ในฐานะผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เดือนตุลาคม 2516 คนหนึ่ง ผมจึงเป็นคนร่วมยุคสมัยกับเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักต่อสู้ นักคิด นักเขียน ที่ผมยอมรับว่านิยมชมชอบตัวตนในบทบาทผู้นำนักศึกษาที่มีพลังของเขาในช่วงเดือนตุลาคม 2516 ระยะต่อมาเมื่อต่างเติบโตก็ได้ติดตามอ่านงานเขียนหนังสือของเขา ทั้งบทความ เรื่องสั้น และข้อเขียนอื่นๆ ซึ่งก็นิยมชมชอบสำนวนโวหารที่ประณีตแหลมคมและชื่นชอบแนวคิดที่เต็มไปด้วยปรัชญาและศิลปะผสมผสานกันอย่างลงตัว และในโอกาสการรำลึก 14 ตุลาคม ของทุกปี ก็ได้ติดตามฟังปาฐกถาแนวคิดทางการเมืองของเขามาโดยตลอด
ปีนี้ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2556 รองศาสตราจารย์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้เลือกที่จะแสดงปาฐกถาในฟากฝั่งของกลุ่มคนเสื้อแดงที่แยกตัวจากมูลนิธิ 14 ตุลาคม ที่อนุสรณ์สถานมาจัดที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อเรื่อง “เจตนารมณ์ 14 ตุลาคม เพื่อประชาธิปไตย” โดยภาพรวมของการปาฐกถา เสกสรรค์ เน้นย้ำเรื่องหลักการประชาธิปไตยและแนวทางการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งล้วนเป็นเนื้อหาทางวิชาการที่ผมเห็นด้วยโดยไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ
แต่โดยภาพรวมเช่นเดียวกัน ผมรู้สึกผิดหวังที่วิธีคิดของเสกสรรค์ที่ผมเคยเชื่อว่าซื่อตรงและมั่นคงต่อหลักการประชาธิปไตยที่เป็นธรรมแท้จริง กลับดูผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนไปไม่ต่างจากนักวิชาการเสื้อแดงทั้งปวง ที่ยึดเอาเพียงว่าประชาธิปไตย คือการได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นมติของประชาชนเสียงข้างมาก โดยไม่ใส่ใจคำนึงถึงบริบทอื่นๆ ที่แวดล้อมเกาะเกี่ยวผลพวงจากการเลือกตั้งนั้นๆ ทั้งไม่ใส่ใจว่าเสียงข้างมากจะทำอะไรตามอำเภอใจโดยอาศัยสิทธิเสียงทางรัฐสภา
เสกสรรค์พูดในตอนหนึ่งว่า “คนอยู่บนเวทีอำนาจมือไม้ย่อมต้องเปรอะเปื้อน และผู้นำรัฐบาลที่เป็นทางเลือกของชนชั้นกลางใหม่ก็มีข้อผิดพลาดใหญ่อยู่หลาย ประการ แต่สิ่งนี้ไม่อาจลบล้างความจริงที่ว่าโดยสาระใจกลางแล้วการเมืองเป็นเรื่อง นโยบาย และตราบใดที่รัฐบาลมีนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ประเด็นอื่นถ้าไม่คอขาดบาดตายต้องนับเป็นเรื่องรอง ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบอบการเมือง แม้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งมีความผิดร้ายแรง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตย และปัญหาก็ยังคงต้องแก้ไขด้วยวิธีการประชาธิปไตย “และอีกตอนหนึ่งว่า” การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นเป็นการต่อสู้เพื่อระบอบการเมือง ไม่ใช่เพื่อรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งหรือพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ ดังนั้น พลังประชาธิปไตยจึงไม่สามารถจำกัดตัวเองอยู่แค่พิทักษ์รักษารัฐบาลหรือนักการเมืองที่ตัวเองพอใจเท่านั้น ยกเว้นกรณีที่สถานการณ์บีบคั้นให้การรักษารัฐบาลที่มาจากฉันทานุมัติของประชาชนเป็นเรื่องเดียวกับความอยู่รอดของระบอบประชาธิปไตย พูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือ พลังประชาธิปไตยมีหน้าที่ปกป้ององค์ประกอบต่างๆ ของประชาธิปไตยที่ไม่ใช่รัฐบาลด้วย เพื่อให้กลไกของระบอบทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนมั่นคงของระบบการเมืองที่เราเชื่อว่าดีที่สุดหรือเลวน้อยที่สุด”
ฟังผิวเผินก็น่าฟังและดูดีมาก แต่เสกสรรค์เน้นย้ำเหมือนจะขีดเส้นใต้ตรงประโยคที่ว่า ยกเว้นกรณีที่สถานการณ์บีบบังคับ ซึ่งเรียกเสียงปรบมือโห่ร้องจากคนเสื้อแดงกึกก้องห้องประชุม คล้ายจะส่งสัญญาณว่าการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ของคนเสื้อแดงคือสถานการณ์บีบบังคับ ที่ต้องพิทักษ์รักษาประชาธิปไตย เพราะมีแต่พรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่มาจากฉันทานุมัติของประชาชน แต่กรณีพรรคประชาธิปัตย์ที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ ผ่านการโหวตจากรัฐสภา หาใช่ฉันทานุมัติไม่ อีกทั้งการที่ฝ่ายม็อบเสื้อแดงเข่นฆ่าทหารได้ก็เป็นความชอบธรรมในการพิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย แต่การที่ทหารกระชับพื้นที่และมีคนบาดเจ็บล้มตาย เป็นการปราบปรามฝ่ายประชาธิปไตยที่ไม่ชอบธรรมอย่างนั้นใช่หรือไม่?
ไม่ทราบว่าเสกสรรค์เคยดูคลิปภาพและเสียงที่นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรองประกาศบนเวทีที่ราชประสงค์หรือไม่ว่า ขณะนี้คนเสื้อแดงมีครบแก้วสามประการแล้ว คือ พรรคเพื่อไทย มวลชนคนเสื้อแดง และกองกำลังไม่ทราบฝ่ายที่ติดอาวุธสู้เคียงข้างมวลชนเสื้อแดง ซึ่งชัดเจนว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงมิใช่การชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ตามวิถีทางประชาธิปไตยแต่อย่างใดเลย และการบาดเจ็บล้มตายของทหารก็ย่อมเป็นสิ่งพิสูจน์ชัดแล้ว มิใช่หรือ?
เสกสรรค์แตะเรื่องทุนนิยมและพูดถึงการเอารัดเอาเปรียบ การครอบงำทางความคิด และการกดขี่ข่มเหง โดยมิได้วิพากษ์ถึงนโยบายประชานิยม และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่สร้างความร่ำรวยมหาศาลแก่นายทุนเจ้าของพรรค การเมืองและวงศาคณาญาติตลอดจนบริวารขี้ข้าที่รับใช้ทั้งในแวดวงนักการเมือง ข้าราชการ และแกนนำคนเสื้อแดงที่สู้แล้วรวยแทบทุกคน ที่ชัดแจ้งคือคนเคยจนอย่างจตุพร หรือคนที่มีอาชีพแค่นักพูดสภาโจ๊กอย่างณัฐวุฒิ ที่ร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น โดยมิต้องพร่ำถึงความมหัศจรรย์พันลึกที่ลูกหลานนักการเมืองทั้งที่บรรลุนิติภาวะและยังไม่บรรลุนิติภาวะมีทรัพย์สินและเงินฝากคนละนับพันนับหมื่นล้าน นักวิชาการอย่างเสกสรรค์สนใจใคร่รู้สภาวะประชาธิปไตยกินได้แบบนี้บ้างหรือไม่?
