ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ด้วยเหตุที่การปาฐกถางานรำลึก 14 ตุลาคม 2556 มีการช่วงชิงการเป็นเจ้าของงานระหว่างกลุ่มเดิมที่เคยจัดงานมาตลอดช่วง 30 ปี กับกลุ่มใหม่อันเป็นนักวิชาการเสื้อแดง ทั้งสองกลุ่มเชิญ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นองค์ปาฐก ด้วยความที่ประสงค์จะประนีประนอม เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จึงตอบรับทั้งสองงาน โดยในวันที่ 13 ตุลาคมไปปาฐกถาให้กับกลุ่มเสื้อแดงก่อน ต่อมาในวันที่ 14 ตุลาคมจึงไปปาฐกถาอีกครั้งให้แก่กลุ่มเดิมที่เคยจัดงานมาตลอด
ด้วยความที่องค์ประกอบของผู้ฟังต่างกัน โดยวันแรกเต็มไปด้วยผู้ฟังที่เป็นมวลชนเสื้อแดง เนื้อหาการปาฐกถาของเสกสรรค์ จึงมีแนวโน้มและนัยยกย่องขบวนการเสื้อแดงจนถึงขนาดระบุว่าให้เป็นผู้สืบสานเจตนารมณ์ของ 14 ตุลาคม อันได้แก่ การเป็นผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย สร้างเสรีภาพ เสมอภาค และความเป็นธรรม ในขณะเดียวกันก็ผลักดันให้กลุ่มที่ไม่ใช่เสื้อแดงกลายเป็นผู้สมาทานอำนาจนิยมไป ซึ่งประเด็นนี้ทำให้เนื้อหาการปาฐกถาของเสกสรรค์จึงเต็มไปด้วยข้อผิดพลาดทางทฤษฎี ขาดความสมเหตุสมผลในเชิงตรรกะ เกิดความขัดแย้งกันเองในการวิเคราะห์ และขาดหรือละเลยหลักฐานเชิงประจักษ์บางประการอย่างจงใจ
ส่วนในวันที่สองซึ่งผู้ฟังมิใช่กลุ่มเสื้อแดง เสกสรรค์ได้ลดโทนในการยกย่องขบวนการเสื้อแดงลงไป และหันไปเน้นเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมแทน โดยมองว่าความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นสาเหตุใหญ่ที่ ทำให้เกิดความแตกแยกและขัดแย้งในสังคม และพยายามที่จะชี้ชวนให้เข้าใจว่าการทุจริตคอรัปชั่นมีพลังเชิงสาเหตุน้อยมากในการสร้างความขัดแย้งทางสังคม การสรุปเช่นนี้ของเสกสรรค์จึงเป็นการสร้างความผิดพลาดซ้ำสอง เพราะแม้ว่าความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะมีส่วนสร้างความขัดแย้งทางสังคมจริง แต่ความเหลื่อมล้ำโดยตัวของมันเองเป็นเพียง “เงื่อนไขที่จำเป็นเชิงโครงสร้าง” ของความขัดแย้ง มิได้เป็นเงื่อนไขเพียงพอต่อการสร้างความขัดแย้ง
ตรงกันข้ามเงื่อนไขที่เพียงพออันจะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมต้องประกอบด้วยทั้งสามปัจจัยหลักที่มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดอันได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความเข้มข้นของการทุจริตคอรัปชั่น และการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรม ลำพังความเหลื่อมล้ำเพียงอย่างเดียวไม่มีพลังอย่างเพียงพอในการสร้างความขัดแย้งทางสังคม โดยเฉพาะหากชนชั้นปกครองสามารถสร้างวาทกรรมที่ทำให้ผู้คนในสังคมเกิดมายาคติยอมรับการเหลื่อมล้ำว่าเป็นเรื่องธรรมดา ก็อาจทำให้ผู้ที่เสียเปรียบในสังคมเกิดจิตสำนึกที่ผิดพลาดยอมรับสภาพที่เป็นอยู่โดยไม่ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ
การปาฐกถาวันแรก เสกสรรค์ยกย่องเชิดชูขบวนการเสื้อแดง เขาวิเคราะห์การเมืองด้วยแนวคิดชนชั้น โดยได้สร้างชนชั้นประเภทใหม่ขึ้นมาที่เรียกว่า “ชนชั้นกลางใหม่” เสกสรรค์อธิบายว่าชนชั้นกลางใหม่กับนายทุนใหม่เป็น “พันธมิตรทางชนชั้นอันเหลือเชื่อ” และเป็นกลุ่มที่จะสืบสานเจตนารมณ์พิทักษ์ประชาธิปไตย และการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางใหม่ต่างจังหวัดกดดันให้พรรคการเมืองเดินแนวทางมวลชนมากขึ้น
