ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เวลานี้ คนไทย โดยเฉพาะคอการเมืองกำลังเถียงกันอย่างหนักหลังจาก 2 อดีตแกนนำเดือนตุลาอย่าง “ธีรยุทธ บุญมี” และ “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” ได้แสดงปาฐกถาเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เพราะดูเหมือนว่า ทั้งสองคนมีจุดยืนที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ขณะที่ธีรยุทธ บุญมีวิพากษ์นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตรและรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างหนัก เสกสรรค์ ประเสริฐกุลกลับแบไต๋เชียร์กลุ่มคนเสื้อแดงอย่างเห็นได้ชัดเจน
กล่าวสำหรับธีรยุทธ บุญมีนั้น ต้องบอกว่า การประดิษฐ์วาทกรรมมาอธิบายปรากฏการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั้น ทำให้หลายคนสามารถวาดภาพหรือจินตนาการได้อย่างไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะการนำคำว่า “ขี้” มาใช้แสดงตัวตนของ 2 ศรีพี่น้องที่มีอำนาจสูงสุดในสยามประเทศอย่าง “นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร” และ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี
“....พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนทุนใหม่ขนาดใหญ่ สามารถใช้อำนาจควบคุมรัฐและภาคชนบท จนเป็นชนวนความขัดแย้งกับกลุ่มอนุรักษ์ และเกิดวิกฤติในปัจจุบัน ในเรื่องวัฒนธรรมการเมือง สังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ หรือสังคมขี้ข้า เข้าหาคนมีอำนาจ เข้าหาเส้นสาย ผมมักสอนนักศึกษาว่าสังคมไทยเป็นสังคมขี้ ที่มักมีมุมมองเรื่องขี้ในเรื่องต่างๆ”
“ถ้าจะมอง พ.ต.ท.ทักษิณผ่านมุมมองว่าด้วยขี้ ก็ต้องเรียกว่าขี้ขำ เพราะขี้ขำแปลว่า อุจจาระที่ค้างรูทวารอยู่ แม้จะออกแรงแคะก็ยังเอาออกลำบาก ส่วนนายกฯ ยิ่งลักษณ์อาจจะมองว่า ขี้หย้อง กับขี้แบ๊ะ คำแรกหมายถึงหญิงสาวที่ชอบแต่แต่งตัวสวยงาม ชอบสำรวยสำอาง ส่วนคำที่สองหมายถึง พวกที่ไม่ทำอะไรจริงจังเป็นล่ำเป็นสัน ทำตัวอีล่อยป้อยแอ หรือทำไปอย่างเสียไม่ได้ ส่วนชน ชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์ของไทยอาจมองได้ว่าเป็นพวกขี้ ขี้หักถ่องซึ่งแปลว่าพวกทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ปากว่าตาขยิบ ปากพูดให้คนทำดี แต่ไม่กล้าลงมือแก้ปัญหาเอง”
นั่นคือทัศนคติของ อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ซึ่งมีต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 อันนำมาซึ่งการตอบโต้อย่างดุเดือดเลือดพล่านจากกลุ่มคนเสื้อแดงผู้มีความจงรักภักดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ขี้ข้า” อย่าง “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” และ “เด็จพี่-พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” เพราะงานนี้ธีรยุทธซัดพ.ต.ท.ทักษิณและนางสาวยิ่งลักษณ์ตรงๆ โดยที่ไม่ได้ผิดเพี้ยไปจากความจริงเลยแม้แต่น้อย
นอกจากนี้ ธีรยุทธชี้ชัดด้วยว่า ปัญหาเรื่องทักษิณไม่ใช่วิกฤติประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล คือการขาดความโปร่งใส ตรวจสอบ และการคอร์รัปชันทำผิดกฎหมาย ซึ่งต้องใช้มุมคิดของธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล และกลไกสำหรับปัญหามาแก้ไข ขณะที่นโยบายประชานิยม หรือการที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ นักวิชาการมีหน้าที่ออกมาแสดงทัศนะตักเตือนข้อดี-ข้อเสีย และถ้าจะถึงขั้นทำให้เกิดวิกฤติจริงๆ กลุ่มธุรกิจใหญ่ต่างๆ ที่ประสบความเดือดร้อนก็จะต้องออกมาคัดค้านด้วยตัวเอง หรือประชาชนอาจต้องเจอปัญหาเงินเฟ้อไปเรื่อยๆ ก็จะต้องลุกขึ้นมาประท้วงเรียกร้องอย่างใดอย่างหนึ่ง