เสกสรรค์พูดตอนหนึ่งว่า รัฐสภาเป็นพื้นที่เดียวที่เป็นทางเลือกของคนเล็กคนน้อยในการแสดงตัวตนและอาศัยการใช้ระบบตัวแทนที่ขานรับความต้องการของพวกเขา โดยละเลยที่จะกล่าวถึงความล้มเหลวและสถานะความเป็นรัฐสภาเชิงคณิตศาสตร์ที่ใช้เสียงข้างมากลากถูในการลงมติร่างกฎหมายตามอำเภอใจตามคำสั่งบงการของนาย ทุนเจ้าของพรรคการเมืองซึ่งไม่ต่างอะไรกับสภาทาสอย่างที่คนทั่วไปประณาม หรือนี่ก็คือสภาพปกติของรัฐสภาไทย ที่ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายและนับเป็นเรื่องรองที่ควรผ่านเลยไปเช่นเดียวกัน
วันถัดมา 14 ตุลาคม 2556 เสกสรรค์ไปปาฐกถาต่อที่ลานโพธิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สร้างให้เขาเป็นวีรชนคนเดือนตุลาคม ซึ่งเนื้อหาใจความก็ไม่แตกต่างไปจากเดิม คือความพยายามที่จะใช้ถ้อยคำเชิงวิชาการอรรถาธิบายยกย่องอย่างมีนัยแฝงเร้นว่า ฝ่ายทักษิณคือคนรุ่นใหม่และคนเสื้อแดงคือชนชั้นกลางใหม่ ที่ต่อสู้และพิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย ส่วนฟากฝ่ายที่ต่อต้านระบอบทักษิณคือฝ่ายอำนาจเก่า และเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นัยเป็นเช่นนี้ แม้เขาจะมิได้อ้างเอ่ยถึงทักษิณหรือคนเสื้อแดงอย่างตรงไปตรงมา
ผมไม่อยากด่วนสรุปเหมือนคอการเมืองหลายคน ที่ผลักให้เสกสรรค์เป็นฝ่ายเลือกข้างทักษิณและคนเสื้อแดงไปแล้ว เพียงแต่ผมไม่เข้าใจและอยากจะแลกเปลี่ยนว่า เสกสรรค์คิดและนิยามความเป็นประชาธิปไตยด้วยหลักตรรกะใด ความเป็นจริงของสภาพการเมืองไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้ สามารถเรียกได้ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ เป็นประชาธิปไตยที่จับต้องได้ หรือเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ อย่างที่ฝ่ายคนเสื้อแดงนิยามแล้ว กระนั้นหรือ?
และเหตุไฉน ปาฐกถารำลึก 40 ปี 14 ตุลาคม ในปีนี้ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล จึงกล้ายืนหยัดยืนยันประหนึ่งว่า การเมืองไทยในปัจจุบัน เป็นการขัดแย้งต่อสู้กันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยที่เป็น “ชนชั้นกลางรุ่นใหม่” กับฝ่ายอำนาจเก่าที่อนุรักษนิยมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยประกาศชัดเจนว่าพูดวันนี้เพราะอยากให้รู้ว่าเขายืนอยู่ข้างไหน
หรือว่า เสกสรรค์ จะนิยามความเป็นประชาธิปไตย เพียงรูปแบบแค่มีการจัดการเลือกตั้ง โดยไม่ใส่ใจบริบทอื่นๆ ที่เป็นเนื้อหาของประชาธิปไตยที่ถูกต้องและเป็นจริง ตามวิชาการทางรัฐศาสตร์ระดับดุษฎีบัณฑิตที่ร่ำเรียนมา
ใช่หรือไม่ว่า นายกรัฐมนตรีอย่างนายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีปัจจุบันที่อ่านโพยผิดๆ ถูกประจานประเทศไทยไปทั่วโลกอย่างนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นคือฉันทานุมัติของปวงชนชาวไทย หรือว่าเป็นฉันทานุมัติของนักโทษหนีคดีกันแน่?
และสโลแกนอย่าง “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ที่ถูกคนทั่วไปเสียดสีกระแนะกระแหนว่า “นักโทษคิด รัฐบาลไทยทำ” ก็ถือเป็นแนวทางและสิ่งสวยงามของระบอบประชาธิปไตยอย่างที่เสกสรรค์ยอมรับได้อย่างสนิทใจ กระนั้นหรือ?