ชนชั้นกลางใหม่ที่เสกสรรค์นิยามคือใคร เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาในการปาฐกถาทั้งสองครั้งของเขา ซึ่งระบุว่า ชนชั้นกลางใหม่เป็นกลุ่มชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อพยพเข้าเมืองซึ่งได้แปรสภาพเป็นผู้ประกอบการรายย่อยผลิตเพื่อขายและเป็นผู้เล่นในระบบตลาดทุนนิยม เมื่อตีความจากคำเหล่านี้ ชนชั้นกลางใหม่ในชนบทของเสกสรรค์คงหมายถึงผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรนั่นแหละ ซึ่งก็เป็นชาวไร่ชาวนาเหมือนเดิมเพียงแต่เปลี่ยนคำเรียกเพื่อให้ดูดีขึ้น เพราะว่าคำศัพท์ที่ใช้เรียกชาวไร่ชาวนาแต่เดิมของพวกที่ใช้ทฤษฎีชนชั้นคือ “ชนชั้นล่าง”
นัยของชนชั้นกลางใหม่ นอกจากหมายถึง “ชนชั้นล่าง” แล้วยังหมายถึง “ขบวนการเสื้อแดง” อีกด้วย โดยวลี “ชนชั้นกลางใหม่” มาจากนักวิชาการเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งซึ่งผลิตวาทกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อทดแทนวลี “ชนชั้นล่าง” ที่สังคมใช้เมื่อพูดถึงกลุ่มคนเสื้อแดง นักวิชาการเสื้อแดงมักมีความกระอักกระอ่วนใจเสมอเมื่อผู้คนในสังคมมองว่ามวลชนที่พวกเขาสนับสนุนและเชิดชูเป็น “ชนชั้นล่าง” เพราะชนชั้นล่างในทางทฤษฎีประชาธิปไตยไม่ใช่กลุ่มหลักที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตย
โดยทั่วไปทฤษฎีชนชั้นแบบดั้งเดิมจำแนกชนชั้นล่างออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มกรรมกร และกลุ่มชาวนา นักทฤษฎีชนชั้นเชื่อว่าสองกลุ่มนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม กลุ่มกรรมกรได้รับเกียรติให้เป็นกองหน้าในการเปลี่ยนแปลงสังคมจาก “สังคมทุนนิยม”ไปสู่ “สังคมนิยม” จากนักทฤษฎีมาร์กซิสดั้งเดิม ส่วนกลุ่มชาวนาได้รับเกียรติให้เป็นพลังหลักในการเปลี่ยนแปลงสังคมจากนักทฤษฎีของ “ลัทธิเหมาอิส” รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยซึ่งรับอิทธิพลทางความคิดจากประเทศจีนด้วย
แต่แน่นอนว่าทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากนักทฤษฎีประชาธิปไตยว่า เป็นกลุ่มที่เป็นพลังในการสร้างประชาธิปไตย กลุ่มทางสังคมที่นักทฤษฎีประชาธิปไตยทั้งหลายมองว่าเป็นพลังหลักต่อการขับเคลื่อนประชาธิปไตยคือ “ชนชั้นกลาง”
ในช่วงแรกพวกนักวิชาการเสื้อแดงมีปัญหามากเพราะยังคิดไม่ตกว่า จะสร้างวาทกรรมในรูปแบบไหนดีที่จะช่วงชิงการเป็นกลุ่มที่พิทักษ์ประชาธิปไตย เพราะหากอ้างว่า ชนชั้นล่างเป็นผู้สร้างประชาธิปไตยก็จะไม่สมเหตุสมผลทางทฤษฎี ครั้นจะบอกว่าเป็นชนชั้นกลางก็พูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำเพราะว่าเนื้อแท้ของขบวนการเสื้อแดงมิใช่ชนชั้นกลาง ยิ่งกว่านั้นชนชั้นกลางในสังคมไทยดูเหมือนจะเป็นพลังหลักในการผู้โค่นล้มอำนาจทางการเมืองกลุ่มทุนสามานย์ซึ่งบรรดานักวิชาการเสื้อแดงยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย
เมื่อมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งผลิตวาทกรรม “ชนชั้นกลางใหม่” ขึ้นมา จึงทำให้ขบวนการเสื้อแดงได้วลีที่ดูเหมือนจะสอดคล้องกับทฤษฎีประชาธิปไตย เรียกได้ว่าเป็นผลิตวลีและวาทกรรมขึ้นมาเพื่อหาที่ยืนทางทฤษฎีโดยมิได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงทางสังคมแต่อย่างใด และเมื่อเสกสรรค์หยิบคำนี้มาใช้เพื่อเอาใจคนเสื้อแดง ก็ทำให้เขาตกอยู่ในกับดักของความผิดพลาดทางทฤษฎีนี้ไปด้วย นอกจากนี้นักวิชาการเสื้อแดงยังได้ผลิตคำว่า “ชนชั้นกลางเก่า” ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มที่ไม่ใช่เสื้อแดงและไม่เอาระบอบทักษิณ
