกล้  ยิ่งเห็นอะไรหลายสิ่งหลายอย่าง  ผมคิดว่ามันก็คิดอะไรบางสิ่งบางอย่างของมัน  พัฒนาการไปเหมือนแบคทีเรียเคยอยู่ในน้ำใสได้  ในที่สุดน้ำเน่า  มันก็อยู่ได้  เพราะการเมืองบางทีเริ่มต้นมีความบริสุทธิ์  แต่พอเข้าไปใกล้ๆ…มันมีอำนาจลึกลับ  อำนาจแห่งความมหัศจรรย์ที่ดึง จูง ชักพาไป...
 
“ในปัจจุบันการเมืองที่ใกล้ที่สุดที่ผมสนใจมากที่สุดอย่างกรณี  ๓  จังหวัดชายแดนภาคใต้…ก่อนจะเกิดเหตุการณ์กรณีกรือเซะ  ผมได้เขียนบทกวีเกี่ยวกับการปล้นปืน  ผมได้เขียนบทกวีไว้ชื่อบทกวีว่า “ปักษ์ใต้ของท่านกับของข้าฯ…”
 
(อานต่อฉบับหน้า)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น