และที่อยากตั้งคำถามกลับไปอีกก็คือ เสกสรรค์รู้สึกอย่างไรกับภาพการชุมนุมหน้าทำเนียบฯ เมื่อไม่กี่วันก่อนปาฐกถานี้ที่ผู้ชุมนุมไม่ถึงพันคน ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาประชุมประท้วงแบบสงบ อหิงสา ชัดเจน ถูกกองกำลังตำรวจนับหมื่นปิดล้อม กลั่นแกล้งทรมานไม่ให้มีข้าวมีน้ำกิน และไม่ให้มีแม้กระทั่งที่ขับถ่าย น่าเสียใจที่นักรัฐศาสตร์ นักต่อสู้ทางการเมืองอย่าง ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มองข้ามไม่แยแสที่จะกล่าวถึงในปาฐกถาฉบับเจตนารมณ์ประชาธิปไตยครั้งนี้ด้วยเลย
หรือเกรงจะสับสนเพราะถ้ายึดตามแนวทางปาฐกถาครั้งนี้ ฝ่ายกองทัพธรรมที่มาชุมนุม อาจถูกจำแนกเป็นฝ่ายอำนาจเก่า อนุรักษนิยมที่มาชุมนุมโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากฉันทานุมัติของปวงชนชาวไทย โดยวิธีการนอกระบบที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย
อย่ากระนั้นเลย เขียนๆ ไปผมเองก็ชักจะมึนงงและเริ่มสับสนปนเปไปเหมือนกัน
กล่าวโดยสรุป ในฐานะคนร่วมยุคสมัย 14 ตุลาคม 2516 ที่กินนอนในสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สองวันสองคืน และเดินตามรถนำขบวนของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล จากธรรมศาสตร์ ไปจนถึงวังสวนจิตรลดา และในฐานะคนที่เคยนิยมชมชอบตัวตนและแนวคิดงานเขียนหนังสือเชิงปรัชญาที่ลุ่มลึกของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล หลังจากฟังปาฐกถาในปีนี้ของเขาแล้ว ผมรู้สึกผิดหวังและเสียดายเหมือนหลุดเข้าไปใน “วิหารที่ว่างเปล่า” ทั้งรู้สึกอ้างว้างวังเวง และเหน็บหนาวจับใจ......
“เสกสรรค์ ฤา สร้างสรรค์”
เสกสรรค์ มาปั้นแต่ง
โทนสีแดง ดูชัดฉาย
ตุลามากลับกลาย
มาแก้เกี้ยวกะลาวน
เชิดหุ่นทุนรุ่นใหม่
ประชาธิปไตยอันสับสน
ฉันทาประชาชน
ที่ชูชุบประชานิยม
ทุจริตเชิงนโยบาย
จึงสืบสายอย่างเกลียวกลม
การเมืองการโสมม
ในเพาะบ่มทุนสามานย์
เลือกตั้งไม่ตั้งตรง
ข้อชี้บ่งแห่งหลักการ
ที่มาทุกรัฐบาล
ล้วนทุ่มทุนเพื่อถอนทุน
ประชาธิปไตยที่ไร้ธรรม
จึงก่อกรรมไม่ก่อบุญ
ฉ้อฉลกันชุลมุน
และโม่แป้งแข่งรางวัล
เพ่งมองทุกมุมมอง
แล้วจับต้องให้เท่าทัน
อย่าเลือกแค่เปลือกมัน
มาเอ่ยอ้างแค่มุมเดียว
เสกสรรค์ต้องสร้างสรรค์
ให้เทียมทันทุกฟันเกลียว
ฝันหลอนรูปค้อนเคียว
อย่าครอบคิดให้คลอนแคลน
ค้อนเคียวเกี่ยวทุนนิยม
จึงติดหล่มทุนทดแทน
อุดมการณ์อุดมแกน
ทุกกิ่งก้านจึงกลับกลาย
เสกสรรค์อย่าปั้นแต่ง
โทนสีแดงให้แพรวพราย
รากหญ้าล้วนงมงาย
ถูกสนตะพายเป็นทาสทุน
เสกสรรค์ต้องสร้างสรรค์
แบ่งชนชั้นด้วยบาปบุญ
เสกสรรค์ให้สมดุล
ด้วยรัฐศาสตร์ ชั้นดุษฎี!
ว.แหวนลงยา