เสกสรรค์มองว่าชนชั้นใหม่เป็นพันธมิตรทางชนชั้นอันเหลือเชื่อกับกลุ่มทุนใหม่ ซึ่งที่จริงแล้วไม่ได้เป็นพันธมิตรที่เหลือเชื่อแต่อย่างใด เพราะว่า ชนชั้นกลางใหม่หรือ ที่จริงแล้วคือชนชั้นล่างเดิมนั่นและ พร้อมที่จะแสวงหาผู้อุปถัมภ์ทางการเมืองที่สามารถให้ประโยชน์มากที่สุดและเป็นรูปธรรมต่อตนเองอยู่ตลอดเวลา เมื่อกลุ่มทุนใหม่เสนอนโยบายประชานิยมอันเป็นการหยิบยื่นผลประโยชน์ให้อย่างเห็นๆ ชนชั้นล่างเหล่านั้นก็รับข้อเสนอนั้นทันที
กลุ่มทุนใหม่หรือกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมคือกลุ่มทุนตระกูลชินวัตรกับพรรคพวกได้ใช้การแจกเงินและหยิบยื่นผลประโยชน์เฉพาะหน้าแก่ชนชั้นล่างอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ชนชั้นล่างละเลยไม่สนใจประเด็นการทุจริตและการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมของกลุ่มทุนเหล่านี้ มิหนำซ้ำยังสนับสนุนอย่างไม่ลืมหูลืมตา และเมื่อกลุ่มทุนถูกโค่นอำนาจลงไป กลุ่มชนชั้นล่างก็เกิดความเสียดายและรู้สึกสูญเสียผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของตนเองไป
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการเสื้อแดงกับนายทุนที่พวกเขาชื่นชมนั้น ผมเห็นว่ามิใช่เป็นความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็น “พันธมิตรทางชนชั้น” หากแต่เป็นความสัมพันธ์ในเชิง “อุปถัมภ์แบบใหม่” มากกว่า เพราะหากสัมพันธ์กันในเชิงพันธมิตรจริงจะต้องเป็นความสัมพันธ์อย่างเท่าเทียมกัน แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เสกสรรค์มองข้ามคือ แท้จริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างคนเสื้อแดงกับกลุ่มทุนใหม่ เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ในลักษณะเจ้านายกับลูกน้อง หรือ นายกับขี้ข้า มากกว่า
ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 เสกสรร ประเสริฐกุลมองว่า “คนชั้นกลางที่เริ่มมีการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องการเป็นสัตว์เลี้ยงในคอกของผู้ปกครองอีกต่อไป หากอยากมีสิทธิเลือกรัฐบาลที่ตัวเองพอใจ และมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง” แต่ทว่าในปัจจุบัน ชนชั้นกลางใหม่ (ในนิยามของเสกสรรค์) กลับกระทำตนเป็นสัตว์เลี้ยงที่แสนเชื่องของชนชั้นนายทุนใหม่ พวกเขาหลงลืมจิตสำนึกทางชนชั้นของตนเอง โดยยอมลดตนเป็นบันใดให้นายทุนปีนป่ายขึ้นสู่อำนาจ สนับสนุนการรักษาอำนาจของกลุ่มทุน และใช้ซากศพของเพื่อนร่วมชนชั้นแสวงหาประโยชน์อย่างขาดความละอาย
ขบวนการเสื้อแดงและกลุ่มทุนใหม่จึงไม่ใช่พลังของฝ่ายประชาธิปไตย หากแต่เป็นพลังปฏิกิริยาซ่อนเร้นแอบแฝงที่จะบ่อนทำลายประชาธิปไตยอย่างถึงรากถึงโค่น ขบวนการเสื้อแดงเป็นเพียงเครื่องมือและเครื่องจักรทางการเมืองที่กลุ่มทุนสามานย์ใช้เพื่อครองอำนาจทางการเมืองไทยเท่านั้น แต่ที่น่าเศร้าใจคือยังมีผู้คนจำนวนมากเข้าใจผิดคิดว่าขบวนการนี้เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งเสกสรร ประเสริฐกุลด้วย