ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เชื่อว่าในช่วงนี้หลายคนคงคุ้นหูกับประโยคเด็ด “วันนี้เสม็ดเริ่มดีขึ้นแล้ว” มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะงานนี้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง “ปตท.” ได้ทุ่มงบประมาณปูพรมยิงโฆษณาชุด “Better Samed:เราไปเที่ยวเสม็ดกันเถอะ” ผ่านสื่อต่างๆ อย่างแพร่หลายเพื่อสร้างภาพว่า หลังเกิดวิกฤติน้ำมันรั่ว ปตท.ทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกาะเสม็ดกลับคืนมาเหมือนเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ เนื้อหาหลักๆ ของโฆษณาชุดนี้บอกไว้ว่า 2 เดือนหลังจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว เกาะเสม็ดเริ่มดีขึ้นแล้ว น้ำใสเหมือนเดิม อาหารทะเลกินได้ เหลือแต่ความเชื่อมั่นของคนไทยที่ยังไม่เหมือนเดิม
ที่เด็ดไปกว่านั้นก็คือ ในโฆษณาดังกล่าวบอกไว้ว่า กลุ่ม ปตท. ยังคงดูและธรรมชาติและผู้คนอย่างต่อเนื่อง หลังจากเกิดเหตุน้ำมันรั่ว
ทว่า ความจริงในพื้นที่มิได้เป็นไปตามที่ กลุ่ม ปตท.โฆษณาชวนเชื่อแต่อย่างใด
"จตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์" นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า สภาพเหตุการณ์จริงที่ระยองยังไม่ปกติเหมือนในโฆษณา เพราะความจริงยังตรงกันข้าม โดยเฉพาะชาวประมงเรือเล็กเดือดร้อนกันถ้วนหน้า สัตว์น้ำที่จับได้ในแต่ละ ครั้งน้อยลงอย่างมาก หรือใครที่บอกว่าชายหาดขาวใสเหมือนเดิมแล้ว แต่ถ้าลองขุดทรายลงไปดูก็จะยังเห็นคราบน้ำมัน เหลืออยู่ ตอนนี้ไม่มีใครเชื่อ ปตท. แล้ว ที่บอกว่าเสม็ดไม่มีปัญหาอะไร ชาวประมงเชื่อในสิ่งที่เห็นจริงๆ มากกว่า
นอกจากนี้ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านฯ ในฐานะตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายยังบอกอีกว่า หลังจากผ่านมา 2 เดือน ผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดก็ยังคงเดือดร้อน บางคนยังไม่ได้ค่าชดเชยอะไร ส่วนคนที่ได้ก็ได้รายละไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งที่เกิดผลกระทบในวงกว้างทั้งบนเกาะ หาดแม่รำพึง หาดบ้านเพ หาดแม่พิมพ์ ไปจนตลอดแนวชายฝั่ง อยากให้ผู้ก่อมลพิษยอมรับกับปัญหาที่ยังคงมีอยู่และมาพูดคุยกันเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา
“อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่การโฆษณาชวนเชื่อ ต้องมีการตรวจสอบผลกระทบ ถ้ายังไม่แน่ใจอย่าเพิ่งให้นักท่องเที่ยวมา เพราะหากนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่นี่แล้วกินอาหารที่มีการปนเปื้อน หรือกลับไปแล้วป่วยเป็นโรคมะเร็ง ใครจะรับผิดชอบ พวกเราเป็นชาวประมงได้รับผลกระทบและเจ็บปวดที่หาปลาไม่ได้ แต่เราก็ไม่สบายใจถ้าปลาที่เราหาได้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เราถึงเรียกร้องให้มีการค้นหาความจริง”
“ วันนี้เรายังไม่รู้เลยว่าผลกระทบจริงๆ แล้วเป็นยังไง แต่มีความพยายามหาอาหารไปให้นักท่องเที่ยวกิน จริงๆ แล้ว ภายใน 1 เดือน 2 เดือน สารเคมีหมดแล้วหรือ ดังนั้น เราอยากให้หน่วยงานของรัฐและปตท. ที่รัฐบาลก็มีหุ้นอยู่กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มองเห็นว่าคุณทำสิ่งแวดล้อมเสียไปหมดแล้วควรจะใส่ใจกับสังคมบ้าง ถ้าวันนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน การที่ชาวบ้านออกมาฟ้องร้องมันก็หมายความว่าคุณไม่สนใจไม่ใส่ใจชาวบ้านเลยต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น”จตุรัสให้ข้อมูล
ขณะที่ผลกระทบทางด้านการท่องเที่ยวก็ต้องบอกว่า หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน
ญาตา สบายเรื่อย ผู้ประกอบการที่พักบ้านระฆัง (เบลล์เฮาส์ รีสอร์ท) บนอ่าววงเดือน กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกรณีน้ำมันรั่วไหลบริเวณอ่าวพร้าว ว่า ภายหลังจากมีเหตุการณ์น้ำมันรั่วเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ลูกค้าที่เข้ามาพักที่รีสอร์ทก็มีน้อยลง โดยเทียบเคียงตัวเลขผู้เข้าพักในเดือนเดียวกันเมื่อปี 2555 ก็พบว่ามีจำนวนลดลงมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของทางรีสอร์ท และผู้ประกอบการที่พักบนเกาะเสม็ดก็ได้รับผลกระทบแบบนี้เหมือนกันทุกแห่ง
“เรื่องการชดเชย ปตท. เขาก็มีการชดเชยเป็นเงินก้อนให้สำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งแต่ละรายจะได้เงินไม่เท่ากัน เพราะว่าต้องคำนวณรายได้จากห้องพักที่คาดว่าจะได้รับในแต่ละเดือน แต่ละรีสอร์ทก็จะทำตัวเลขสรุปผลไปให้คณะกรรมการที่ ปตท. ตั้งขึ้นมา จากนั้นทาง ปตท. จะคิดยอดรายได้เพียงร้อยละ 80 จากที่เราส่งไป เพราะสถิติของ ททท. บอกว่าที่พักบนเกาะจะมีคนเข้าพักแค่ประมาณร้อยละ 80 ไม่ได้เข้าพักครบเต็มจำนวนห้อง ส่วนจำนวนเงินจริงที่รีสอร์ทจะได้ชดเชยมาคือร้อยละ 30 ของรายได้เท่านั้น ซึ่งก็เป็นเงินที่ช่วยเหลือเราได้ส่วนหนึ่ง”
แต่สำหรับเงินชดเชยก้อนนี้ ญาตา กล่าวเสริมว่า ทาง ปตท. ได้จ่ายเงินชดเชยมาให้แล้ว แต่เป็นเงินชดเชยสำหรับเดือนสิงหาคมเท่านั้น ซึ่งทางกลุ่มผู้ประกอบการบนเกาะเสม็ดคิดว่ายังไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะแม้เหตุการณ์จะเกิดในช่วงเดือนสิงหาคม แต่ในเดือนกันยายน-ตุลาคม เหตุการณ์ก็ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวแม้จะมีเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ก็ยังน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทางผู้ประกอบการต่างๆ จึงรวมตัวกันจัดตั้งเป็นคณะกรรมการติดตามเรื่องนี้ โดยมีการลงชื่อผู้ประกอบการกว่า 1,000 ราย ทำหนังสือเพื่ออุทธรณ์ขอเพิ่มเงินชดเชยอีก 2 เดือน ซึ่งจะรวมตัวกันไปยื่นหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ผู้ว่าฯ ก็จะต้องส่งต่อไปยังคณะกรรมการเยียวยาของ ปตท. ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
“เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง” ตัวแทนกลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว ซึ่งลงพื้นที่ จ.ระยอง ก็ยืนยันด้วยชุดข้อมูลเดียวกันว่า วิกฤตน้ำมันรั่ว 2 เดือนผ่านไป การฟื้นฟูเสม็ดยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับการโฆษณาของ ปตท. ที่กำลังมีการ|โหมอย่างหนักขณะนี้ว่าเสม็ดดีขึ้นแล้ว เพราะทุกวันนี้ประชาชนในพื้นที่ อาทิ ชายฝั่งระยองยังคงร้องเรียนอย่างต่อเนื่องว่าผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ยังคงดำรงอยู่โดยเฉพาะการประมง ท่องเที่ยว รวมถึงระบบนิเวศ อีกทั้งการเยียวยาความเสียหายที่ยังไม่ครอบคลุมและเป็นธรรม
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการอิสระระดับชาติขึ้นมาตรวจสอบ และมีอำนาจในการเรียกข้อมูลทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อดูผลกระทบและความเสียหายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีการจัดประชุมหารือระหว่างคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนกับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการและตัวแทนภาครัฐ เรื่องการหาแนวทางตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีน้ำมันดิบรั่วไหล ในทะเล จ.ระยองและการเยียวยาผล กระทบอย่างเป็นธรรมแก่คนในพื้นที่ โดยการหารือดังกล่าว สมลักษณ์ หุตานุวัตร อนุกรรมการส่งเสริมและประสานเครือข่าย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และมีหน้าที่ในการศึกษาผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ ควรมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ผลกระทบตามสถานการณ์จริง
“การตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รัฐต้องกระทำอย่างชัดเจนกว่านี้ การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หากกำหนดพื้นที่ไว้แคบตามที่เอกชนชี้นำ ผลวิจัยที่ได้มาก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะหากไปเก็บตัวอย่างที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตรวจสอบ ก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง การที่เต่าตนุเสียชีวิต 3 ตัวในเวลา 3 สัปดาห์ ปลาโลมา เสียชีวิตอีก 3 ตัว ในเวลา 3 สัปดาห์ เกิดมาจากสาเหตุใด การวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ต้องสามารถเก็บตัวอย่างได้อย่างแท้จริง รัฐต้องสังเกตข้อมูลที่เป็นปรากฏการณ์เหล่านี้ และการเก็บข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐต้องเป็นจริง เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแก่ทุกอาชีพที่เกี่ยวข้องทั้งประมง และการค้าชายหาดอื่นๆ ที่เป็นห่วงโซ่อาชีพซึ่งเป็นผู้เสียหาย”
นางสมลักษณ์ ยังได้เรียกร้องถึงสิทธิความปลอดภัยด้านอาหาร เพราะปัจจุบันมีความพยายามโฆษณาให้รับประทานอาหารทะเลที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์พิษ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไร้สิทธิมนุษยธรรม
ขณะที่ รศ.ดร.เรณู เวชรัตน์พิมล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า กรมประมงควรส่งเจ้าหน้าที่ไปบันทึกว่า ได้หอย ปู ปลา กุ้งมาเท่าไหร่ เพราะมันจะเป็นข้อพิสูจน์ มาเทียบกับที่ชาวประมงพูดว่าจับสองที่ไม่ได้ เพราะอะไร มีมลพิษ หรือไม่มีอาหารให้สัตว์ทะเลกิน ต้องสำรวจแพลงตอน สัตว์น้ำวันอ่อน เพื่อบ่งชี้ว่า ไม่มีเพราะอะไร เพราะน้ำมันดิบหรือเปล่า
“เพราะน้ำมันดิบรั่วไม่ใช่แค่ที่เสม็ด ดิฉันลงพื้นที่ไปหาดแม่รำพึงก็ยังมี น้ำมันอยู่ มันกระทบไปที่อื่นด้วย จึงขอให้กรมประมง ตรวจสอบ และเก็บบันทึกสถิติ เหล่านี้อย่างละเอียด เพื่อ ช่วยแก้ปัญหาของชาวประมง เมื่อเขาไปร้องเรียน เอกสารจากราชการจะช่วยเขาได้”
รศ.ดร. เรณู ระบุด้วยว่าตามหลักกฎหมาย เหตุการณ์นี้หน่วยงานของรัฐต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับผู้ก่อเหตุ แล้วผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบของชาวประมง ทั้งยกตัวอย่างกรณีที่มอนทารา ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียเขาพิสูจน์ข้อเท็จจริงและเรียกร้องให้มีการชดใช้ค่าเสียหายได้
“แต่รัฐไทยอ่อนแอ แค่ปัญหาที่วันนี้คนขุดหอยเสียบเขาเคยขุดได้เท่าไหร่ วันนี้ได้เท่าไหร่ ทำไมกรมประมงไม่ไปบันทึกสถิติ กลัวอะไรอยู่ ส่วนเส้นทางการนำเข้าน้ำมันดิบเวลาขนน้ำมันเข้าเขาก็ต้องรายงานกรมศุลกากรและกรมศุลกากรก็มีหน้าที่เก็บตัวอย่างไว้ด้วย"
รศ.ดร.เรณูเสนอด้วยว่าเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ควร นำไปสู่การสั่งให้ ปตท. ระงับการดำเนินกิจการทางทะเล
“ตอนนี้ ดิฉันกังวลกับท่อน้ำมันที่เป็นเครือข่ายโยงใยในอันดามันเยอะมาก ในอันดามันมีแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาอยู่ 300 กว่าแท่น แต่ที่สำคัญคือ ทำไม EIA โครงการนี้ของ ปตท. ยังไม่เปิดเผย นั่นเป็นเพราะ EIA ไม่ผ่านใช่ไหม ดังนั้น ต้องยกระดับให้เป็น EHIA และจริงๆ แล้ว ตราบใดที่ EHIA ยังไม่แล้วเสร็จก็ควรต้องระงับการดำเนินการของเขาไว้ก่อน เพราะตอนนี้แม้จะเกิดน้ำมันดิบรั่วขึ้นที่ระยอง แต่เราควรต้องใช้มาตรการนี้กับ ที่อันดามันด้วย ถ้าโครงข่ายท่อน้ำมันของ ปตท. แตกอีกก็อันตรายมาก ส่วนการขนถ่ายในครั้งนี้ที่อ้างว่าคลื่นลมแรงก็ไม่น่าเชื่อถือเพราะถ้าคลื่นลมแรงแล้วจะทำการขนถ่ายทำไม กรมเจ้าท่าก็ยืนยันว่าวันนั้นคลื่นลมไม่แรง” รศ.ดร. เรณูระบุ
และทั้งหมดนั้นคือภาพความจริงที่เกิดขึ้นกับเกาะเสม็ดและท้องทะเลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันของ ปตท.รั่วไหล ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่ ปตท.พยายามสร้างภาพ ขณะที่รัฐบาลเองก็มิได้เคยสนใจที่จะเข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อเอาผิดกับ ปตท.