ส่วนขี้หักถ่อง ถ้าดูจากคำนิยามที่ธีรยุทธ์ให้เอาไว้ก็จะพบว่า ช่างตรงกับพฤติกรรมของ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นหัวหน้าพรรคอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะมีบทพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า “พวกทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ปากว่าตาขยิบ ปากพูดให้คนทำดี แต่ไม่กล้าลงมือแก้ปัญหาเอง”
บทสรุปของการเมืองไทยในวันนี้จึงเป็น “สังคมที่อุดมไปด้วยสารพัดขี้” ซึ่งทุกขี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาทั้งสิ้น
ขณะที่เมื่อหันไปมองปาถกฐาของเสกสรร เมื่อถอดรหัสความคิดก็จะพบว่า เขาเห็นดีเห็นงามกับกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างชัดเจน โดยมองว่า การเคลื่อนไหวของประชาชนในหัวเมืองและในชนบทซึ่งเป็นชนชั้นที่ถูกมองข้าม ตั้งอยู่บนเจตนารมณ์เดียวกับการต่อสู้เมื่อ 40 ปีก่อน
แปลไทยเป็นไทยก็หมายความกลุ่มคนเสื้อแดงที่สังคมมองว่าเป็นองครักษ์พิทักษ์ระบอบทักษิณคือกลุ่มคนที่มีเจตนารมณ์เดียวกับคนเดือนตุลา หรือที่เขาบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่ว่า “ชนชั้นกลางใหม่”
“คนอยู่บนเวทีอำนาจมือไม้ย่อมต้องเปรอะเปื้อน และผู้นำรัฐบาลที่เป็นทางเลือกของชนชั้นกลางใหม่ก็มีข้อผิดพลาดใหญ่อยู่หลายประการ แม้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งมีความผิดร้ายแรง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตย และปัญหาก็ยังคงต้องแก้ไขด้วยวิธีการประชาธิปไตย ความผิดพลาดของผู้นำรัฐบาลนั้นมีอยู่จริง และสร้างความไม่พอใจให้คนจำนวนไม่น้อย”
ขณะเดียวกันเสกสรรค์กลับเห็นว่า “คนชั้นกลางดั้งเดิมกำลังกลายเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของแนวคิดอนุรักษนิยม จากการที่เคยผลักดันประวัติศาสตร์ให้ก้าวไปข้างหน้า พวกเขากลับกลายเป็นชนชั้นที่อยากหยุดประวัติศาสตร์ไว้ในจุดที่ตัวเองได้เปรียบในทุกด้าน ที่ผ่านมาเหตุการณ์ได้พิสูจน์แล้วว่า จำนวนไม่น้อยพร้อมสนับสนุนวิธีการนอกระบบในการเปลี่ยนรัฐบาล ถ้าหากมันจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าโลกตัวเองจะไม่ถูกโยกไหวสั่นคลอน”
คำถามมีอยู่ว่า กลุ่มคนเสื้อแดงหรือชนชั้นกลางใหม่ที่เสกสรรค์ยกยอปอปั้นนั้น สืบทอดเจตนารมณ์ประชาธิปไตยได้จริงๆ หรือ เพราะความจริงที่ปรากฏอยู่ก็คือ กลุ่มคนเสื้อแดงทุกวันนี้แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ระบอบทักษิณและพรรคเพื่อไทยจนไม่เคยแม้แต่จะคิดวิพากษ์วิจารณ์หรือตำหนิติเตียนแม้ว่าผลลัพธ์แห่งการดำเนินนโยบายของรัฐบาลจะก่อให้เกิดความพินาศฉิบหายหรือเกิดทุจริตสักเพียงใด
ด้วยเหตุดังกล่าว การที่เสกสรรค์ยกยอปอปั้นกลุ่มคนเสื้อแดงน่าจะเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
เหมือนดังเช่นที่นายธีรยุทธกล่าวในการปาฐกถาบางช่วนบางตอนว่า “ถ้ามองว่าขบวนการเสื้อแดงเป็นตัวแทนของชาวบ้านและพลังชาวรากหญ้าที่แท้จริงแล้ว เหตุใดแกนนำเสื้อแดงจึงจะไม่ขบคิดเสนอต่อพรรคเพื่อไทย เพื่อกระจายอำนาจลงสู่ชาวรากหญ้าอย่างแท้จริงด้วย รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์แง่ดี-แง่เสียของนโยบายประชานิยม ติติงขอบเขต ปริมาณ และปัญหาที่สัมพันธ์กับนโยบายการเงินการคลังต่อพรรคเพื่อไทยด้วย”
วันนี้กลุ่มคนเสื้อแดงจึงเป็นเพียงผู้รักประชาธิปไตยที่สังกัดพรรคเช่นที่นายเสกสรรสรุปเอาไว้ทุกประการ และไม่เห็นวี่แววว่าจะสามารถ “ฝึกการวางเฉยเมื่อรัฐบาลที่ท่านเลือกถูกวิจารณ์คัดค้านบางเรื่อง หรือให้ดีกว่านั้น หากท่านสามารถเข้าเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการเมืองภาคประชาชนฉบับเดิมกับระบบรัฐสภาได้ก็ถือว่าเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง”
หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ คนเสื้อแดงยังติดหล่มและยึดมั่นถือมั่นโดยไม่สามารถก้าวข้ามพ้นนักโทษชายทักษิณได้เลย แม้แต่แกนนำก็ตกเป็นทาสรับใช้ บางคนได้ดิบได้ดีเป็นรัฐมนตรีเสียด้วยซ้ำไป ดังนั้น จะหวังให้ไปเปิดปาก วิพากษ์วิจารณ์นายใหญ่หรือยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายตรงข้ามจึงเป็นเรื่องยาก
เอาแค่เรื่องที่นายธีรยุทธวิพากษ์นักโทษชายทักษิณและนางสาวยิ่งลักษณ์ คนเสื้อแดงยังเป็นเดือดเป็นแค้นอย่างไม่ฟังเหตุผลเสียด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาไม่ อาจหลุดพ้นความเป็นขี้ข้าได้
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความเห็นต่อปาฐกถาของนายเสกสรรค์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “กลุ่มชนชั้นกลางใหม่ในความหมายนัยนี้ ซึ่งผมตีความว่า ก็คงเป็นกลุ่มเสื้อแดง แล้วกลุ่มทุนโลกาภิวัฒน์ก็คือเป็นกลุ่มทุนสามานย์ คือพูดง่ายๆ เสื้อแดงบวกกลุ่มทุนสามานย์ ทำให้ประชาธิปไตยก้าวหน้า แล้วก็กลุ่มชนชั้นกลางใหม่ หรือเสื้อแดง แกเชื่อมโยงกับศัพท์อีกคำหนึ่งที่เรียกว่า เป็นการเมืองมวลชน ก็คือ Mass politics ซึ่งชุบชีวิตระบบการเมืองแบบตัวแทนขึ้นมา คือไอ้ระบบการเมืองแบบตัวแทนก็คือระบบการเมืองที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกนักวิชาการ และภาคประชาชนวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ว่าไอ้การเมืองแบบตัวแทนไม่รอด มันเป็นตัวแทนของกลุ่มทุน และผลประโยชน์ ภาคประชาชนเสนอการเมืองแบบมีส่วนร่วมเข้ามา การเมืองแบบตัวแทนที่เราพูดกันถ้าเป็นวิชาการเขาเรียกว่า Representative Democracy ส่วนการเมืองแบบมีส่วนร่วม ซึ่งมีความก้าวหน้ากว่าการเมืองแบบเป็นตัวแทนเรียก Presentative Democracy ในทัศนะของ อ.เสกสรรค์ การเมืองมวลชนก็คือ แบบเสื้อแดง ชุบชีวิตการเมืองแบบตัวแทน ที่กำลังจะร่อแร่ปางตาย แล้วให้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมา”
“แต่ปรากฏว่า ความเป็นจริงที่เราเห็นทุกวันนี้ก็คือ ไอ้พันธมิตรที่เหลือเชื่อของ อ.เสกสรรค์ ดูเหมือนว่าจะพิทักษ์แต่พรรคเพื่อไทย ในขณะเดียวกันจะบ่อนทำลายองค์การ และกลไกอื่นๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระก็ดี หรือว่าแม้กระทั่งภาคประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย กลไกอิสระทำไมพันธมิตรที่เหลือเชื่อของ อ.เสกสรรค์ ถึงทำลาย ก็เพราะว่า ภาคประชาชนก็ดี หรือว่าองค์กรอิสระก็ดี มักจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล ของกลุ่มทุนโลกาภิวัฒน์ของ อ.เสกสรรค์อยู่เสมอ จนกระทั่งทำให้รัฐบาลของกลุ่มเหล่านี้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพขึ้นมา เพราะฉะนั้นเป็นอะไรไม่ได้เลยที่จะให้มวลชนเสื้อแดง หรือว่าชนชั้นกลางใหม่ในนิยามของ อ.เสกสรรค์ จะปกป้องรักษากลไกที่จะไปทำลายรัฐบาลของเขา ที่เขาเลือกมานะครับ”
นี่คือข้อถกเถียงที่น่าสนใจอันเป็นควันหลงจากการปาฐกถาของอดีตผู้นำมวลชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ธีรยุทธ บุญมีและเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งสังคมคงต้องขบคิดกันต่อไปว่า ใครพูดผิด ใครพูดถูกและใครมีวาระซ่อนเร้นอย่างไร นอกเหนือจากเรื่อง “ขี้” ที่สังคมจดจำได้อย่างไม่มีวันลืม